Knowledge

PM2.5 ภัยขนาดจิ๋วที่มองไม่เห็น

PM2.5 ภัยขนาดจิ๋วที่มองไม่เห็น

 1 year ago 6180

จิราพร เณรธรณี

         ฝุ่นพิษ PM 2.5 (Particulate matter with diameter of less than 2.5 micron) แม้มีขนาดเล็ก แต่ก็ก่อปัญหาเป็นวงกว้างแทบทุกภาคในประเทศไทย โดยฝุ่นพิษเกิดขึ้นทั้งจากการกระทำของมนุษย์และทางธรรมชาติ ในเมืองหลวงมักพบต้นเหตุปัญหาจากการจราจรที่ติดขัด โดยมีงานวิจัยสรุปไว้ เด็กที่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เป็นมลพิษทางอากาศจากปัญหาการจราจรมีผลการเรียนที่ต่ำกว่าเด็กที่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เป็นมลพิษทางอากาศน้อยกว่า อย่างไรก็ตาม ยังมีหลายสาเหตุที่มีความเกี่ยวข้องกับการเรียนรู้ของเด็ก

แนวทางสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ที่ดีป้องกันผลกระทบจาก PM 2.5
         สาเหตุของฝุ่นพิษขนาดเล็กไม่ได้มีเพียงปัญหาการจราจรที่ติดขัด แต่ยังมี สภาพอากาศ สภาพภูมิประเทศและที่ตั้ง อุตสาหกรรม การเกษตร กิจวัตรประจำวัน เป็นต้น เราปฏิเสธไม่ได้ในคำกล่าวที่ว่า “อากาศช่วยให้เรามีชีวิตอยู่ และอากาศก็ลดอายุขัยของเราด้วยเช่นกัน” ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ส่งผลต่อพัฒนาการการเรียนรู้ของเด็ก กล่าวคือ เมื่อการเรียนรู้ในห้องเรียน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นห้องปิดและมีระบบการถ่ายเทอากาศไม่ค่อยดี อาจทำให้เกิดปัญหาทางสุขภาพโดยเฉพาะระบบทางเดินหายใจ เช่น ภูมิแพ้ หายใจไม่สะดวก และหืดหอบ ฯลฯ นอกจากนี้มลพิษทางอากาศยังขัดขวางสมาธิในการเรียนของเด็กอีกด้วย ซึ่งก็จะทำให้การเรียนรู้ของผู้เรียนมีอุปสรรคที่มาจากปัญหาทางสุขภาพ ผู้เขียนจึงเห็นว่า ถึงแม้เราจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาฝุ่นได้ในวงกว้างได้ แต่เราก็สามารถเริ่มทำได้จากจุดเล็ก ๆ ที่สำคัญในการจัดสิ่งแวดล้อมการเรียนรู้  และออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ ดังนั้นจึงมีแนวทางในการรับมือกับปัญหาฝุ่นพิษขนาดเล็กนี้ได้จากหนึ่งสมองและสองมือของทั้งครูและผู้เรียน ดังนี้
1. การสวมหน้ากากสำหรับป้องกันฝุ่น PM 2.5 เป็นวิธีแรกที่ทุกคนทำได้และสามารถป้องกันได้ทุกที่ เพราะปัญหาฝุ่นไม่ได้เกิดจากการดำเนินชีวิตของมนุษย์เท่านั้น ยังมีปัจจัยด้านการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติด้วย ดังนั้น วิธีดังกล่าวจึงเป็นวิธีที่ทุกคนสามารถทำได้ หน้ากากมีหลายประเภท ซึ่งหน้ากากที่สามารถช่วยป้องกันฝุ่นพิษขนาดเล็กได้ คือ หน้ากากอนามัย N95 ที่สามารถป้องกันฝุ่นขนาดเล็กได้ถึง 95% นอกจากนี้ หน้ากากอนามัยทั่วไปที่มีแผ่นกรองหลายชั้นก็สามารถช่วยป้องกันฝุ่นพิษได้ในระดับหนึ่งเช่นกัน
2. การฟอกอากาศในห้องเรียน เป็นวิธีที่สามารถใช้เครื่องฟอกอากาศหรือการปลูกต้นไม้ที่สามารถช่วยฟอกอากาศได้ เช่น พลูด่าง ลิ้นมังกร และหมากเหลือง ฯลฯ โดยผู้เขียนอยากแนะนำให้ใช้วิธีการหลังนี้มากกว่า เนื่องจากการปลูกต้นไม้เป็นวิธีที่ประหยัดและยังช่วยสร้างสมดุลให้ธรรมชาติในโรงเรียนด้วย นอกจากนี้ ยังเป็นการสร้างจิตสำนึกให้ผู้เรียนเห็นประโยชน์ของต้นไม้ด้วย
3. การบูรณาการกับองค์กรภายนอก เป็นการประสานงาน  และร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐหรือเอกชน เช่น การสร้างความร่วมมือกับโรงพยาบาลจัดเป็นโครงการ หรือกิจกรรมสำหรับให้ความรู้ หรือวิธีการดูแลรักษาสุขภาพ รวมทั้งร่วมกันออกแบบวิธีการป้องกันปัญหาฝุ่นพิษในระดับโรงเรียน เนื่องจากบางหน่วยงานมีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับสุขอนามัยมากกว่าบุคลากรในโรงเรียน ดังนั้น จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าหน่วยงานภายนอกก็มีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาโรงเรียนเช่นกัน
4. การสร้างความตระหนักถึงผลกระทบของฝุ่น PM 2.5 และให้องค์ความรู้ที่ถูกต้อง เป็นวิธีที่ยั่งยืน กล่าวคือ การสร้างความตระหนักเป็นการทำให้ผู้เรียนมองเห็นถึงปัญหา ซึ่งเป็นการปลูกฝังเข้าไปในจิตใจของผู้เรียน แล้วให้องค์ความรู้ที่ถูกต้องในการปฏิบัติตนเพื่อลดปัญหาฝุ่นพิษ รวมทั้งป้องกันตนเองจากปัญหาดังกล่าวด้วย ครูสามารถทำได้หลายวิธี เช่น การจัดเป็นการรณรงค์ในชุมชน การจัดกิจกรรมในโรงเรียน และการออกแบบการเรียนรู้ ให้ความรู้เกี่ยวกับฝุ่นพิษเชื่อมโยงในแต่ละวิชา
5. การปรับวิธีการเรียนการสอน เป็นวิธีท้ายสุด เนื่องจากหากเกิดปัญหาฝุ่นที่หนักขึ้นจนส่งผลให้มีประกาศปิดโรงเรียน เพื่อรักษาสุขภาพของผู้เรียนและบุคลากรในโรงเรียนทุกคน ส่งผลให้มีการปรับเปลี่ยนการเรียนการสอนมาเป็นออนไลน์ ผู้เขียนมองว่าวิธีนี้อาจจะไม่เหมาะสมกับการเรียนรู้สำหรับเด็กเล็ก ดังจะเห็นได้จากผลกระทบจากภาวะถดถอยของการเรียนรู้ (learning loss) ที่คุณครูน่าจะเห็นผลจากการเรียนออนไลน์ที่ผ่านมา ทั้งครูและผู้เรียนจึงต้องปรับตัวกับความเปลี่ยนแปลงเพื่อให้การเรียนการสอนดำเนินต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ

          ปัญหาเกี่ยวกับมลพิษทางอากาศยังมีกฎหมายอากาศสะอาดที่ทางภาครัฐจะเข้ามามีบทบาทในการช่วยเหลือ อย่างไรก็ตาม กฎหมายอาจจะเป็นเพียงกรอบในการปฏิบัติในระดับหน่วยงาน แต่จิตสำนึกและการตระหนักรู้เป็นสิ่งสำคัญในระบบบุคคลที่สามารถสร้างให้อยู่ในจิตใจของทุกคน ดังนั้น การปลูกจิตสำนึกให้ผู้เรียนตระหนักถึงปัญหาและวิธีป้องกันจึงเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยลดมลพิษทางอากาศจากฝุ่นพิษ เพื่อที่เราจะสามารถหายใจได้อย่างปลอดโปร่งขึ้น นำไปสู่บรรยากาศที่ดีทั้งต่อการเรียนรู้และสุขภาวะของทุกคน

อ้างอิง
ณิชา เวชพานิช, สปัญญา ศรีสุข, และ วิถี ภูษิตาศัย. (ม.ป.ป.) คนไทยเจอปัญหา PM2.5 มาแล้ว 20 ปีเมื่อเราต่างฝันถึงวันไร้ฝุ่น แต่ทำไมเราแก้ไม่ได้สักที. GREEN NEWS. https://greennews.agency/right-to-breathe/

ฝ่ายสร้างสรรค์สื่อและผลิตภัณฑ์ สวทช. (2563, 28 มกราคม). ทำความรู้จัก ‘หน้ากากป้องกันฝุ่น ‘PM2.5’. สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ. https://www.nstda.or.th/home/news_post/20200128-pm2-5/

Raksaseri, K. (2022, June 6). Schools breathing easier. Bangkok Post. https://www.bangkokpost.com/thailand/general/2321170/schools-breathing-easier

Whaley, P. (2021). The impact of Traffic-Related air pollution on child and adolescent academic Performance: A systematic review, Environment International, 155. https://doi.org/10.1016/j.envint.2021.106696


TAG: #PM2.5 #ฝุ่นพิษ #มลพิษทางอากาศ #วิทยาศาสตร์ #สังคมศึกษา #การเรียนรู้ #บรรยากาศการเรียนรู้ #สุขภาวะผู้เรียน #การบูรณาการความรู้ #สิ่งแวดล้อม #การจัดการชั้นเรียน