Knowledge
เมื่อสงสัย จึงใคร่รู้
4 years ago 6293เรียบเรียง: สุรเชษฐ์ ตรรกโชติ Content Developer Cohort 2 Alumni Teach For Thailand
ภาพ: กชกร มั่นคงเจริญกิจ
นวัตกรรม และสิ่งประดิษฐ์ต่างๆ ล้วนเกิดจากความอยากรู้อยากเห็น ความสนใจ การจินตนาการ ความสงสัย การตั้งคำถาม ถึงความเป็นไปได้ของโลกที่จะเปลี่ยนไปเมื่อมีสิ่งเหล่านี้อยู่ และจะเป็นอย่างไรหากเรานำความสดใหม่ของความคิด ความรู้สึก และแรงผลักดันที่จะเปิดบานประตูที่ตอนนี้อาจยังปิดอยู่ในห้องเรียนของเรา จากบทความของ The MATTER ในหัวข้อ “สงสัยในความสงสัย:ทำไมมนุษย์ถึงสนใจใคร่รู้” เกี่ยวกับ ‘ความสงสัย’ มีการอ้างอิงถึงแนวความคิดของ George Loewenstein นักการศึกษา นักจิตวิทยาและนักเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอนได้อธิบายไว้ว่า
“เราจะเกิดความสงสัยขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเรามีสิ่งที่เรียกว่าช่องว่างระหว่างข้อมูล (information gap) โดยความสงสัยเกิดขึ้นจากความต้องการที่จะกระชับช่องว่างของข้อมูลระหว่าง ‘สิ่งที่เรารู้’ กับ ‘สิ่งที่เรายังไม่รู้’ ซึ่งความสงสัยสัยไม่ได้เกิดขึ้นจากความว่างเปล่า หากแต่เราต้องมีความรู้พื้นฐานในเรื่องนั้น ๆ ก่อน”
ถ้าภาพที่เราเห็นคือห้องเรียนที่นักเรียนตั้งคำถามจากความสงสัย และความกระหายที่จะปิดช่องว่างระหว่างข้อมูลของพวกเขา ในฐานะของครูผู้สอน เราจะมีวิธีใดบ้างที่เราจะสามารถสร้างความสงสัยให้เกิดขึ้นแก่นักเรียนในห้องเรียนของเราได้บ้าง หนึ่งในสิ่งที่ครูผู้สอนสามารถทำได้คือการสร้างแรงกระตุ้นความรู้สึกอยากรู้ของนักเรียน และเสริมทัพด้วยการออกแบบกิจกรรมที่นักเรียนได้มีการค้นหาคำตอบด้วยตนเอง โดยมีที่มีครูเป็นผู้สนับสนุนกระบวนการเรียนรู้ที่มีนักเรียนเป็นผู้นำ
ห้องเรียนขี้สงสัย
เมื่อนักเรียนตระหนักถึงช่องว่างของข้อมูลที่พวกเขามีเกี่ยวกับสิ่งที่พวกเขาสนใจ และสิ่งที่พวกเขายังไม่รู้ ความสงสัยจะเกิดขึ้นและเติบโตในช่องว่างนั้น และกลายเป็นแรงผลักดันที่จะก่อร่างเป็นคำถามเพื่อหาคำตอบที่จะนำไปสู่การสร้างองค์ความรู้ใหม่ของนักเรียนแต่ละคน โดยมีแนวทาง 3 อย่างที่จะสามารถนำมาใช้ในห้องเรียนเพื่อสร้างความสงสัย ที่นำมาสู่การเรียนรู้ในลักษณะดังกล่าว
การสอนผ่านการตั้งคำถาม หนึ่งในเทคนิคของการนำนักเรียนในชั้นเรียนคือการนำโดยการเป็นแบบอย่างให้ดู (leading by example) ดังนั้นคำถามแรกของห้องเรียนอาจเริ่มจากการตั้งคำถามของครู เพื่อให้นักเรียนได้คิดเกี่ยวกับประเด็นที่เป็นหัวข้อของการเรียนรู้ในคาบนั้น และนอกเหนือจากการเรียนรู้แบบป้อนความรู้ ครูผู้สอนสามารถสร้างการเรียนรู้แบบ ‘ต้อนความรู้’ คือการถามคำถามที่กระตุ้นความคิดของพวกเขาอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้นักเรียนได้คิด และสร้างวัฒนธรรมของห้องเรียนนักเรียนสามารถตั้งคำถามเพื่อการเรียนรู้ที่มีความหมายสำหรับพวกเขา โดยอีกหนึ่งแง่มุมที่ครูและนักเรียนสามารถก้าวต่อไปร่วมกันได้คือการก้าวเข้าสู่การตั้งคำถามที่มีความลึกซึ้งมากขึ้น และไม่ได้มาจากเพียงความสนใจชั่ววูบ แต่เป็นเรื่องที่ผู้ถามรู้สึกกระหายที่จะค้นพบคำตอบ และตั้งคำถามต่อไป เพราะคำถามในลักษณะดังกล่าวไม่เพียงแต่จะนำมาสู่ความสามารถในการจำชุดข้อมูลได้นานขึ้น แต่ยังนำมาสู่ชีวิตที่มีความสุขมากขึ้นอีกด้วย
การเรียนรู้ผ่านการสะท้อนความคิด เพราะแน่นอนว่าคำถามไม่ได้หมายความถึงเพียงการค้นหาข้อเท็จจริงในหนังสือเล่มหน้า หรือจากหน้าอินเตอร์เน็ต แต่ยังรวมถึงการสำรวจความเป็นมนุษย์ภายในตัวเรา และความเป็นนามธรรมของสิ่งต่างๆ ที่ผูกโยงกับชีวิตของพวกเขาทุกคนอีกด้วย การให้นักเรียนได้สะท้อนความรู้สึก และความคิดออกมาในรูปแบบต่างๆ เกี่ยวกับชุดข้อมูลที่พวกเขาได้มาจากการตั้งคำถาม และเปิดพื้นที่ให้นักเรียนได้แลกเปลี่ยน และรับฟังซึ่งความเป็นมนุษย์ของกันและกัน เป็นก้าวหนึ่งที่จะนำไปสู่การสร้างสังคมของการเรียนรู้ที่เต็มไปด้วยการตั้งคำถาม ไม่ใช้เพียงเพื่อการหาคำตอบที่ถูกต้อง แต่เพื่อการทำความเข้าใจกับสิ่งที่แตกต่างจากชุดความเชื่อที่เราถืออยู่ และตระหนักถึงความกว้างและหลากหลายของความเป็นไปได้บนโลกใบนี้
การเรียนรู้ผ่านการถ่ายทอดความรู้ หนึ่งในหลักฐานการเรียนรู้ที่ชัดเจนที่สุดในห้องเรียน คือการที่นักเรียนสามารถอธิบายเนื้อหานั้นๆ ให้เราฟังด้วยวิธีที่แตกต่างจากที่เราได้สอนเขาไปได้ ก้าวเล็กๆ ไปสู่จุดนั้นคือการให้นักเรียนได้มีการจดบันทึกเป็นประจำเพื่อทบทวนชุดข้อมูลที่พวกเขาได้เรียนรู้ และแน่นอนว่าพวกเขาควรได้เขียนถึงความรู้สึก และความคิดของพวกเขาเกี่ยวกับเรื่องนั้น ๆ โดยในช่วงแรกคุณครูอาจมีการนำเสนอโครงสร้างเพื่อเป็นแนวทางให้กับนักเรียนที่ยังไม่เคยเขียนสรุปการเรียนรู้ แต่ถึงจุดหนึ่งก็อาจจะเปิดพื้นที่ให้พวกเขาได้สร้างสรรค์วีธีการในการเล่าถึงการเรียนรู้ของพวกเขาเอง
การเรียนรู้ผ่านการตั้งคำถามเพื่อการสืบค้น เป็นมากกว่าการถามนักเรียนว่าพวกต้องการจะรู้อะไร แต่ยังรวมถึงกระบวนการเพื่อกระตุ้นกล้ามเนื้อแห่งความอยากรู้เกี่ยวกับสิ่งต่างๆ ของนักเรียน และให้พื้นที่ๆ ความรู้สึกอยากรู้ที่จะแสดงออกมาผ่านการตั้งคำถามได้เติบโตจนนำพวกเขาไปสู่การค้นหาข้อมูล และการสรุปการเรียนรู้ (ที่อาจนำมาสู่คำถามต่อไป) ซึ่งจะเป็นการสร้างนิสัยของการเป็นผู้เรียนรู้ตลอดชีวิตของนักเรียนต่อไป
แหล่งอ้างอิง
(1) “ What the Heck Is Inquiry-Based Learning?” by Heather Wolpert-Gawron, August 11, 2016 retrieved on August 06, 2020 from https://www.edutopia.org/blog/what-heck-inquiry-based-learning-heather-wolpert-gawron
(2) “สงสัยในความสงสัย : ทำไมมนุษย์ถึงสนใจใคร่รู้” – Sy Chonato, The MATTER, December 28, 2017, retrieved on August 06, 2020 from https://thematter.co/thinkers/curious-case-of-curiosity/42547
(3) “ห้องเรียนขี้สงสัย...เปลี่ยน 'ปัญหา' เป็น ‘ปัญญา’” โดย ชุติมา ซุ้นเจริญ, July 30, 2020, retrieved on August 06, 2020 from https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/723