Knowledge

บันไดขั้นแรกของทักษะการคิดขั้นสูง เริ่มต้นที่การเสริมสร้างทักษะด้านอารมณ์และสังคม (SEL)

บันไดขั้นแรกของทักษะการคิดขั้นสูง เริ่มต้นที่การเสริมสร้างทักษะด้านอารมณ์และสังคม (SEL)

 3 years ago 3457

เรียบเรียงโดย จิราเจต วิเศษดอนหวาย

          ความพร้อมในการมีส่วนร่วมและเรียนรู้ที่จะทำงานกับบุคคลอื่น ถือเป็นทักษะสำคัญของกระบวนการเรียนรู้ การส่งเสริมทักษะด้านอารมณ์และสังคม (SEL) จะช่วยให้ผู้เรียนเข้าใจอารมณ์ของตนเองและผู้อื่นได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งครูมีส่วนช่วยให้นักเรียนรู้ศักยภาพของตนเอง บทความนี้จะนำตัวอย่างแนวปฏิบัติและผลลัพธ์จากหลักสูตรประเทศฟินแลนด์เกี่ยวกับตัวชี้วัดทักษะการเคารพตนเองและทักษะด้านอารมณ์ ว่าช่วยส่งเสริมทักษะการคิดขั้นสูง (Higher Order Thinking Skills) ให้แก่นักเรียนได้อย่างไร

          ห้องเรียนในประเทศฟินแลนด์จะส่งเสริมให้นักเรียนสังเกตและบอกเล่าอารมณ์ของตนเอง (Naming Emotions) เพื่อฝึกแยกแยะอารมณ์ ความคิด และเป้าหมายของตนเองออกจากกัน ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อนักเรียนหากต้องการขอความช่วยเหลือหรือขอความร่วมมือจากเพื่อนร่วมชั้นเรียนและคุณครู เมื่อเขาได้พบเจออุปสรรคบางอย่างและเข้าใจว่าตัวเองกำลังรู้สึกอย่างไร ต้องการให้ช่วยอะไร ซึ่งครูก็จะสามารถให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาทักษะทางการเรียนรู้แก่นักเรียนได้ตรงจุดมากขึ้น

          ลองจินตนาการหากนักเรียนไม่สามารถแยกแยะอารมณ์ ความรู้สึก ไม่มีความเชื่อมั่นในตนเอง การพัฒนาตนเองก็จะเป็นไปได้ช้าและขาดความต่อเนื่อง ซึ่งความสามารถในการรู้เท่าทันและสังเกตอารมณ์ของตัวเองจะช่วยให้นักเรียนสามารถพัฒนาทักษะการคิดและสมรรถนะด้านอื่นได้ดีตามไปด้วย เพราะสามารถวิเคราะห์จุดแข็งและคุณค่าของตนเอง พร้อมกำหนดเป้าหมายและมุ่งมั่นไปสู่จุดนั้นได้ เช่น การทำงานกลุ่มของนักเรียนย่อมมีอารมณ์และความรู้สึกเกิดขึ้น เช่น น้อยใจ ขี้เกียจ หรือโมโห หากนักเรียนสามารถแยกแยะอารมณ์ ความต้องการ และเป้าหมายได้แล้วสื่อสารกับเพื่อนโดยมีครูคอยให้คำแนะนำก็จะทำให้สถานการณ์ที่ตึงเครียดคลี่คลายลง ในบางครั้งครูจะสังเกตเห็นว่าแม้นักเรียนที่มีความรู้และทักษะในรายวิชา แต่อาจไม่ประสบความสำเร็จในการร่วมกิจกรรมการเรียนการสอนในห้องเรียน เพราะเกิดจากสภาวะอารมณ์ที่ตึงเครียดและบรรยากาศที่ไม่เป็นมิตรยังไม่ถูกคลี่คลายนั่นเอง

          การจัดการอุปสรรคทางอารมณ์และสังคมที่เกิดขึ้นในห้องเรียนในประเทศฟินแลนด์ตามแนวทางที่ได้กล่าวมา เป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือของหลายภาคส่วน คุณครูสามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการส่งเสริมทักษะด้านอารมณ์และสังคมทั้งในระดับเทคนิคการสอนและการออกแบบหลักสูตรได้ที่เว็บไซต์ https://casel.org/ ซึ่งเป็นเครือข่ายระดับโลกที่ร่วมกับขับเคลื่อนการส่งเสริมทักษะด้านอารมณ์และสังคมในห้องเรียน

แหล่งอ้างอิง
กิร์สติ โลนกา. 2563. Phenomenal Learning: นวัตกรรมการเรียนรู้แห่งอนาคตแบบฟินแลนด์.กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์บุ๊คสเคป

Michelle Lee. (January 13, 2019). The relationships between higher order thinking skills, cognitive density, and social presence in online learning. Retrieved July 29, 2021 from https://www.researchgate.net/publication/259521148_The_relationships_between_higher_order_thinking_skills_cognitive_density_and_social_presence_in_online_learning

Karen Niemi. (April 12, 2021). Social-emotional learning is essential to 'build back better. Retrieved July 29, 2021 from https://www.k12dive.com/news/social-emotional-learning-is-essential-to-build-back-better/598185/


TAG: #ทักษะทางด้านอารมณ์และสังคม #Social Emotional Learning #ทักษะการคิดขั้นสูง #การเรียนรู้ทางอารมณ์และสังคม #ทักษะศตวรรษที่21 #SEL #Naming Emotional #ห้องเรียนในศตวรรษที่21