Knowledge
เคล็ดลับเปิดประตูหัวใจศิษย์สู่การเรียนรู้ยุคหลังโควิด (Post-COVID Recovery)
2 years ago 2170จิราเจต วิเศษดอนหวาย เรียบเรียง
หลังเผชิญกับการแพร่ระบาดของโควิดมากว่า 2 ปี ในปีนี้มีบางโรงเรียนได้เปิดประตูรั้วให้ครูและนักเรียนกลับคืนสู่ห้องเรียนอีกครั้ง บทสนทนาจากห้องพักครูทั่วโลกต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “พวกเด็ก ๆ ไม่ใช่ลูกศิษย์คนเดิมของพวกเราอีกต่อไป สุขภาพจิต ความสนใจ รูปแบบการเรียนรู้ พฤติกรรม ล้วนแตกต่างจากเดิมอย่างสิ้นเชิง” คำเตือนเหล่านี้ไม่ใช่สิ่งที่น่ากังวลหากคุณครูยังมีหัวใจแห่งการเรียนรู้และพร้อมปรับตัวไปพร้อมกับนักเรียน วันนี้จึงขอชวนครูไทยมาเรียนรู้การถอดบทเรียนเคล็ดลับเปิดประตูหัวใจศิษย์สู่การเรียนรู้ยุคหลังโควิดจากคุณครูทั่วโลก
ครูระดับมัธยมศึกษาตอนปลายในประเทศสหรัฐอเมริกากล่าวว่าเมื่อกลับมาโรงเรียนอีกครั้งนักเรียนบางคนจากที่เคยมีแรงจูงใจในการทำกิจกรรม กลับลดน้อยลง กลัวที่จะพูดและโต้ตอบกันมากขึ้น เก็บตัวมากขึ้น หรือไม่ขอความช่วยเหลือเมื่อเกิดปัญหา อันเป็นผลกระทบจากการความสะเทือนใจช่วงโควิดการระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตของนักเรียนทั่วโลก การถูกตัดขาดทางกายภาพจากเพื่อน ครู และโรงเรียนในทันที จนไปถึงการสูญเสียสมาชิกในครอบครัวหรือการรับรู้ข่าวสถิติการเสียชีวิตในภาพรวม
ผู้เชี่ยวชาญเรื่องนโยบายสุขภาพจิต ชานอนน์ เทย์เลอร์ (Shanon Taylor) อธิบายแนวปฏิบัติเพื่อฟื้นฟูและโอบอุ้มสภาพจิตใจของนักเรียนหลังยุคโควิดซึ่งแยกเป็น 3 ระดับ โดย ระดับที่ 1 คือ บริการรับฟังและให้คำปรึกษาที่นักเรียนทุกคนเข้าถึงเพื่อรับบริการได้โดยทางโรงเรียนอาจจัดอบรมครูหรือนักเรียนที่สามารถเป็นอาสาสมัครรับฟังในระดับพื้นฐาน ระดับที่ 2 คือ โปรแกรมฟื้นฟูสุขภาพจิตรายบุคคลจากผู้เชี่ยวชาญ เช่น จิตแพทย์ นักบำบัด นักเยียวยา และระดับที่ 3 สำหรับนักเรียนที่ได้รับผลกระทบด้านจิตใจอย่างรุนแรง เทย์เลอร์กล่าวทิ้งท้ายว่า สุขภาพจิตของนักเรียนและบุคลากรในโรงเรียนเป็นสิ่งสำคัญ ผู้บริหารควรตระหนักว่าทุกคนต้องการบริการเหล่านี้ และคุณครูต้องรู้จักสังเกตอาการและแนวทางจัดการอย่างเหมาะสม
หากก้าวแรกของการปรับพื้นฐานในการกลับสู่โรงเรียนคือการเยียวยา และมีมาตรการดูแลสุขภาพจิต ก้าวต่อมาคือการ Move on เพื่อฟื้นฟูให้โรงเรียนเป็นพื้นที่เรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ ดังเช่นครูหลายคนก็พบว่านักเรียนบางส่วนมีความสุขที่ได้กลับมาเรียน ครูเหล่านี้ใช้ประโยชน์โดยการปรับชั้นเรียนให้มีขนาดเล็กลงเพื่อปรับปรุงความสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียนและการจัดการห้องเรียน การออกแบบกิจกรรมแบบร่วมมือรวมพลัง (Collaborative learning) จึงเป็นอีกแนวทางที่น่าสนใจ เพื่อต้อนรับลูกศิษย์กลับสู่ห้องเรียน
อีกฟากหนึ่งของโลกอย่างห้องเรียนมัธยมศึกษาตอนต้นในประเทศอินเดีย คุณครูประจำชั้นมีความเห็นไปในทางเดียวกับคุณครูจากอเมริกา โดยรายงานว่าเมื่อนักเรียนกลับมาที่ห้องเรียนอีกครั้งหลังเรียนออนไลน์ต่อเนื่องเป็นเวลานานจะมีความต้องการพบเพื่อนเป็นอย่างมากแต่ในช่วงแรกอาจจะต้องรื้อฟื้น ทบทวนทักษะทางสังคมและรูปแบบการปฏิสัมพันธ์ขึ้นมาใหม่ ดังนั้นการออกแบบการเรียนรู้ที่เน้นการทำงานร่วมกันระหว่างเพื่อนและการมีส่วนร่วมระหว่างนักเรียนข้ามระดับชั้นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง
อีกประเด็นที่น่าสนใจในการจัดการเรียนรู้ในยุคหลังโควิดคือในช่วงที่ผ่านมานักเรียนได้มีโอกาสสัมผัสความเป็นอิสระระหว่างการเรียนรู้ทางไกลด้วยระบบออนไลน์จากที่บ้าน นักเรียนมีสิทธิ์เลือกได้ว่าจะทำงานเมื่อไร ที่ไหน และทำอย่างไรก่อนหลัง ดังนั้น ครูสามารถใช้กุญแจสำคัญนี้ในการเปิดพื้นที่ให้นักเรียนได้ออกแบบ และรับผิดชอบต่อการเรียนรู้ของตนเองไปพร้อมกันได้
อ้างอิง
Stone, J. (2021, October 20). Addressing the trauma experienced by students as a result of the COVID-19 pandemic. Nevada Today. https://www.unr.edu/nevada-today/news/2021/trauma-informed-covid-19-schooling
Wells, T., & Davis, R. (2021, spring). Post-COVID, teachers must deal with students’ shared trauma. Bellarmine Magazine. https://www.bellarmine.edu/magazine/article/magazine-2021/2021/04/23/teachers-in-the-post-covid-classroom-will-have-to-deal-with-students-shared-trauma/
All State Foundation. (2021, April 13). Parents, teachers call for increased social and emotional learning and service-learning in post-covid recovery. https://allstatefoundation.org/parents-teachers-call-for-increased-social-and-emotional-learning-and-service-learning-in-post-covid-recovery/