Knowledge

มองอเมริกาและเกาหลีใต้ บทเรียนและโอกาสจากการเรียนการสอนแบบออนไลน์

มองอเมริกาและเกาหลีใต้ บทเรียนและโอกาสจากการเรียนการสอนแบบออนไลน์

 3 years ago 4524

เรียบเรียง: ภรณี ลัคนาภิเศรษฐ์ 
แปล: ธนิสรา สุทธานันต์
ภาพ: กชกร มั่นคงเจริญกิจ

          แม้ว่าทั่วโลกจะอยู่กับสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 มาได้สักระยะ ธุรกิจหลายภาคส่วนต้องปรับตัวกันอย่างหนักเพื่อความอยู่รอด ไม่เว้นแม้แต่ภาคการศึกษาที่กระทบนักเรียนหลายล้านคนทั่วโลก ในบ้านเราเองครูไทยก็ต้องปรับตัวไม่แพ้กัน การรู้จักและเข้าใจเด็กยังคงเป็นหัวใจสำคัญก่อนปรับเปลี่ยนการสอนมาสู่ออนไลน์ เหนือสิ่งอื่นใดเรายังคงต้องเรียนรู้จากประเทศอื่นไปด้วย แม้จะแตกต่างในแง่บริบทและวัฒนธรรม แต่งานหลักของครูทั่วโลกล้วนไม่ต่างกัน ทำอย่างไรให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ได้มากที่สุด

จังหวะและรูปแบบของการเรียนรู้ขึ้นอยู่กับนักเรียน ไม่ใช่เทคโนโลยี
          ครูที่ Academy of Thought and Industry (ATI) สถาบันในเครือข่ายโรงเรียนมัธยมต้นที่สอนแบบมอนเตสซอรี ในนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา คุ้นเคยกับการสั่งการบ้านและตรวจงานนักเรียนผ่านช่องทางดิจิทัลอยู่แล้ว การเปลี่ยนผ่านสู่การเรียนแบบออนไลน์จึงเป็นไปอย่างราบรื่น แต่ ATI มีเป้าหมายที่จะพัฒนานักเรียนในเรื่องตัวตน งานที่เป็นอิสระ และความพยายาม ซึ่งเป็นสิ่งที่เรียนรู้ได้เมื่อได้สัมผัสด้วยตนเองเท่านั้น แล้วโรงเรียนจะพัฒนาสิ่งเหล่านี้ในตัวนักเรียนได้อย่างไร เมื่อไม่มีการปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคลเลย วิธีการแก้ปัญหาของทางโรงเรียนคือ จัดให้มีการพูดคุยให้คำแนะนำแบบตัวต่อตัวทางโทรศัพท์
          John Bosselman ผู้อำนวยการฝ่ายการสอนที่ Latitude High School ก็พูดคุยกับนักการศึกษาคนอื่นๆ เพื่อเรียนรู้ และวางแผนสำหรับโรงเรียนของเขา ทางโรงเรียนมีการใช้ระบบการจัดการเรียนรู้ที่สร้างขึ้นมาสำหรับการเรียนรู้ด้วยโครงงาน หรือที่เรียกว่า Headrush อยู่แล้ว แต่สิ่งที่เขาใส่ใจมากกว่าคือ การพยายามรักษาจังหวะ และรูปแบบของการเรียนการสอนในแต่ละวัน เพื่อเปิดโอกาสให้นักเรียนได้พูดคุย อภิปราย และทำงานร่วมกัน รวมไปถึงการคงไว้ซึ่งกระบวนการในการติดต่อสื่อสารแบบพื้นฐานด้วย
          การศึกษาเกี่ยวข้องกับปัจจัย 4 อย่าง ได้แก่ วัฒนธรรม โครงสร้าง เวลา และเทคโนโลยี Bosselman อธิบายว่า เรามีวัฒนธรรมและโครงสร้างอยู่แล้ว แต่ตอนนี้เราต้องใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี และใช้เวลาในรูปแบบที่แตกต่างออกไป
          ที่ Fannie Lou Hamer Freedom High School โรงเรียนรัฐในนิวยอร์ก ครูใหญ่ Palladino สามารถรับมือกับปัญหาและความวุ่นวายต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้เป็นอย่างดี โรงเรียนแห่งนี้ใช้ Google Classroom อยู่แล้ว ครูเองก็ได้รับแนวทางการดำเนินการที่ดีที่สุด และวางแผนกันว่าจะติดต่อนักเรียนประมาณ 3 ครั้งต่อสัปดาห์ ส่วนเรื่องการให้คำปรึกษากับนักเรียน ซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญในโรงเรียนก็จะยังคงมีอยู่ในรูปแบบ Video Conference

ดูแลเรื่องความเป็นอยู่ที่ดีของนักเรียนและครู คือสิ่งสำคัญที่สุด
          ที่ Millennium School โรงเรียนมัธยมต้นเอกชนในซานฟรานซิสโก จัดให้นักเรียนฝึกสมาธิทุกวัน โดย Newton Martin ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติงาน และครูเองต่างก็คอยดูแลไม่ให้มีนักเรียนคนไหนถูกทอดทิ้งในสถานการณ์นี้ นอกจากนี้ยังจัดประชุมออนไลน์ เพื่อหาสมดุลระหว่างโลกออนไลน์กับออฟไลน์ และวิธีการจัดการกับกระแสข่าวต่างๆ โดยเฉพาะ โรงเรียนได้ส่งแบบสำรวจไปยังครอบครัวของนักเรียนเพื่อขอคำแนะนำต่างๆ และยังจัดตารางการออกกำลังกายแบบ Isometric ไว้ให้นักเรียนด้วย
          Bosselman มองว่าสถานการณ์นี้เป็นวิกฤตการณ์ว่าด้วยการดำรงชีวิต หากเราต้องการดูแลนักเรียนของเราให้ดี เราก็ต้องดูแลครูให้ดีก่อน และต้องไม่ลืมว่า นักเรียนเองก็มีประสบการณ์ที่บ้านแตกต่างกันออกไป บางคนอาจต้องช่วยดูแลพี่น้องด้วย และนั่นก็อาจทำให้เกิดช่องว่างทางการเรียนรู้ที่มากขึ้น

การเรียนรู้ออนไลน์เหมาะกับนักเรียนที่คุ้นเคยกับการทำงานด้วยตนเอง แต่อาจเป็นข้อจำกัดในการเรียนรู้สำหรับทุกคน
          ครูส่วนใหญ่มีความกังวลถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการสอนแบบออนไลน์ โดยเฉพาะความสัมพันธ์ระหว่างนักเรียนและครู และระดับการมีส่วนร่วมในการเรียนรู้ของนักเรียนเอง Fannie Lou Hamer Freedom High School จึงปรับรูปแบบการเรียนการสอนตามระดับการมีส่วนร่วมของนักเรียน ส่วนที่ Millennium School ก็จัดทัศนศึกษาเสมือนจริง หรือการสร้างประสบการณ์ให้เหมือนกับการไปเยี่ยมชมสถานที่จริงขึ้นมา แต่นักเรียนจะตอบรับต่อการเรียนการสอนแบบนี้อย่างไรในระยะยาว การนำเสนอชิ้นงานกับครูและเพื่อนๆ ผ่านช่องทางออนไลน์จะมีผลอย่างไรต่อความมั่นใจ การส่งงาน การสร้างคุณลักษณะและคุณสมบัติต่างๆ ผ่านการเรียนรูปแบบนี้จะเป็นอย่างไร ล้วนเป็นคำถามที่โรงเรียนเองก็กำลังถามตัวเองอยู่เช่นกัน
          ข้ามมาดูที่ฝั่งเอเชีย ในประเทศเกาหลีใต้กันบ้าง ครูระดับม.3 และ ม.6 ต่างก็ต้องสอนออนไลน์ ผ่าน Google Classroom และ Zoom สำหรับปีการศึกษาใหม่นี้ จริงๆ แล้วควรจะเริ่มต้นตั้งแต่ 2 มีนาคม แต่ก็มีความล่าช้าไปประมาณ 5 สัปดาห์เป็นอย่างน้อย เนื่องจากความวิตกว่าจะเกิดการติดเชื้อครั้งใหญ่ขึ้นในโรงเรียน ทางเกาหลีใต้เองยังวางแผนไว้ว่า จะขยายการสอนแบบออนไลน์ให้ครอบคลุมทั้งระดับประถม มัธยมต้น และมัธยมปลายอีกด้วย
          โรงเรียนที่นี่สามารถเลือกรูปแบบการเรียนการสอนแบบออนไลน์ได้ทั้งหมด 3 แบบ ได้แก่

  1. การเรียนการสอนแบบ Real Time ผ่านการใช้ Video Conference
  2. การเรียนการสอนตามเนื้อหาสาระ โดยการใช้วิดีโอที่โรงเรียนเป็นผู้ผลิตเอง
  3. การเรียนการสอนโดยอาศัยงานที่ได้รับมอบหมายเป็นฐาน ซึ่งนักเรียนจะต้องทำงานโครงงานหรือรายงานต่างๆ ด้วยตนเอง

มองให้เห็นโอกาส ท่ามกลางวิกฤตที่เกิดขึ้น
          วิกฤตการณ์ในครั้งนี้ทำให้โรงเรียน และนักเรียนหันมาให้ความสำคัญกับครอบครัว และสุขภาวะส่วนบุคคลมากขึ้น โรงเรียนหลายแห่งในสหรัฐอเมริกายกเลิกการทดสอบตามมาตรฐานต่างๆ โรงเรียนในบ้านเราอาจปรับรูปแบบการเรียนการสอนที่เน้นให้คำแนะนำ มาใช้แทนการเรียนการสอนที่เน้นการประเมินผลมากขึ้นได้
สิ่งที่ครูทุกคนกำลังทำอยู่ตอนนี้อาจไม่ใช่อะไรอื่น นอกจากการสร้างมาตรฐานชุดใหม่สำหรับการเรียนรู้ตลอดชีวิตนอกรั้วโรงเรียน ซึ่งเป็นสิ่งที่เราล้วนอยากปลูกฝังให้เกิดขึ้นในตัวทุกคน ไม่เฉพาะเด็กเท่านั้น อุปสรรคและความท้าทายต่างๆ ในขณะนี้ทำให้เกิดโอกาสในการออกแบบประสบการณ์การเรียนรู้ รวมถึงระบบการจัดการใหม่ๆ ซึ่งอาจจะอยู่กับเราต่อไปนานกว่าวิกฤติกำลังเผชิญอยู่ในตอนนี้ก็เป็นได้

อ้างอิง
Fasso, G. I. (2020, April 6). Innovative Schools Find Lessons - and Opportunities - in Remote Learning - EdSurge News. Retrieved April 9, 2020, from https://www.edsurge.com/news/2020-04-06-innovative-schools-find-lessons-and-opportunities-in-remote-learning

Choon, C. M. (2020, April 9). South Korea students begin online learning in late start to academic year; Covid-19 cases lowest in 7 weeks. Retrieved April 10, 2020, from https://www.straitstimes.com/asia/east-asia/south-korea-students-begin-online-learning-in-late-start-to-academic-year-covid-19


TAG: #โควิด19 #COVID19 #การเรียนออนไลน์ #โรคระบาดใหญ่ #สอนออนไลน์ #การจัดการเรียนการสอนออนไลน์ #ห้องเรียนในศตวรรษที่ 21 #ทักษะในศตวรรษที่21 #การจัดการเรียนการสอนต่างประเทศ