Knowledge
ภาวะโลกร้อน – เปลี่ยนเสียงของเยาวชนให้กลายเป็นพลังเปลี่ยนโลก
2 years ago 3304อาทิตยา ไสยพร
ภาวะโลกร้อนที่นับวันจะยิ่งรุนแรงขึ้นทำให้เกิดการตื่นตัวของเหล่ามวลมนุษยชาติ หลายภาคส่วนเริ่มมีนโยบายต่าง ๆ ออกมามากมายให้ผู้คนตระหนักถึงความรุนแรงของภาวะโลกร้อนหรือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) ในปัจจุบัน แต่สิ่งสำคัญที่ช่วยผลักดันให้คนหันมาให้ความสำคัญ นั่นก็คือเด็กและเยาวชนรุ่นใหม่ที่ร่วมกันเป็นแกนนำขับเคลื่อนสังคมเกี่ยวกับผลกระทบที่พวกเขาต้องแบกรับจากภาวะโลกร้อนในอนาคต ความท้าทายคือคนรุ่นใหม่จะสามารถจัดการกับอนาคตที่ไม่ได้อยู่ในมือคนรุ่นตัวเองได้อย่างไร รวมถึงความท้าทายในการสร้างการตระหนักรู้ที่ทั้งในระดับห้องเรียน โรงเรียน และสังคมเกี่ยวกับภาวะโลกร้อนได้อย่างไร
สร้างพลังในห้องเรียนผ่านกิจกรรมสร้างสรรค์
เชื่อว่าในห้องเรียนมีเนื้อหาสาระด้านสิ่งแวดล้อมมากมายให้นักเรียนได้เรียนรู้เกี่ยวกับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่เราต้องเผชิญอยู่ในปัจจุบัน แต่ห้องเรียนไม่ใช่เรียนเพียงแค่เนื้อหาเท่านั้นกิจกรรมในห้องเรียนก็เป็นสิ่งสำคัญในการสร้างความตระหนักรู้ของนักเรียน ไม่ว่าจะเป็นการเรียนรู้ผ่านบอร์ดเกม เช่น Building In The world ที่มีจุดประสงค์ของเกม คือ เล่นเกมเพื่อรักโลก ไม่ใช่เพื่อทำลายโลก วิธีการเล่นเกม เบื้องต้นคือ ผู้เล่นจะจั่วการ์ดเพื่อดูโครงการที่ตัวเองจะได้ก่อสร้างและทำการก่อสร้างโครงการนั้นจนครบรอบ โดยมีการ์ดเหตุการณ์เป็นตัวกำหนดว่าผู้เล่นจะได้รับผลตอบแทนจากโครงการเท่าไร สำหรับเงื่อนไขการชนะคือผู้เล่นที่มีคะแนนรวมกันมากที่สุด โดยถ้าคะแนนรวมเท่ากันให้พิจารณาจากจํานวนเงินที่เหลืออยู่ ผู้เล่นคนใดมีเงินมากกว่าจะถือว่าเป็น ผู้ชนะ จากตัวอย่างคุณครูสามารถลองนำไปเป็นแนวคิดสร้างสรรค์กิจกรรมเอาไว้ใช้ในห้องเรียนของตนเองหรือผ่านกิจกรรมการเรียนรู้ในห้องเรียนแบบง่าย ๆ เช่น การให้นักเรียนลองบอกวิธีการหรือเสนอแนวคิดในการช่วยลดภาวะโลกร้อนในแบบของตนเองนำเสนอหน้าชั้นเรียนก็ได้เช่นเดียวกัน
พัฒนานโยบายระดับโรงเรียนผ่านโครงการต่าง ๆ
โรงเรียนสามารถคิดออกแบบนโยบายที่เป็นรูปธรรมได้ เช่น การให้นักเรียนพกกระติกน้ำมาโรงเรียน งดแจกถุงพลาสติก หรือเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์มาใช้แบบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตัวอย่างการใช้นโยบายจริง ๆ ในสถานศึกษาอย่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีโครงการ Chula Zero Waste แผนปฏิบัติการการจัดการขยะมูลฝอยและขยะอันตรายอย่างยั่งยืนในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งมีเป้าหมายที่จะลดปริมาณขยะเหลือทิ้ง ภายในมหาวิทยาลัยไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 ภายใน พ.ศ. 2564 โดยโครงการมีจุดเน้นในเรื่องการจัดการขยะอย่างถูกต้องและการเปลี่ยนขยะให้เป็นพลังงานซึ่งปัจจุบันประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย โดยโครงการนี้มีแผนการปฏิบัติงานทั้งหมด 6 แผน 18 โครงการ ตัวอย่างเช่น โครงการงดโฟมและลดการใช้ถุงพลาสติก โครงการปรับปรุงระบบการคัดแยกขยะที่เหมาะสมกับพื้นที่ โดยโรงเรียนสามารถนำมาเป็นต้นแบบในการจัดการขยะในโรงเรียนได้เช่นกันโดยสามารถดาวน์โหลดแบบฟอร์มคู่มือโรงเรียนปลอดขยะสร้างเยาวชนพิทักษ์โลกที่เว็บไซต์ http://www.chulazerowaste.chula.ac.th/ ได้
ตัวอย่างการขับเคลื่อนสังคมของนักเรียนทั่วทุกมุมโลก
ความตระหนักรู้สร้างในสถานศึกษาอาจจะไม่เพียงพอ ฉะนั้นการสร้างความตระหนักรู้โดยการประกาศในพื้นที่สาธารณะจะช่วยขับเคลื่อนให้ประสบความสำเร็จมากขึ้น ผู้เขียนยกตัวอย่างเยาวชนในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วโลกได้มีการประท้วงและเรียกร้องด้านสิ่งแวดล้อมในประเทศของตนเอง เช่น หนึ่งในข้อเรียกร้องในการหยุดงานประท้วงด้านสภาพอากาศของนครนิวยอร์ก เป็นการประท้วงเพื่อการต่อต้านท่อส่งน้ำมันที่มีศูนย์กลางอยู่ที่มินนิโซตา (Minnesota) ซึ่งเป็นแหล่งส่งน้ำมันผ่านแหล่งน้ำไปยังแคนาดา การประท้วงนี้ก็เพื่อหยุดท่อส่งแก๊สข้ามดินแดนและเพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการรั่วไหลของน้ำมัน นอกจากนี้ยังมีข่าวการเดินขบวนประท้วงของเยาวชนทั่วโลกที่มีมากกว่า 1,300 ครั้ง เพื่อสร้างความตระหนักด้านสิ่งแวดล้อมโดยเยาวชนเรียกร้องให้ผู้นำในปัจจุบันรักษาอุณหภูมิโลกให้ต่ำกว่า 1.5 องศาเซลเซียสโดยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการเดินขบวนประท้วงทั่วโลกนี้ทำให้ผู้นำแต่ละประเทศได้หันมารับฟังและวางแผนแก้ปัญหาในอนาคต ไม่ใช่แค่การเดินขบวนบนท้องถนน แต่ยังมีการขับเคลื่อนบนโซเชียลมีเดียด้วย #LetTheEarthBreath ขึ้นเทรนด์ทวิตเตอร์ในไทย หลังนักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษ ที่ออกมาประท้วงรัฐบาลหลังจากที่อนุมัติให้สร้างโรงงานพลังงานฟอสซิล ทั้งหมดนี้คือการขับเคลื่อนของเยาวชนทั่วโลกที่ตระหนักถึงปัญหาภาวะโลกร้อนที่พวกเขากำลังเผชิญอยู่
จะเห็นได้เลยว่าภาวะโลกร้อนเป็นปัญหาใหญ่ที่เยาวชนทั่วโลกให้ความสำคัญอย่างมาก ไม่ว่าใครก็ต้องการอยู่กับสภาพแวดล้อมที่ดีกันทั้งนั้น จะดีกว่าไหมหากเรามีส่วนช่วยในการสนับสนุนเยาวชนรุ่นหลังที่มีแนวคิดอยากออกแบบและปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมในอนาคตด้วยตัวของเขาเองผ่านห้องเรียน โรงเรียนที่มีการสร้างเยาวชนให้ตระหนักรู้ถึงปัญหาภาวะโลกร้อน และที่ขาดไม่ได้คือสังคมที่ให้ความสำคัญกับเสียงเล็ก ๆ ของเยาวชนที่ต้องการมีส่วนร่วมในการจัดการอนาคตของเขา เชื่อว่าพลังความคิดของนักเรียนเหล่านี้จะทำให้เขาได้ร่วมสร้างอนาคตที่ดีได้ด้วยมือของพวกเขาเอง
แหล่งอ้างอิง
Kippenberg, J. (2021, September 23). As World Heats, Youth Protesters March for Climate Action Over 1,300 Climate Marches Planned Around the Globe. https://www.hrw.org/news/2021/09/23/world-heats-youth-protesters-march-climate-action
Ramirez, R. (2021, September 24). One of the demands at New York City’s climate strike: Stopping the Line 3 pipeline. CNN. https://edition.cnn.com/world/live-news/live-updates-climate-protests-unga-intl/index.html
Sutheemon Kumkoom. (2565, 15 เมษายน). สรุปให้ #LetTheEarthBreath ขึ้นเทรนด์ทวิตเตอร์ เกิดอะไรขึ้น?. springnews. https://www.springnews.co.th/news/823252
TaKaSin. (2022, 8 มีนาคม). Building In The world. Inskru. https://inskru.com/idea/-MxceIZz977Zrv9z2LpK