Knowledge

ใครอยากเป็น “ผู้ช่วยครู” ยกมือขึ้น

ใครอยากเป็น “ผู้ช่วยครู” ยกมือขึ้น

 3 years ago 8213

เรียบเรียงโดย อาทิตยา ไสยพร

          เมื่อโรงเรียนมีประกาศเลื่อนเปิดเทอม ช่วงเวลาการเรียนออนไลน์ของนักเรียนยาวนานขึ้น ทำให้คุณครูกับนักเรียนนั้นมีห่างเหินกันไม่ใช่น้อยเลยใช่ไหมคะ บางครั้งสอนอยู่ก็ดูเหมือนว่าคุณครูจะพูดอยู่คนเดียว หลายครั้งก็ต้องถามนักเรียนว่ายังอยู่กับครูไหมเอ่ย จะดีกว่าไหมที่เราจะสร้างกิจกรรมออนไลน์ให้นักเรียนเป็นผู้ช่วยของเราเพื่อที่จะได้เป็นส่วนหนึ่งในการเรียนการสอนออนไลน์นี้มากขึ้น ตำแหน่งที่ว่านั้นก็คือ “ผู้ช่วยครู” นั่นเอง

ผู้ช่วยครู คืออะไร
          ผู้ช่วยครู คือ นักเรียนในชั้นที่เป็นผู้ช่วยในการประสานงานตลอดจนการอธิบายขอบเขตของงานต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นวัตถุประสงค์ เป้าหมายของงาน รวมไปถึงการอำนวยความสะดวกในการพูดคุยการตอบคำถามข้อสงสัย และสร้างบรรยากาศภายในการพูดคุยให้มีความสนุกสนาน มี 4 อย่างคร่าว ๆ ในการเป็น “ผู้ช่วยครู” คือ
1) สื่อสารกับผู้อื่นได้
2) นำเสนอสื่อได้
3) มีปฏิสัมพันธ์กับผู้ร่วมชั้นเรียน
4) ทำงานประสานงานเป็นทีมได้

ผู้ช่วยครู มีหน้าที่อะไรบ้าง
          มีหน้าที่ช่วยเช็กผู้เข้าร่วมพร้อมบอกกฎระเบียบต่าง ๆ ภายในชั้นเรียน ส่งเอกสารประกอบการทำกิจกรรมภายในห้องเรียน มากไปกว่านั้นยังสามารถช่วยในเรื่องของการจัดกิจกรรมตอบคำถามภายในชั้นเรียน อำนวยความสะดวกในการจัดการเรียนในห้องเรียน ไม่ว่าจะเป็นการแนะนำการใช้สื่อเทคโนโลยี ทั้งเครื่องมือในการเรียนการสอนออนไลน์ รวมถึงการคิดกิจกรรมที่จะทำร่วมกันภายในชั้นเรียนของเรา

การผลัดกันเป็น “ผู้ช่วยครู” ช่วยพัฒนาทักษะของนักเรียนได้อย่างไร
          การเป็น “ผู้ช่วยครู” นั้นช่วยเสริมสร้างให้นักเรียนฝึกการเป็นผู้นำชั้นเรียนร่วมกับคุณครู ซึ่งครูสามารถสร้างกระบวนการนี้ภายในคาบการเรียนการสอนออนไลน์ได้ง่าย ๆ โดยการสร้างเวรประจำวันให้นักเรียนนั้นสลับกันทำหน้าที่ผู้ช่วยครู โดยผู้ทำหน้าที่ก่อน จะเป็นผู้แนะนำหน้าที่ และอธิบายให้กับผู้ทำหน้าที่ในวันต่อไป โดยสามารถผลัดเปลี่ยนกันทำหน้าที่รายวันหรือรายอาทิตย์เพื่อฝึกทักษะการวางแผน การปฏิสัมพันธ์การสื่อสารในชั้นเรียน เมื่อนักเรียนในชั้นเรียนได้ทำหน้าที่ “ผู้ช่วยครู” นั้นจะช่วยพัฒนาทักษะหลาย ๆ ด้าน ทั้งการพูด การฟัง ที่ต้องฟังงานที่คุณครูมอบหมายให้เข้าใจเพื่อนำไปอธิบายให้คนในชั้นเรียนฟังอย่างเข้าใจ ฟังปัญหาที่เพื่อน ๆ ประสบไม่ว่าจะเป็นปัญหาอินเทอร์เน็ต มีคำถามข้อสงสัยที่ต้องการสอบถามคุณครู ยิ่งไปกว่านั้นยังช่วยในเรื่องของการฝึกแก้ปัญหาเฉพาะหน้าพร้อมฝึกความรับผิดชอบต่อหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายอีกด้วย

          ในการเรียนการสอนออนไลน์นั้น เราสามารถสร้างห้องเรียนที่เสมือนในห้องเรียนจริงได้ เพียงคุณครูหากระบวนการหรือกิจกรรมให้นักเรียนรู้สึกมีส่วนร่วม การเป็น “ผู้ช่วยครู” นั้นเป็นสิ่งที่ทำหน้าที่ช่วยให้นักเรียนได้ฝึกทักษะและทำให้เกิดกิจกรรมการจัดการชั้นเรียนที่ไม่แตกต่างจากห้องเรียนจริง คุณครูสามารถนำไปปรับใช้กับห้องเรียนพร้อมบูรณาการให้เหมาะสมกับวัยของนักเรียนของตน เลือกหน้าที่ให้เขาได้รับผิดชอบสมกับช่วงวัย ก็จะสร้างการเรียนรู้จากการฝึกปฏิบัติจริง และมอบพลังการเรียนรู้ด้วยตนเอง และความรับผิดชอบแก่นักเรียนของเรา

แหล่งอ้างอิง
sansana. (2553).วิทยากรใจถึง ตอนที่ 3 . 19 พฤษภาคม 2564,จาก http://sansanasiri.blogspot.com/2010/04/3.html

การสนทนากลุ่ม (Focus group). (2561).การสนทนากลุ่ม (Focus group) . 19 พฤษภาคม 2564,จาก https://page.hrteamwork.com/knowledge/focus-group/


TAG: #การจัดการเรียนการสอนออนไลน์ #สอนออนไลน์ #การจัดการเรียนการสอน #โควิด19 #COVID19 #โรคระบาดใหญ่ #ผู้ช่วยครู #การออกแบบการจัดการเรียนรู้ #ทักษะการฟัง #ทักษะในศตวรรษที่21 #กิจกรรมการจัดการชั้นเรียน #ห้องเรียนในศตวรรษที่ 21