Knowledge
การลดการใช้พลาสติกในโรงเรียน – สร้างนโยบายสู่การปฏิบัติที่เป็นไปได้จริง
2 years ago 20537เอกปวีร์ สีฟ้า
จากสถิติงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Science Advances เมื่อเดือนตุลาคม ปี 2563 พบว่า ประเทศไทยมีการสร้างขยะพลาสติกต่อประชากรสูงเป็นอันดับที่ 5 ของโลก โดยมีปริมาณขยะพลาสติก 4,796,494 ตัน/ปี (หรือราว 69.54 กิโลกรัม/ปี/คน) และมีสัดส่วนขยะพลาสติกในขยะทั่วไปมากเป็นอันดับที่ 3 ของโลก โดยปริมาณพลาสติกในประเทศไทย แบ่งเป็นประเภทถุงพลาสติก 1.11 ล้านตัน ขวดพลาสติก 0.40 ล้านตัน แก้ว กล่อง และถาดพลาสติก 0.23 ล้านตัน ตามลำดับ ตัวเลขเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าในอนาคตจะมีผลกระทบที่เกิดจากขยะพลาสติกเหล่านั้นรอคอยอยู่อีกมากมาย
ผลกระทบที่เกิดจากขยะพลาสติกมีอะไรบ้าง
พลาสติกทั่วไปจะใช้เวลาในการย่อยสลายกว่า 450 ปี ซึ่งถือเป็นระยะเวลาที่นานมาก และพลาสติกที่กำลังย่อยสลายจะสามารถปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ทำลายชั้นบรรยากาศโลก ซึ่งจะมีผลกระทบโดยตรงต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) ระดับน้ำทะเลและอุณหภูมิโลกที่เพิ่มสูงขึ้น ระบบนิเวศบนบกและในมหาสมุทรที่เปลี่ยนแปลงไป การเกิดพายุ น้ำท่วม ภัยแล้งที่ผิดปกติ รวมถึงการกัดเซาะชายฝั่งที่จะรุนแรงกว่าเดิม
ถ้าพลาสติกมีการปนเปื้อนเข้าสู่สิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นบนบกหรือแหล่งน้ำแล้ว จะส่งผลต่อสัตว์ที่กินพลาสติกเข้าไป ยกตัวอย่าง ช้างในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ที่มีรายงานและภาพถ่ายระบุว่า อุจจาระของช้างตัวนี้มีถุงพลาสติกและถุงขนมปนอยู่ด้วย หรือพะยูนมาเรียมที่ตายเพราะกินขยะพลาสติกเข้าไปเป็นจำนวนมาก และเมื่อเวลาผ่านไปนานเข้า พลาสติกก็จะแตกตัวออกมาเป็นพลาสติกขนาดเล็กหรือไมโครพลาสติกซึ่งจะกลายเป็นอาหารของสัตว์ในห่วงโซ่อาหาร ซึ่งพวกเราก็ได้รับผลกระทบจากการบริโภคสัตว์ทะเลที่กินแพลงก์ตอนเหล่านี้เป็นอาหารด้วย ดังที่เริ่มมีข่าวว่านักวิจัยพบไมโครพลาสติกตามแหล่งน้ำ สัตว์น้ำ และรวมไปถึงเลือดของมนุษย์
แนวทางลดการใช้พลาสติกในโรงเรียน
โรงเรียนเป็นสถานที่ที่เด็ก ๆ ใช้เวลาอยู่มากกว่าบ้าน เป็นพื้นที่ที่เด็ก ๆ สามารถเรียนรู้ไปพร้อมกับเพื่อน ๆ และครูได้ การเลือกจัดกิจกรรม เพื่อปลูกฝังแนวคิดในการลดการใช้พลาสติกในโรงเรียนจึงเป็นสิ่งน่าสนใจ และให้ผลที่ยั่งยืนกว่า แล้วครูสามารถใช้วิธีการใดได้บ้าง
1. ให้ความรู้กับนักเรียน
ครูสามารถให้ความรู้กับนักเรียนเกี่ยวกับผลกระทบของขยะพลาสติกผ่านกิจกรรมการเรียนรู้ และสามารถจัดบรรยากาศรอบ ๆ ให้ทุกคนในโรงเรียนรับรู้ถึงปัญหานี้ โดยอาจทำผ่านการพูดในที่ประชุม ติดโปสเตอร์รอบโรงเรียน ประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางโซเชียลมิเดีย หรือแม้แต่เปิดภาพยนตร์สารคดีที่เผยให้เห็นผลกระทบของขยะพลาสติก เช่น The Story of Plastic, A Plastic Oceans ให้นักเรียนดู
2. จัดกิจกรรมวันขยะเป็นศูนย์
กิจกรรมนี้จะช่วยสร้างความท้าทายและสนุกสนานในการกระตุ้นให้นักเรียนลดใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งได้ ซึ่งกิจกรรมนี้อาจทำในโรงเรียนหรือช่วงวันหยุดก็ได้เช่นกัน โดยให้นักเรียนจดบันทึกและถ่ายรูปขยะที่เกิดขึ้นจากตัวเองใน 1 วัน เมื่อหมดวัน ให้นักเรียนแต่ละคนสรุปจำนวนขยะลงในกลุ่มไลน์ของชั้นเรียน ใครสร้างขยะได้น้อยที่สุดจะได้รับรางวัล ของวันนั้นไป หลังจากจบกิจกรรมครูอาจจะให้นักเรียนได้ฝึกสะท้อนคิดว่ารู้สึกอย่างไรที่สามารถช่วยลดขยะที่จะเกิดขึ้นได้ นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมดี ๆ พร้อมแนวทางการจัดกิจกรรมที่น่าสนใจอีกเพียบ หากครูท่านใดสนใจสามารถไปดูได้ที่เว็บไซต์ของ Greenpeace ได้เลย
3. ทำให้การรีไซเคิลง่ายขึ้น
การลดขยะพลาสติกให้เป็นศูนย์อาจจะยังเป็นเรื่องยาก สำหรับการเริ่มต้นที่เป็นไปได้ ครูควรเริ่มจากการให้ความรู้เรื่องการแยกขยะกับเด็ก ๆ เพราะถือเป็นเรื่องที่จำเป็น เด็ก ๆ ควรจะรู้ว่าถังขยะแต่ละสีนั้นใช้ทิ้งขยะที่ต่างประเภทกันอย่างไร อย่างเช่น ถังขยะสีเหลืองจะรองรับขยะที่สามารถนำมารีไซเคิลหรือขายได้ พลาสติกก็จะต้องทิ้งลงถังใบนี้ ความรู้เกี่ยวกับถังขยะนี่เองที่จะช่วยให้เด็ก ๆ ตระหนักถึงปริมาณพลาสติกที่ใช้และทิ้งมากขึ้น โรงเรียนอาจจะเริ่มจากการทำให้การรีไซเคิลง่ายขึ้น โดยการวางถังขยะรีไซเคิลไว้ในบริเวณที่เหมาะสม เช่น ห้องเรียน และในโรงอาหาร รวมถึงการใช้ป้ายที่ชัดเจนพร้อมรูปประกอบน่ารัก ๆ เพื่อส่งเสริมให้พวกเขาใช้ถังขยะได้อย่างถูกต้อง รู้ว่าขยะประเภทนี้ควรจะทิ้งลงถังไหน และที่สำคัญคือโรงเรียนควรมีการวางระบบการจัดการขยะที่เหมาะสม เพื่อให้การแยกขยะของทุกคนในโรงเรียนมีประสิทธิภาพมากที่สุด
4. สร้างมาตรการใหม่ในการจัดการโรงอาหาร
โรงเรียนสามารถออกแบบมาตรการให้มีการจัดเตรียมจาน ถ้วย ช้อนส้อมใช้ซ้ำไว้สำหรับนักเรียนหรือบุคลากรที่ต้องการทานที่โรงอาหาร และประชาสัมพันธ์ให้ทุกคนนำบรรจุภัณฑ์ใช้ซ้ำมาใส่อาหารและเครื่องดื่มในกรณีที่ต้องการซื้อกลับ รวมถึงขอความร่วมมือจากพ่อค้า แม่ค้าให้ลดใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งที่ไม่จำเป็นในร้านลง เช่น หลอด ฝาครอบแก้ว และหากจำเป็นต้องใช้พลาสติกอาจจะพิจารณาเลือกใช้พลาสติกชีวภาพที่ผลิตจากวัตถุดิบทางการเกษตรหรือจากธรรมชาติ (Biobased) เนื่องจากใช้ระยะเวลาย่อยสลายน้อยกว่าพลาสติกทั่วไปและยังได้มวลชีวภาพที่มีประโยชน์ต่อดินด้วย
5. ขอความร่วมมือจากผู้ปกครอง
ขยะพลาสติกบางชิ้นอาจมาจากภายนอกโรงเรียนได้ เช่น มากับกล่องข้าวของนักเรียนในรูปของถุงร้อนใส่แกง ถ้วยน้ำจิ้ม ช้อนส้อมพลาสติก ขวดน้ำพลาสติกซึ่งมาจากการจัดเตรียมอาหารกลางวันให้บุตรหลาน การพูดคุยกับผู้ปกครองเพื่อแสดงให้เห็นว่าโรงเรียนให้ความสำคัญกับปัญหาสิ่งแวดล้อม และขอความร่วมมือให้เปลี่ยนมาใช้บรรจุภัณฑ์ที่ใช้ซ้ำได้ถือเป็นทางออกที่ดีที่จะช่วยลดปริมาณขยะพลาสติกที่จะเกิดขึ้นในโรงเรียนได้
การลดการใช้พลาสติกในโรงเรียนจะเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ ถ้าบุคลากรในโรงเรียน นักเรียน และผู้ปกครองร่วมมือและตระหนักถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการใช้พลาสติก เมื่อเด็ก ๆ ได้เรียนรู้ถึงวิธีลดการใช้พลาสติกจากในโรงเรียน เชื่อได้เลยว่าพวกเขาจะนำแนวคิดนี้ไปใช้ในอนาคตได้ด้วย และ การที่ครูลงทุนลงแรงเพื่อจัดกิจกรรมให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้จะไม่สูญเปล่าอย่างแน่นอน
รายการอ้างอิง
กลุ่มงานติดตามประเมินสถานการณ์ กตป. (2565, 4 มิถุนายน). 4 มิถุนายน 2565 ไทยสร้างขยะมากเป็นอันดับ 3 ของโลก. สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ONEP). https://www.onep.go.th/4-มิถุนายน-2565-ไทยสร้างขยะมา/
ไทยโพสต์. (2564, 20 มิถุนายน). แก้ปัญหาขยะทะเล 'ไทย' ต้องผนึก 'อาเซียน'. https://www.thaipost.net/main/detail/106946
Greenpeace. (n.d.). #พลาสติก. https://www.greenpeace.org/thailand/tag/plastic/
Sarah-Jeanne Royer. (2561, 27 สิงหาคม). เมื่อพลาสติกไม่เพียงแต่ทำลายมหาสมุทร หากยังปล่อยก๊าซเรือนกระจก. Greenpeace. https://www.greenpeace.org/thailand/story/2378/plastic-emission/
My School Connect. (2021, June 25). How to Reduce the Use of Plastic at the School Canteen. https://myschoolconnect.com.au/blog/how-to-reduce-the-use-of-plastic-at-the-school-canteen/
Pillai, G. (2021, June 30). How Can Schools and Educators Reduce Plastic Waste?. Twinkl. https://www.twinkl.co.th/blog/how-can-schools-and-educators-reduce-plastic-waste