Knowledge
พัฒนา EQ ในชั้นเรียน เสริมสร้างความฉลาดทางอารมณ์ เพื่อการใช้ชีวิตที่มีความสุขของเด็ก ๆ
3 years ago 7737เรียบเรียงโดย สุรศักดิ์ แซ่ลิ้ม
ความฉลาดทางอารมณ์ (Emotional Quotient) หมายถึง ความสามารถในการรับรู้อารมณ์ และการบริหารจัดการอารมณ์อย่างเหมาะสม เพื่อให้ดำรงชีวิตได้อย่างมีความสุข ความฉลาดทางอารมณ์ถือว่าเป็นทักษะหนึ่งที่มนุษย์ทุกคนควรมี และควรได้รับการพัฒนาอย่างสม่ำเสมอ เนื่องด้วยการทำงานหรือการใช้ชีวิตของมนุษย์จำเป็นต้องติดต่อสื่อสารกันอยู่เสมอ ทักษะจำเป็นต่อการใช้ชีวิตในปัจจุบันจึงมิได้มีเพียงทักษะทางด้านเชาวน์ปัญญา (IQ) หรือความสามารถทางวิชาการอย่างเดียว ความฉลาดทางอารมณ์ (EQ) ก็จำเป็นอย่างยิ่งด้วย เพื่อให้ทุกคนรู้จักสร้างสัมพันธภาพที่ดีกับคนรอบข้าง ส่งเสริมการดูแลสุขภาพจิตของตนเองให้ดีขึ้นได้ โรงเรียนจึงเป็นแหล่งพัฒนาทักษะทั้งสองที่สำคัญที่สุด โดยมีครูเป็น “ผู้พัฒนาทักษะ” ให้แก่นักเรียน เพื่อให้พวกเขามีความพร้อมทั้งด้านเชาวน์ปัญญาและด้านอารมณ์-สังคม เติบโตไปเป็นพลเมืองที่ใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข
การสอนความฉลาดทางอารมณ์เบื้องต้นในห้องเรียน มักนำมาปรับใช้กับเด็กเล็ก เพื่อให้นักเรียนได้ทำความเข้าใจเกี่ยวกับความหลากหลายทางอารมณ์ สามารถแยกแยะได้คร่าว ๆ ว่าอารมณ์แบบไหนเป็นอย่างไร อารมณ์แบบไหนดี แบบไหนไม่ดี รวมถึงสร้างความเข้าใจเกี่ยวลักษณะการแสดงออกในแต่ละอารมณ์ แล้วจึงให้นักเรียนฝึกฝนการจัดการทางอารมณ์ โดยการสร้างสถานการณ์จำลองขึ้นมา เพื่อให้นักเรียนเลือกแสดงอารมณ์ที่ถูกต้องและเหมาะสมกับสถานการณ์นั้น ๆ หรือกระตุ้นให้นักเรียนแสดงความคิดเห็นว่า หากต้องเผชิญกับอารมณ์ลักษณะต่าง ๆ นักเรียนมีวิธีจัดการอย่างไร ถือเป็นการฝึกแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปในตัวด้วย
การเรียนรู้เรื่องความฉลาดทางอารมณ์ในระดับต่อมา คือให้นักเรียนเข้าอกเข้าใจความรู้สึกของผู้อื่น (empathy) และเข้าถึงความรู้สึกของผู้อื่นที่กำลังเผชิญสถานการณ์ต่าง ๆ ผ่านอารมณ์ที่แสดงออกมา เช่น นักเรียนรู้สึกยินดีเมื่อผู้อื่นประสบความสำเร็จ นักเรียนอยากปลอบประโลมเมื่อผู้อื่นมีอารมณ์เศร้า เป็นต้น ทั้งนี้ ครูอาจยกตัวอย่างสถานการณ์ขึ้นมา หรือแสดงบทบาทสมมติ เพื่อให้เห็นภาพชัดยิ่งขึ้น ซึ่งการสอนให้นักเรียนเข้าใจความรู้สึกผู้อื่นจะทำให้นักเรียนเกิดจิตสำนึก “รู้จักนำใจเขามาใส่ใจเรา” นอกจากนี้ ครูอาจเพิ่มเติมการสอนด้านอื่น ๆ ร่วมด้วย เพื่อให้นักเรียนได้พัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ได้อย่างรอบด้าน เช่น การสอนให้นักเรียนมีความยืดหยุ่นทางอารมณ์ เพื่อให้นักเรียนสามารถปรับอารมณ์ให้เข้ากับสถานการณ์ และช่วยให้ลดความขัดแย้งด้วยการช่วยกันหาทางออก การสอนให้นักเรียนพบเจอความล้มเหลว เพื่อให้นักเรียนมีชุดความคิด หรือ mindset ที่ดีต่อความล้มเหลว มองว่าความล้มเหลวคือเรื่องปกติ และอาจเป็นทั้งแรงผลักดันให้เราพัฒนาตัวเอง หรือช่วยให้เราค้นพบตัวเองได้ง่ายขึ้น เป็นต้น
การส่งเสริมและพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ ไม่ได้จำกัดแค่เพียงระดับเด็กเล็กเท่านั้น เด็กโตระดับมัธยมศึกษาก็สามารถเรียนรู้ต่อเนื่องได้ โดยครูต้องนำจิตวิทยาการศึกษามาสอดแทรกในคาบเรียนต่าง ๆ ผ่านกระบวนการเรียนการสอน เช่น การให้นักเรียนแสดงความคิดเห็นหรือเหตุผลของตนเองได้อย่างมีอิสระ การให้เกียรติและเคารพในความคิดเห็นของนักเรียน หรือการใช้เหตุผลในการพูดคุยกันในห้องเรียน สร้างบรรยากาศแห่งการเรียนรู้ด้วยการอภิปรายประเด็นใดประเด็นหนึ่งร่วมกันในชั้นเรียน และเปิดโอกาสให้นักเรียนแสดงความคิดเห็นของตัวเองได้อย่างเต็มที่ ไม่มีผิดถูก อีกทั้งครูจะต้องไม่ลงโทษเด็กอย่างรุนแรงทั้งทางร่างกาย คำพูด และจิตใจ เพราะจะทำให้นักเรียนมีทัศนคติที่ไม่ดีต่อการเรียน และบั่นทอนสุขภาพจิตของนักเรียนด้วย
สุดท้ายนี้ ผู้เขียนขอฝากคำพูดของ ดร.แดเนียล โกลแมน ผู้เชี่ยวชาญด้านความฉลาดทางอารมณ์ (Emotional Intelligence) ซึ่งกล่าวไว้ว่า “ในบรรดาผู้มีความสามารถทางวิชาการสูง ทักษะการใช้ชีวิต เช่น การมีวินัย การมีแรงจูงใจ และการเข้าใจอารมณ์ของผู้อื่น จะเป็นตัวบ่งบอกว่าผู้ใดคือผู้โดดเด่น” โดยอาจตีความเพิ่มเติมได้ว่า ผู้ที่จะประสบความสำเร็จได้ ต้องมีทั้งความฉลาดทางเชาวน์ปัญญาและความฉลาดทางอารมณ์ และหัวใจสำคัญในการพัฒนาทักษะทั้งสองในวัยเรียน นั่นคือ การบ่มเพาะและเอาใจใส่จากครูนั่นเอง
แหล่งอ้างอิง
Emotional intelligence: How to improve EI in the classroom. , จาก https://meteoreducation.com/emotional-intelligence-2/ [สืบค้นเมื่อ 18 มิถุนายน 2564]
EQ กับความสำเร็จในชีวิต , จาก http://www.natres.psu.ac.th/Journal/EQ_Successfull/ [สืบค้นเมื่อ 18 มิถุนายน 2564]
แนวทางการพัฒนา EQ ในเด็กวัยต่างๆ , จาก http://www.mamaexpert.com/posts/content-691 [สืบค้นเมื่อ 18 มิถุนายน 2564]