Knowledge

It is Distraction, not Device :  ปัญหาการเรียนรู้ในยุคดิจิทัลไม่ใช่มือถือหรือแท็บเล็ต แต่เป็นที่เด็กหลุดโฟกัสต่างหาก

It is Distraction, not Device : ปัญหาการเรียนรู้ในยุคดิจิทัลไม่ใช่มือถือหรือแท็บเล็ต แต่เป็นที่เด็กหลุดโฟกัสต่างหาก

 1 year ago 3078

วรเชษฐ แซ่เจีย

         โทรศัพท์มือถือได้กลายเป็นอวัยวะชิ้นที่ 32+ ที่อยู่ติดตัวคนทุกช่วงวัย สำคัญพอ ๆ กับคอมพิวเตอร์และสัญญาณ Wi-Fi และยิ่งหลังจากการแพร่ระบาดของ โควิด-19 ยิ่งทำให้อุปกรณ์ดิจิทัลชิ้นนี้ทวีความสำคัญในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งในการเรียนรู้ของนักเรียนด้วย อย่างไรก็ตาม ความสำคัญย่อมมาพร้อมกับความกังวลทั้งจากพ่อแม่ผู้ปกครอง และครูผู้สอนว่ามันได้กลายเป็นปัจจัยที่ขัดขวางการเรียนรู้ด้วยเช่นกัน

ใคร ๆ ก็ว่าโทรศัพท์เป็นอุปสรรคต่อการเรียนรู้
         ภาครัฐหรือหน่วยงานที่กำกับดูแลการศึกษาทั่วโลกเริ่มดำเนินการจำกัดการใช้โทรศัพท์มือถือในโรงเรียน เช่น ในสหรัฐอเมริกา จีน และฝรั่งเศส เรียกได้ว่าโทรศัพท์มือถือเป็นความกังวลร่วมของคนจำนวนไม่น้อย อย่างไรก็ตามการบังคับใช้กฎดังกล่าวในบริบทห้องเรียนจริงคงพบกับความยากลำบาก และแม้การห้ามนำโทรศัพท์มือถือมาใช้ในห้องเรียนจะช่วยให้นักเรียนกลับมาโฟกัสได้จริง แต่ธรรมชาติการเรียนรู้และการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไป อาจทำให้การแบนไม่ได้ส่งผลแต่ด้านบวกเท่านั้น
         ภายหลังจากการเรียนออนไลน์มาอย่างน้อย 1 ปีการศึกษา ก็ทำให้พฤติกรรมการเรียนรู้ของนักเรียนเปลี่ยนแปลงไปไม่น้อย ทั้งทักษะการอ่านเขียนและคิดคำนวณที่ถดถอยลง ทักษะการสืบค้นข้อมูลที่เพิ่มขึ้นในแง่ของการใช้คล่อง แต่อาจจะยังคัดกรองไม่ได้ และยิ่งไปกว่านั้นคือสมาธิจดจ่อของนักเรียนหายไปอย่างเห็นได้ชัด ยิ่งทำให้กระแสความต้องการแบนการใช้โทรศัพท์มือถือหรือกระทั่งห้ามนำมาโรงเรียนกลับมาเป็นที่ถกเถียงกันอีกครั้ง

...แต่ปัญหาอยู่ที่ตัวอุปกรณ์จริงหรือ?

ปัญหาการเรียนรู้ในยุคดิจิทัลไม่ใช่มือถือหรือ Tablet แต่เป็นการหลุดโฟกัสของเด็กต่างหาก

มองมุมใหม่ ให้เห็นปัญหาจากความวอกแวก (Distraction)
         แท้ที่จริงแล้ว การมีอยู่ของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ ไม่ได้ทำให้นักเรียนเกิดปัญหาก้มหน้าก้มตาเล่นสิ่งที่อยู่ใต้โต๊ะแต่อย่างใด กล่าวคือโทรศัพท์มือถือไม่ได้เป็นปัญหาในตัวเอง แต่เป็นอาการวอกแวก หรือหลุดโฟกัสไปจากบทเรียนจากการเล่นมือถือต่างหากที่เป็นอุปสรรคต่อการเรียนรู้ในห้องเรียน เพราะเมื่อมีสิ่งที่ต้องจดจ่อพร้อมกันสองทาง สมองก็ยากที่จะแบ่งความสนใจไปหาทั้งสองอย่างในเวลาเดียวกันได้
         คุณครูหลายคนอาจเคยได้ยินคำว่า multitasking หรือการทำงานตั้งแต่สองกิจกรรมขึ้นไปในเวลาเดียวกัน เช่น การฟังเพลงไปทำงานไป การขับรถไปคุยไป อย่างไรก็ตาม Michael Rich กุมารแพทย์จาก Harvard Medical School เสนอว่าเราไม่ได้ทำสองกิจกรรมพร้อมกัน แต่เป็นการสลับโฟกัสไปมาระหว่างกิจกรรมอย่างรวดเร็ว จนทำให้ไม่อาจใส่ใจกับกิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่งได้เต็มร้อย นั่นสะท้อนให้เห็นว่า แม้จะไม่มีโทรศัพท์มือถือในห้องเรียนแล้วก็ตาม หากบทเรียนไม่ดึงดูดมากพอ หรือไม่ได้ออกแบบมาให้นักเรียนโฟกัสได้อย่างเต็มที่ นักเรียนก็ไม่สามารถเรียนรู้ได้อย่างเต็มที่ เพราะนักเรียนก็คง multitask กับกิจกรรมอย่างอื่นได้อยู่ดี ฉะนั้น ปัญหาจึงอยู่ที่การออกแบบเนื้อหา-กิจกรรม-การประเมินอย่างไรให้สมบูรณ์และครบวงจรการเรียนรู้ต่างหาก

ปัญหาการเรียนรู้ในยุคดิจิทัลไม่ใช่มือถือหรือ Tablet แต่เป็นการหลุดโฟกัสของเด็กต่างหาก

3 แนวทางจัดการการใช้โทรศัพท์มือถืออย่างสร้างสรรค์
         1. ออกแบบบทเรียนใหม่ให้เหมาะกับวัยผู้เรียน เมื่อรู้ว่าปัญหาอาจไม่ได้อยู่ที่ของที่อยู่ในมือนักเรียนเพียงอย่างเดียว เช่นนี้แล้ว คุณครูก็สามารถมองนักเรียนในมุมใหม่ มองหาความสนใจของพวกเขาและนำมาเป็นส่วนหนึ่งของบทเรียน นอกจากนั้น คุณครูยังสามารถสร้างสรรค์กิจกรรมการเรียนรู้ให้มีความหมาย ยากและท้าทาย จนนักเรียนจดจ่อกับงานตรงหน้า ไม่หลงไปกับ notification บนโทรศัพท์มือถืออีกต่อไป
         2. กระตุ้นการใช้โทรศัพท์มือถือในฐานะเครื่องมือการเรียนรู้ ดังที่คุณครูผู้อ่านน่าจะทำอยู่แล้วในการออกแบบการจัดการเรียนรู้ ที่อนุญาตให้นักเรียนใช้โทรศัพท์มือถือเป็นส่วนหนึ่งของบทเรียน เช่น สแกน QR Code เพื่ออ่านเนื้อหาที่เตรียมไว้ เล่นเกมใน Kahoot ตอบคำถามบน Quizziz รวมไปถึงการใช้เพื่อการค้นข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อทำกิจกรรม นอกจากกิจกรรมเหล่านี้แล้ว ยังมีความเป็นไปได้ในการทำให้โทรศัพท์มือถือเป็นส่วนหนึ่งของบทเรียนได้อีกมากมาย รอให้คุณครูค้นพบ เช่น การเช็กอินความรู้สึกก่อนเริ่มเรียน และการใช้เป็นเครื่องมือบันทึกการเรียนรู้ (ที่มากกว่าถ่ายรูปสไลด์ประกอบการบรรยาย)
         3. ฟังเสียงเด็ก-ผู้ปกครองก่อนบังคับใช้กฎ ในกรณีที่คุณครูในโรงเรียนของท่านเห็นตรงกันว่าสถานการณ์ที่ทำให้นักเรียนในห้องเกิดความวอกแวก คือ พฤติกรรมการใช้โทรศัพท์ระหว่างการเรียน และจำเป็นจะต้องใช้กฎนี้ อย่าลืมสื่อสารกับนักเรียนและผู้ปกครองให้ชัดเจน ว่ากฎดังกล่าวจะเป็นประโยชน์กับนักเรียนอย่างไร และจะเกิดอะไรขึ้นหากมีการฝ่าฝืนกฎ ทั้งนี้ การลงโทษควรสมเหตุสมผลกับการกระทำที่เกิดขึ้น และคุณครูสามารถเปิดกว้างให้นักเรียนมีส่วนร่วมทั้งการจัดการเทคโนโลยีของตนเองจนเป็นข้อตกลงร่วมได้
         การอนุญาตให้ใช้หรือไม่ใช้โทรศัพท์มือถือที่กลับมาเป็นกระแสอีกครั้งนี้ เป็นโอกาสสำคัญมากที่จะช่วยให้คุณครู ผู้บริหารสถานศึกษา รวมถึงผู้ใหญ่ใกล้ตัวเด็กทุกคน ถึงการมีอยู่และจัดการการใช้โทรศัพท์มือถือของนักเรียนและบุตรหลาน ขนาดผู้ใหญ่หลายคนระหว่างทำงานหรือเข้าร่วมประชุมสำคัญยังแอบหยิบขึ้นมาใช้ได้เลย ฉะนั้นการยกเลิกหรือห้ามเด็ก ๆ ใช้ไปเลยโดยที่ไม่ถามไถ่กันอาจไม่สามารถการันตีว่าเป็นผลดีเสมอไปก็ได้

แหล่งอ้างอิง
The Derek Bok Center for Teaching and Learning, Harvard University. (n.d.). Devices in the classroom. Retrieved 15 September, https://bokcenter.harvard.edu/technology-and-student-distraction

Klain, A. (2022, March 22). Cellphones in schools: A huge nuisance and a powerful teaching tool. EducationWeek. https://www.edweek.org/technology/cellphones-in-schools-a-huge-nuisance-and-a-powerful-teaching-tool/2022/03

Lamb, A. (2023, March 13). Do phones belong in school?. The Harvard Gazette. https://news.harvard.edu/gazette/story/2023/03/experts-see-pros-and-cons-to-allowing-cellphones-in-class

Rose, S., & Taylor, J. (2022, June 21). For schools, accepting student mobile phone use may be a better approach than banning them. The Conversation. https://theconversation.com/for-schools-accepting-student-mobile-phone-use-may-be-a-better-approach-than-banning-them-183163

Said, S. (2023, January 4). 4 ways to reduce smartphone distractions. Edutopia. https://www.edutopia.org/article/personal-devices-use-in-the-classroom/


TAG: #มือถือ #โทรศัพท์มือถือ #แท็บเล็ต #เด็กวอกแวก #พฤติกรรมผู้เรียน #หลุดโฟกัส #Multitasking #3แนวทางใช้มือถือในห้องเรียน #การใช้สื่อและเทคโนโลยีในการจัดการเรียนรู้ #การจัดการชั้นเรียน