Knowledge
โรงเรียนสีเขียว : เทรนด์การศึกษาเพื่อความยั่งยืน
2 years ago 3328สุรศักดิ์ แซ่ลิ้ม
หลังจากตระหนักได้ว่าธรรมชาติรอบตัวกำลังเสื่อมโทรมลงอย่างช้า ๆ อันเป็นผลจากกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันของมนุษย์ที่สะสมมาเป็นเวลานาน สังคมในปัจจุบันจึงหันมาให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์พลังงานและการดูแลฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติอย่างจริงจัง ในปี พ.ศ. 2558 องค์การสหประชาชาติได้เสนอเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เพื่อส่งเสริมการสร้างความร่วมมือในระดับนานาชาติเพื่อพัฒนาโลกให้เป็นไปในทางที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน และเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย SDGs การสร้างความตระหนักรู้ ด้านสิ่งแวดล้อมให้แก่เด็กและเยาวชนจึงเป็นสิ่งที่การศึกษาทั่วโลกให้ความสนใจ เป็นที่มาของแนวคิด “โรงเรียนสีเขียว” ที่มุ่งเน้นให้เยาวชนเติบโตขึ้นเป็นคนที่เข้าใจความหลากหลายทางชีวภาพและมีความรับผิดชอบต่อปัญหาสิ่งแวดล้อม
ทำความรู้จักต้นแบบ “โรงเรียนสีเขียว”
ในขณะที่การศึกษาในยุคหนึ่งมุ่งผลิตเยาวชนที่เป็นเลิศในด้านวิชาการ จอห์นและซินเธีย ฮาร์ดีส์ (John and Cynthia Hardy) กลับมีแนวคิดที่แตกต่างออกไป พวกเขาตัดสินใจก่อตั้งโรงเรียนนานาชาติสีเขียว (Green School International: GSI) ตั้งแต่ พ.ศ. 2551 ก่อนที่จะมีการเสนอ SDGs เสียอีก โรงเรียนนี้ตั้งอยู่ท่ามกลางธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ในเกาะบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย พวกเขา ให้ความสำคัญกับการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ของผู้เรียน ส่งเสริมให้ผู้เรียนเรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติมากกว่าการท่องตำรา อีกทั้งยังปลูกฝังความเข้าใจในธรรมชาติและแนวคิดด้านการอนุรักษ์ไปพร้อม ๆ กัน ผ่านการเรียนรู้นอกห้องเรียนและการมีปฏิสัมพันธ์กับชุมชนและสิ่งแวดล้อม ก่อให้เกิดความรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติอย่างแท้จริงนอกจากหลักสูตรแล้ว สิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ในโรงเรียนก็ยังถูกออกแบบให้ส่งผลกระทบต่อธรรมชาติน้อยที่สุดด้วยเช่นกัน โดยเน้นการใช้วัสดุหมุนเวียนเป็นหลัก เช่น ไม้ไผ่ หญ้า และดิน เช่นเดียวกับการจัดสรรพื้นที่ภายในโรงเรียนให้มีนาปลูกข้าวและสวนผักผลไม้ไว้บริโภคเองอีกด้วย ในปัจจุบัน โรงเรียนนานาชาติสีเขียวนี้ได้ขยายสาขาออกไปยังประเทศอื่น ๆ ทั้งประเทศนิวซีแลนด์และแอฟริกาใต้เป็นที่เรียบร้อย และยังมีอีกหนึ่งสาขาที่เม็กซิโกซึ่งกำลังจะเปิดตัวในเร็ว ๆ นี้อีกด้วย ถือได้ว่าเป็นโรงเรียนเพื่อสิ่งแวดล้อมต้นแบบที่สร้างแรงกระเพื่อมที่สำคัญในแวดวงการศึกษาทั่วโลก
นอกจากโรงเรียนนานาชาติสีเขียวที่เปิดสอนตั้งแต่ระดับเตรียมอนุบาลถึงชั้นมัธยมปลายแล้ว ที่เมืองนิวคาสเซิล ประเทศออสเตรเลีย ยังมีโรงเรียนวีแกนที่เปิดรับสมัครเฉพาะเด็กวัยก่อนอนุบาลอายุระหว่าง 3-5 ปี เพื่อปลูกฝังแนวคิดในการอยู่ร่วมกันกับธรรมชาติอย่างมีสำนึกรับผิดชอบตั้งแต่อายุยังน้อย ๆ โรงเรียนแห่งนี้มีชื่อว่า Sustainable Play Preschool การเป็นโรงเรียนวีแกนนอกจากจะช่วยลดการเบียดเบียนสัตว์แล้ว ยังสามารถลดการผลิตก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งเกิดจากอุตสาหกรรมปศุสัตว์ได้อีกด้วย กิจกรรมภายในโรงเรียนจะมุ่งเน้นให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้กระบวนการการบริโภคอย่างยั่งยืน ตั้งแต่การปลูกผักผลไม้ การนำผลิตผลที่ได้มาประกอบอาหารภายในโรงเรียน ตลอดจนวิธีการกำจัดขยะเศษอาหาร เพื่อให้ผู้เรียนคุ้นเคยกับการใช้ชีวิตที่ส่งผลกระทบต่อธรรมชาติน้อยที่สุด
แนวคิดโรงเรียนสีเขียวในประเทศไทย
ใช่ว่าแนวโน้มทางการศึกษาแบบโรงเรียนสีเขียวจะมีแต่เฉพาะในต่างประเทศเท่านั้น แต่ในประเทศไทยก็เริ่มมีการพัฒนาหลักสูตรเพื่อตอบสนองแนวคิดการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมแล้วเช่นกัน สถาบันลูกโลกสีเขียวภายใต้การดูแลของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) เล็งเห็นถึงความสำคัญในการสร้างอนาคตด้านสิ่งแวดล้อมของชาติที่มีกลุ่มเยาวชนเป็นรากฐานที่สำคัญ จึงได้พัฒนาหลักสูตรโรงเรียนสีเขียว (Green School) ขึ้น มีจุดมุ่งหมายเพื่อสนับสนุนให้ผู้เรียนได้เรียนรู้และเข้าใจความหลากหลายทางชีวภาพในชุมชนของตน เห็นความสำคัญและเข้าใจวิธีการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อรักษาความหลากหลายทางชีวภาพในท้องถิ่นอย่างยั่งยืน หลักสูตรของโรงเรียนสีเขียวยังมีการให้ความรู้เกี่ยวกับบทบาทของความหลากหลายเหล่านั้น ที่ส่งผลต่อประเพณี วัฒนธรรม และความเชื่อของมนุษย์ในสังคมด้วยเช่นกัน นำไปสู่ความรู้สึกผูกพันของผู้เรียนกับธรรมชาติ นับว่าเป็นการสร้างแนวคิดด้านความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมผ่านระบบการศึกษาอย่างกลมกลืน
สถาบันลูกโลกสีเขียวได้คัดเลือกโรงเรียนนำร่องจากโรงเรียนที่ได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียวประเภทกลุ่มเยาวชน หรือโรงเรียนอื่น ๆ ที่ทางสถาบันเล็งเห็นว่ามีศักยภาพ หรือตั้งอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติ กระบวนการของหลักสูตรสีเขียวจะดำเนินการต่อเนื่องอย่างน้อย 3 ปี โดยแต่ละปีจะมีจุดเน้นที่แตกต่างกัน โรงเรียนที่ได้รับเลือกให้เป็นโรงเรียนนำร่องหลักสูตรโรงเรียนสีเขียวมีจำนวนทั้งสิ้น 9 โรงเรียน ได้แก่ โรงเรียนวัดชากลูกหญ้า จ.ระยอง โรงเรียนประชาบำรุง จ.พัทลุง โรงเรียนเทศบาลตำบลปริก จ.สงขลา โรงเรียนนางัวราษฎร์รังสรรค์ จ.นครพนม โรงเรียนเขาน้อยวิทยาคม อ.เมือง จ.ตราด โรงเรียนคีรีเวสรัตนเพียรอุปถัมภ์ จ.ตราด โรงเรียนสุเหร่าทรายกองดิน กรุงเทพมหานคร โรงเรียนพิทยพัฒน์ศึกษา กรุงเทพมหานคร และโรงเรียนบ้านอีเซ (คุรุราษฎร์วิทยา) จ.ศรีสะเกษ
ความท้าทายที่ยังคงรออยู่
การที่วงการการศึกษาเริ่มตื่นตัวในการพัฒนาโรงเรียนสีเขียวเพื่อปลูกฝังแนวคิดนักอนุรักษ์ให้แก่เยาวชน นับว่าเป็นแนวโน้มทางการศึกษาที่น่าสนใจและจะส่งผลดีต่อสังคมโลกในระยะยาว แม้ในปัจจุบันจะยังคงมีข้อจำกัดหลายด้านที่อาจทำให้ไม่สามารถพัฒนาหลักสูตรสีเขียวได้อย่างราบรื่น ไม่ว่าจะเป็นข้อจำกัดในด้านเวลาเรียน พื้นที่ใช้สอยภายในสถานศึกษา หรือแม้กระทั่งบริบทของสถานศึกษาที่อาจไม่อำนวยให้ผู้เรียนได้ศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพมากเท่าที่ควร แต่หากผู้สอนสามารถสอดแทรกแนวคิดการดำรงชีวิตอย่างยั่งยืนผ่านการบูรณาการในชั้นเรียนได้อย่างสม่ำเสมอ นอกจากจะช่วยส่งเสริมให้ผู้เรียนมีความรับผิดชอบต่อธรรมชาติแล้ว ก็สามารถเป็นแรงขับเคลื่อนเล็ก ๆ ที่ช่วยผลักดันให้หลักสูตรโรงเรียนสีเขียวของไทยเป็นเรื่องที่ไม่ไกลเกินเอื้อม
รายการอ้างอิง
ทัศนีย์ แซ่ลิ้ม. (2565, 20 มกราคม). เสรีนิยมใหม่ไม่ถูกใจสิ่งนี้! ‘Green School’ โรงเรียนแนวใหม่ผลิตนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม. The KOMMON. https://www.thekommon.co/green-school-environment/
รัตนาวดี โสมพันธ์ และ ณัฐมน สุนทรมีเสถียร. (2564, 24 สิงหาคม). เด็กในวันนี้ ต้องเป็นนักอนุรักษ์ที่ดีในวันหน้า | ทำความรู้จัก 3 หลักสูตรสีเขียวในห้องเรียนสมัยใหม่ที่หันหลังให้แท็บเล็ต. becommon. https://becommon.co/world/living-green-curriculum/#accept
สถาบันลูกโลกสีเขียว. (2562, 13 ธันวาคม). โรงเรียนสีเขียวเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดีร่วมกัน https://www.greenglobeinstitute.com/Frontend/Content.aspx?ContentID=bb0e3f68-7c7c-4e2f-9e3b-c11b62cdc1b5
Gilchrist, K. (2021, March 15). Inside the Balinese school that produces teen activists, UN speakers and rock stars. CNBC. https://www.cnbc.com/2021/03/16/inside-balis-green-school-creator-of-activists-ted-talkers-singers.html