Knowledge
วิธีการทักทาย “ความเปลี่ยนแปลง” ในชีวิตของเรา
4 years ago 4664เรียบเรียง: สุรเชษฐ์ ตรรกโชติ Content Developer Cohort 2 Alumni Teach For Thailand
ภาพ: กชกร มั่นคงเจริญกิจ
มีคำกล่าวที่ว่าความแน่นอนเดียวในชีวิตของคนเรา คือการเปลี่ยนแปลง และแม้ว่าในชีวิตจะมีบางสิ่งที่เราสามารถควบคุมได้ เช่น การกดรีโมตเพื่อเปลี่ยนช่องโทรทัศน์ แต่ก็มีอีกหลายอย่างที่อยู่นอกเหนือจากการควบคุมของเรา และเราไม่สามารถกดรีโมตเพื่อควบคุมสิ่งเหล่านั้นได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสภาวะปัจจุบันที่ “การเปลี่ยนแปลง” ดูจะกลายเป็นเรื่องปกติใหม่ในสังคม เพราะเรากำลังเผชิญหน้ากับสถานการณ์ที่ไม่ได้มีคำตอบเดียวที่ถูกต้องที่สุด ดังนั้นหนึ่งในทักษะที่อาจเป็นแรงเสริมให้เราสามารถก้าวต่อไปข้างหน้าได้ คือทักษะในการทักทาย “ความเปลี่ยนแปลง” เมื่อความเปลี่ยนแปลงได้เดินเข้ามาทักทายชีวิตของคุณ
ทักทายด้วยอารมณ์ขัน
ความสามารถในการตบมุกหน้าตาย หรือหาจุดที่ทำให้เกิดเสียงหัวเราะได้ในสถานการณ์ที่ค่อนข้างตึงเครียด เป็นหนึ่งในสิ่งที่จะช่วยปัดเป่าความขุ่นมัวออกจากมวลความรู้สึกของผู้คน และเมื่อผู้คนรอบข้างรู้สึกสดใสมากขึ้น คุณเองก็มีแนวโน้มที่จะรู้สึกสดชื่นมากขึ้นด้วย และความรู้สึกที่เป็นบวกมากขึ้นนั้น อาจนำมาสู่การมองปัญหาที่การเปลี่ยนแปลงนั้น ๆ มักจะพามาด้วย ในแง่มุมใหม่ๆ ในการมองความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวอีกด้วย
คุณร็อบ เอ. มาร์ติน นักวิทยาศาสตร์ผู้บุกเบิกงานวิจัยเรื่องอารมณ์ขันได้ค้นพบว่า อารมณ์ขันประเภทที่ช่วยให้บรรยากาศมวลรวมตึงเครียดน้อยลง และผ่อนคลายมากขึ้นคืออารมณ์ขันอย่างชาญฉลาด ที่ผูกโยงกับเรื่องราวที่ผู้คนในการสนทนานั้นรู้จักร่วมกัน อย่างไรก็ตาม คุณมาร์ตินก็ได้กล่าวไว้ว่า ข้อควรระวังของการใช้อารมณ์ขันคือต้องมั่นใจว่า ทุกคนเข้าถึงมันได้ และมันไม่ได้กับลดคุณค่า หรือเกียรติแห่งความเป็นมนุษย์ของใคร กฏเหล็กของการใช้อารมณ์ขันคือ “ความทุกข์ของคนอื่นไม่ใช่เรื่องล้อเล่น แต่ความลำเค็ญของตัวคุณเองนั้น ถ้าสามารถถอดอารมณ์ขันจากมันได้ อาจเป็นบ่อเกิดของอารมณ์ขันชั้นยอด”
ทักทายด้วยการระบุถึงปัญหาที่จับต้องได้ มากกว่าการระบายอารมณ์
มีความเชื่อที่อาจผิดเพี้ยนไปจากความเป็นจริงอยู่ว่า เวลาที่เราเจอกับควาเปลี่ยนแปลงที่ทำให้เรารู้สึกถึงอารมณ์ในทางลบนั้น ให้เราได้สำรวจอารมณ์ดังกล่าวโดยการพูดถึงความรู้สึกของตัวเองบ่อยๆ ซึ่งแท้ที่จริงแล้วการทำอย่างนั้นอาจไม่ได้ผลเสมอไป เพราะงานวิจัยชี้ว่าการพูดความรู้สึกในทางลบบ่อย ๆ ทำให้กระบวนการตามธรรมชาติที่จะช่วยให้เราสามารถปรับตัวเพื่อรับมือกับความรู้สึกนั้นได้ทำงานได้ช้าลง
ในขณะเดียวกันสิ่งที่เราควรทำก็ไม่ใช่การที่เราบอกตัวเองให้ ไม่ต้องไปคิดถึงมัน หรือทนๆ กับความรู้สึกเหล่านั้นไป แต่เป็นการรับรู้กับตัวเองว่าความรู้สึกอะไรที่กำลังมีอิทธิพลกับเราอยู่ในขณะนั้น และมันกำลังมีอิทธิพลกับวิธีการคิดของเรา หรือความสัมพันธ์ของเรากับคนอื่น ๆ อย่างไร จากนั้นลองคิด หรือขอคำปรึกษาเกี่ยวกับสิ่งที่คุณสามารถทำได้ต่อไป และเลือกใช้พลังงานกับสิ่งที่คุณสามารถเปลี่ยนแปลงได้ มากกว่าการคิดถึงสิ่งที่คุณอาจจะยังไม่สามารถเปลี่ยนแปลงมันได้ในขณะนี้ ทักทายความเครียด ด้วยความไม่เครียด
คุณ เคลลี่ แม็คกอนิกัล นักจิตวิทยาจากแสตนฟอร์ดได้ระบุว่า ความเชื่อเกี่ยวกับความเครียดของเรา และการตอบสนองของเราต่อความเครียดนั้นๆ เมื่อเรารู้สึกถึงมัน มีผลต่อการสุขภาพของเรามากกว่าเจ้าความเครียดโดยตรงเสียอีก คุณเคลลี่กล่าวว่า ถ้าเราเชื่อว่าความเครียดมันทำร้ายเราได้ มันก็จะทำร้ายเราได้จริงๆ ในขณะเดียวกันถ้าคุณเชื่อว่าความรู้สึกเครียดเป็นส่วนหนึ่งของแรงที่กำลังช่วยโอบอุ้มคุณในการก้าวข้ามอุปสรรคอะไรบางอย่าง หรือกำลังพาคุณเดินทางผ่านความท้าทาย ชุดความเชื่อนั้นจะส่งผลให้คุณเป็นคนที่ลุกเร็วขึ้นหลังจากการล้ม และอาจทำให้คุณมีชิวิตที่ยืนยาวขึ้นอีกด้วย ดังนั้นแม้แต่ความเครียดเองก็สามารถเป็นสิ่งที่ดีได้ ถ้าเราเลือกที่จัดวางมันไว้ในมุมของสิ่งที่ดี ในกล่องความคิดของเรา
ทักทายด้วยคุณค่าที่เรายึดถือ แทนความกลัวที่เรารู้สึก
คุณค่าที่เรายึดถือคือสิ่งที่จะคอยสะกิดบอกเราอยู่เรื่อยๆ ว่าอะไรที่เป็นสิ่งที่สำคัญกับเรา ณ ชั่วขณะนั้นๆ ของชีวิต เช่น ครอบครัว เพื่อน ความเชื่อทางศาสนา การค้นพ้นทางวิทยาศาสตร์ บทเพลงอันไพเราะ การได้แสดงออกอย่างสร้างสรรค์ ซึ่งสิ่งที่เราให้คุณค่า และมีความสำคัญเหล่านี้เป็นหนึ่งในสิ่งที่จะพาเราผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากซึ่งอาจพบเจอได้ในระหว่างการเปลี่ยนแปลง ที่ในบางแง่มุมอาจเราอาจรู้สึกว่ามันกำลังนำมาซึ่งสถานการณ์ที่ไม่สู้จะเป็นมิตรกับเราขนาดนั้น
ในซีรีส์ของงานวิจัยหลายชุดที่นำทีมโดยคุณ เจฟฟรี โคเฮน และคุณเดวิด เชอร์แมน ที่ใช้เวลาในการศึกษายาวนานกว่าหนึ่งทษวรรษ พบว่าหนึ่งวิธีการที่ได้ผลมากๆ ในการออกกำลังกายสภาพจิตใจของพวกเรา ไม่ว่าคุณจะเป็นคนจากช่วงอายุไหน หรือกำลังถูกทักทายโดยการเปลี่ยนแปลงในรูปแบบใดอยู่ เช่นการต้องย้ายโรงเรียน หรือการต้องเปลี่ยนไปใช้การสอนออนไลน์แทนการสอนแบบเจอหน้ากัน กิจกรรมดังกล่าวคือการให้เวลาตัวเอง 10 นาที ในการเขียนถึง หนึ่งช่วงเวลาที่การยึดถือคุณค่าอย่างหนึ่งของคุณ นำมาซึ่งผลลัพธ์ที่ทำให้คุณรู้สึกดีกับมัน
วิธีการนี้ส่งผลดีเพราะว่าการที่เราได้สะท้อนถึงคุณค่าที่เรายึดถืออยู่ช่วยให้เราวางตัวเองอยู่เหนือสิ่งที่เรากำลังรู้สึกว่ามันเป็นอันตราย และอาจสั่นคลอนเราได้ ณ ขณะนั้น และทำให้เกิดการตระหนักรู้ว่าตัวตนของพวกเราไม่อาจถูกทำลายได้ เพียงเพราะเรากำลังเจอหนึ่งสถานการณ์ที่มีความท้าทาย
ทักทายความแน่นอน การคำบอกลา
ปลายปี 1970 นักวิจัยที่มหาวิทยาลัยชิคาโก นามว่าคุณ ซัลวาทอร์ แมดดิ ได้ทำการวิจัยกับพนักงานของบริษัทแห่งหนึ่ง ในช่วงเวลาหลังจากที่บริษัทดังกล่าวต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงในระดับที่พลิกโฉมหน้าของอุตสาหกรรมที่บริษัทดังกล่าวสังกัดอยู่ และนั่นก็นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงภายในบริษัทมากมาย ผู้จัดการบางคนมีปัญหากับการรับมือสถานการณ์ ในขณะที่บางคนดูจะเติบโตจากสถานการณ์นั้น คำถามของคุณซัลวาทอร์คืออะไรที่ทำให้คนทั้งสองกลุ่มแตกต่างกัน
งานวิจัยดังกล่าวทำให้พบกับคนกลุ่มที่เรียกว่าเป็นผู้นำที่มีมีความสามารถในการปรับตัว (adaptive leader) ซึ่งผู้นำกลุ่มดังกล่าวจะมองทุกๆ การเปลี่ยนแปลง ทั้งที่พึงประสงค์ และไม่พึงประสงค์ ว่าเป็นสิ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้และโอบรับการเปลี่ยนแปลงนั้นในฐานะส่วนหนึ่งของประสบการณ์ในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง และจะไม่มองการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวว่าเป็นความผิดปรกติที่นำมาซึ่งหายนะ และเราคือคนโชคร้ายที่กำลังตกเป็นเหยื่อของสถานการณ์ ทำให้แทนที่ผู้นำกลุ่มดังกล่าวจะรู้สึกว่าพวกเขากำลังถูกโจมตีอย่างต่อเนื่องจากความรันทนของชีวิต และผู้คนร้าย ๆ ที่เขาได้ต้องพบเจอ พวกเขาจะยังคงสามารถเลือกใช้พลังงานไปกับการทำงานที่มีความหมายสำหรับพวกเขา และสามารถมองแสงเห็นโอกาสทั้งในความท้าทายพบเจอ และในการทำงานกับปัญหาที่หยังรากลึก
ในทางกลับกัน คุณแมดดิพบว่าผู้นำที่ระทมทุกข์กับความเปลี่ยนแปลงมักจะถูกครอบงำด้วยความคิดในทำนองว่า “เมื่อก่อนนะ...” และพวกเขาจะใช้พลังงานไปกับการคิดว่าหาคำตอบทำไมพวกเขาถึงโชคร้ายขนาดนั้น และพยายามที่จะกลับไปยังคืนวันอันหอมหวานในความทรงจำ ที่อาจจะไม่ได้มีอยู่บนโลกแห่งความเป็นจริงอีกต่อไป
การทักทายในแต่ละแบบจะต้องอาศัยชุดของทักษะที่ต่างกัน และคุณอาจรู้สึกว่าคุณได้เจอกับวิธีที่เป็นธรรมชาติสำหรับคุณในการทำงานกับความเปลี่ยนแปลงมากกว่าวิธีอื่นๆ แต่ในทุกๆ วิธีที่คุณอาจจะได้ลองนำไปปรับใช้จะมีส่วนที่เป็นหัวใจร่วมกันอยู่หนึ่งอย่าง นั่นคือความสามารถในการ “ยอมรับ” ซึ่งความเปลี่ยนแปลงที่ได้เกิดขึ้นแล้ว และกำลังจะเกิดขึ้นต่อไป
อ้างอิง
How to Get Better at Dealing with Change, Harvard Business Review (2016, September 21) retrieved 2020, May 1 from https://hbr.org/2016/09/how-to-get-better-at-dealing-with-change