Knowledge
Automata Toys กับโอกาสการเรียนรู้ที่ไม่สิ้นสุด
3 weeks ago 448หากพูดถึงคำว่า Automata ผู้อ่านอาจจะนึกถึงหุ่นยนต์ขนาดใหญ่ที่ขยับขับเคลื่อนได้ด้วยพลังงานบางอย่างในภาพยนตร์แนวไซไฟ (Sci-fi) หรือเป็นจักรกลเวทมนตร์ที่ช่วยเหลือพ่อมดแม่มดในภาพยนตร์แนวแฟนตาซี แต่ในความเป็นจริง Automata นั้นพบได้ในของเล่นใกล้มือลูกหลานของท่านมานานหลายร้อยปีแล้ว และมีพัฒนาการต่อเนื่องมาจนถึงยุคดิจิทัลนี้ ช่วยให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้และทำความรู้จักกลไกเบื้องต้นและแนวคิด STEAM ได้
Automata Toys คืออะไร
Automata Toys หรือ Machine Toys เป็นรูปแบบของเล่นที่สามารถขยับได้เมื่อเปิดกลไกเฉพาะของของเล่นชิ้นนั้น โดยการพัฒนาของเล่นขึ้นมาชิ้นหนึ่งจะต้องอาศัยทักษะการประดิษฐ์ และใช้ความคิดสร้างสรรค์ผ่านเทคนิคกลไกอย่างง่ายและทำให้เกิดการเคลื่อนไหวเป็นแพตเทิร์นซ้ำ ๆ ได้ โดยผสมผสานระหว่างวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะวิศวกรรมศาสตร์และคณิตศาสตร์ รวมทั้งศิลปะเข้าด้วยกัน ทำให้เกิดความสนุกสนานเพลิดเพลินทั้งกับผู้ประดิษฐ์และผู้เล่น
หากสังเกตให้ดี ท่านจะพบว่าคอนเซ็ปต์ของ Automata นั้นยังสามารถพบได้ในของเล่นภูมิปัญญาไทย และสิ่งประดิษฐ์ที่อาจมีติดบ้านของผู้อ่านอยู่ก็เป็นได้ โดยมักเป็นของเล่นที่มีส่วนประกอบเป็นเชือก หนังยาง หรือเกลียวบางอย่าง ที่เมื่อออกแรงหมุน เหวี่ยง หรือดึงแล้ว ของเล่นนั้นก็จะขยับหรือกระทบกันเพื่อส่งเสียงได้ เช่น กังหันลม หุ่นเชิดหนังตะลุง หรือหมูบินตามภาพด้านล่างนี้
เด็ก ๆ ในฐานะผู้ประดิษฐ์ Automata Toys
นอกจากจะเล่นได้สนุกแล้ว การเปิดโอกาสให้เด็ก ๆ ได้ลองมาเป็นนักประดิษฐ์ ก็นับว่าเป็นการสร้างพื้นที่การเรียนรู้ให้กับพวกเขาด้วย โดยคอนเซ็ปต์หนึ่งที่จะขาดไม่ได้ในการพัฒนา Automata Toys ก็คือ STEAM ซึ่งผสานองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ (การสังเกตกลไกจากตัวอย่าง) วิศวกรรมศาสตร์ (การออกแบบกลไกและนวัตกรรม) คณิตศาสตร์ (การปฏิบัติจริงผ่านการวัด-คาดคะเน-คำนวณ) เทคโนโลยี (การดัดแปลงและแก้ปัญหาเฉพาะหน้า) และศิลปะ (การใช้สีสันและอุปกรณ์ต่าง ๆ เพื่อตกแต่งหรือเป็นส่วนหนึ่งของอุปกรณ์เพื่อสร้างความสวยงาม-น่าใช้งาน)
แม้ของเล่นเหล่านี้จะดูซับซ้อนในแนวคิด แต่หากได้ให้เด็ก ๆ โดยเฉพาะในวัยประถมศึกษาขึ้นไปได้ลองทำโดยใช้วัสดุที่หาได้ง่ายใกล้ตัว เช่น กระดาษลัง ไม้ ดินน้ำมัน และสิ่งของเหลือใช้ต่าง ๆ เสริมด้วยจินตนาการสุดล้ำของเด็ก ๆ ย่อมทำให้เกิดเป็นของเล่นติดบ้านที่ช่วยสร้างความเพลิดเพลินในยามว่างของเด็ก ๆ และสมาชิกในครอบครัว นอกจากนี้คุณครูยังสามารถนำกิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของบทเรียนได้ด้วย ทั้งเป็นการประดิษฐ์ชิ้นงาน หรือการเล่าเรื่องผ่านของเล่นเหล่านี้ก็ได้เช่นกัน เช่น การเล่าเรื่อง-ฉากในนิทานที่ชอบ การจำลองสำนวนสุภาษิตไทยที่น่าสนใจ ฯลฯ
หากท่านอยากเรียนรู้หรือทำความรู้จักข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับ Automata Toys ท่านสามารถศึกษาได้ในหัวข้อ การเรียนรู้ STEAM ผ่านสื่อการเรียนรู้ AUTOMATA ในงาน EDUCA 2024 หรือเว็บไซต์ขององค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (NSM)
สนับสนุนโดย NSM Thailand
แหล่งอ้างอิง
พงษ์พรรณ บุญเลิศ. (ม.ป.ป.). ถอดรหัส ‘ของเล่นวิทยาศาสตร์’ สื่อการเรียนรู้สร้างสรรค์นวัตกรรม. เดลินิวส์. https://www.dailynews.co.th/articles/2540830/