Knowledge

5 วิธีจาก UNICEF เพื่อให้การเรียนรู้ของเด็ก ๆ ยังคงไปต่อได้  ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด 19

5 วิธีจาก UNICEF เพื่อให้การเรียนรู้ของเด็ก ๆ ยังคงไปต่อได้ ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด 19

 4 years ago 3400

แปลและเรียบเรียงโดย สุรเชษฐ์ ตรรกโชติ
Content Developer Cohort 2 Alumni Teach For Thailand
ภาพ: กชกร มั่นคงเจริญกิจ

การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 (COVID-19) ได้ทำให้วิถึชีวิตของหลายครอบครัวทั่วโลกเปลี่ยนแปลงไป ไม่ว่าจะเป็นจากการที่โรงเรียนปิดตัวลง การทำงานที่บ้าน หรือการเว้นระยะห่างทางสังคม ทำให้ช่วงนี้เป็นช่วงที่เราอาจมีหลายเรื่องให้ต้องคิด โดยเฉพาะสำหรับผู้ปกครอง คุณโรเบิร์ต เจนคินส์ หัวหน้าฝ่ายการศึกษาของ UNICEF จึงได้แบ่งปันเคล็ดลับที่จะช่วยให้การเรียนรู้ของนักเรียนยังคงเกิดขึ้นได้ระหว่างที่พวกเขาอยู่ที่บ้าน

1. ออกแบบกิจวัตรประจำวันด้วยกัน
คุณเจนคินส์แนะนำว่าให้ลองสร้างตารางการเรียนรู้ที่เหมาะกับช่วงอายุของเด็กๆ ในครอบครัวของคุณ สำหรับการเรียนรู้ผ่านช่องทางออนไลน์ ทางโทรทัศน์ หรือจากสถานีวิทยุท้องถิ่น และควรคิดถึงการแบ่งเวลาให้กับการเล่น และการอ่านหนังสือด้วย อีกทั้งเรายังสามารถมองหาโอกาสที่จะทำให้กิจกรรมธรรมดาๆ ในแต่ละวันเป็นจุดเริ่มต้นของการเรียนรู้ให้กับเด็กๆ ในบ้านได้ด้วย และถ้าเป็นไปได้ เราควรให้เด็กๆ ได้มีส่วนร่วมในการสร้างตารางการเรียนรู้ดังกล่าวด้วย

ในขณะที่การสร้างตารางของกิจวัตรประวันจะมีความสำคัญมากๆ สำหรับเด็ก แต่ในขณะเดียวกันความยืดหยุ่นในการทำสิ่งต่างๆ ก็มีความสำคัญกับพวกเขาเช่นกัน เช่นถ้าเกิดว่าการนั่งเรียนหน้าจอนานๆ ทำให้เด็กเริ่มรู้สึกเครียด และหงุดหงิด สิ่งที่เราสามารถทำได้คืออาจให้พวกเขาได้เปลี่ยนไปสู่กิจกรรมที่พวกเขาได้ขยับร่างกายมากขึ้น ซึ่งก็อาจจะนำมาสู่การเรียนรู้ได้เช่นเดียวกัน เช่นการทำความสะอาดหรือกิจวัตรอื่นๆ ในบ้านร่วมกันก็สามารถเป็นการฝึกให้พวกเขาได้ควบคุมสมอง และร่างกายที่นำไปสู่การเติบโตของพวกเขาได้ หัวใจสำคัญคือการพยายามตั้งคำถาม และรับฟังอยู่เสมอ ว่าอะไรคือสิ่งที่พวกเขากำลังต้องการ

2. พูดคุยกันอย่างเปิดเผย
สร้างพื้นที่ที่เด็กจะสามารถถามคำถาม และแสดงความรู้สึกของพวกเขาต่อสิ่งต่างๆ ได้ หนึ่งในสิ่งที่เราต้องคิดอยู่เสมอคือเด็กจะมีวิธีการแสดงออก เพื่อรับมือกับความเครียดที่แตกต่างกัน ดังนั้นสิ่งที่เราควรทำคืออดทน และแสดงถึงความต้องการที่จะทำความเข้าใจการแสดงออกเหล่านั้น เราอาจะเริ่มได้โดยการชวนให้เด็กพูดคุยถึงสิ่งที่กำลังกวนใจพวกเขาอยู่ ลองดูว่าพวกเขากำลังมองเห็นอะไร และตามสิ่งเหล่านั้นไปในระหว่างการสนทนา และสร้างบรรยากาศที่ทำให้เด็กไม่รู้สึกกลัวที่จะพูด หรือสื่อสารออกมาอย่างมีอิสระ การทำกิจกรรมอื่นๆ เช่นการวาดภาพ ก็อาจเป็นสิ่งที่ช่วยในการสร้างบรรยากาศดังกล่าว

พยายามอย่าทำให้เรื่องที่เด็กกำลังกังวล เป็นเรื่องเล็กน้อย หรือหลีกเลี่ยงสิ่งเหล่านั้น เราต้องรับฟังอย่างตั้งใจ มีสติอยู่กับพวกเขาอย่างเต็มที่ และแสดงออกว่าเรารับรู้ถึงความรู้สึกต่างๆ และสื่อสารออกไปว่ามันเป็นธรรมชาติที่เราจะรู้สึกไม่ดีกับอะไรบางอย่าง และพูดคุยกับพวกเขาเพื่อให้พวกเขาสบายใจที่เล่าความรู้สึกต่างๆ ให้กับผู้ปกครอง หรือคุณครูฟัง เมื่อไหร่ก็ตามที่ความรู้สึก หรือความคิดเหล่านั้นเริ่มก่อตัวขึ้น รวมถึงแนะนำเรื่องการเลือกเสพข้อมูลจากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ เพื่อลดความกังวลจากข่าวเท็จต่างๆ

3. ค่อยเป็นค่อยไป
ในการเรียน เราควรเริ่มจากการเริ่มเรียนในระยะเวลาสั้นๆ ก่อนที่จะค่อยขยายช่วงเวลาดังกล่าวให้ยาวขึ้น ถ้าเป้าหมายของเราคือการให้เรียนต่อเนื่องได้ 30 หรือ 45 นาที เราต้องเริ่มจากการให้พวกเขามีสมาธิกับการเรียน 10 นาทีให้ได้ก่อน แล้วค่อยพัฒนาต่อยอดจากจุดนั้น และในการเรียนรู้หนึ่งครั้ง พยายามผสมผสานระหว่างช่วงเวลาที่เด็กๆ จะต้องอยู่กับหน้าจอ และเวลาที่พวกเขาจะได้ทำกิจกรรมอื่นๆ ที่พาพวกเขาออกจากหน้าจอด้วย

4. ปกป้องพวกเขาในโลกออนไลน์
พื้นที่ออนไลน์นั้นนำมาซึ่งโอกาสในการเรียนรู้มากมาย และยังเป็นพื้นที่ที่พวกเขาจะได้เล่น และติดต่อสื่อสารกับเพื่อนๆ แต่การเข้าถึงสิ่งต่างๆ ในโลกออนไลน์ที่ง่ายขึ้น ก็นำมาซึ่งความเสี่ยงที่สูงขึ้นด้วยเช่นกัน เราจึงควรพูดคุยกับเด็กๆ เกี่ยวกับการใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อให้พวกเขาเข้าใจว่ามันทำงานอย่างไร และมีอะไรที่พวกเขาควรระวังในการใช้งาน รวมถึงพฤติกรรมที่เหมาะสมในพื้นที่ออนไลน์ต่างๆ เช่นการปรากฏตัวในการพูดคุยกันผ่านทางวิดีโอ เป็นต้น

สร้างกฏหรือข้อตกลงร่วมกันเกี่ยวกับวิธีการ สถานที่ และช่วงเวลาที่เด็กๆ จะใช้อินเทอร์เน็ต และติดตั้งระบบควบคุมดูแลโดยผู้ปกครอง (parental controls) ในอุปกรณ์สื่อสารของพวกเขาเพื่อลดความเสี่ยง โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กเล็ก และใช้เวลาร่วมกันเพื่อมองหาสื่อออนไลน์เพื่อความผ่อนคลายที่มีความเหมาะสม และสามารถศึกษาสื่อจากองค์กรเช่น Common Sense Media ซึ่งให้คำแนะนำเกี่ยวกับ application ที่เหมาะสมกับแต่ละช่วงวัย รวมไปถึงเกมส์ และสื่อเพื่อความบันเทิงอื่นๆ และเราจะสามารถรับมือกับการเจอสื่อที่ไม่เหมาะสม ไปจนถึงการถูกล่วงละเมิดออนไลน์ ได้อย่างทันท่วงทีมากขึ้น ถ้าเราคุ้นเคยกับบุคลากรของโรงเรียน หรือหน่วยงานในท้องถิ่นอื่นๆ ที่เราสามารถร้องเรียนเรื่องดังกล่าวได้ รวมถึงเราสามารถบันทึกเบอร์สายด่วนที่มีหน้าที่ดูแลเรื่องดังกล่าวไว้สำหรับกรณีฉุกเฉิน และคำนึงอยู่เสมอว่าเด็กๆ ไม่ควรจะที่ต้องแชร์ข้อมูลส่วนตัว หรือรูปภาพของพวกเขาเพื่อการเข้าถึงพื้นที่การเรียนรู้ออนไลน์

5. ติดต่อกับโรงเรียนและคุณครูอย่างสม่ำเสมอ
หากวิธีที่จะสามารถติดต่อสื่อสารกับทั้งทางโรงเรียน และคุณครูผู้สอนเพื่อให้เราได้รับข้อมูลที่สดใหม่อยู่เสมอ และเพื่อเปิดช่องทางที่เราจะสามารถถามคำถามเกี่ยวกับแนวทางการเรียนรู้ของลูกๆ การมีกลุ่มของผู้ปกครองในสถานการณ์ตอนนี้ก็เป็นหนึ่งในสิ่งที่สามารถทำให้เกิดการสนับสนุนซึ่งกันและกันในช่วงที่การเรียนรู้จะยังคงเกิดขึ้นต่อไปในแต่ละครอบครัว

อ้างอิง:
5 ways to help keep children learning during the COVID-19 pandemic. (n.d.). Retrieved May 18, 2020, from https://www.unicef.org/coronavirus/5-tips-help-keep-children-learning-during-covid-19-pandemic

Free Educational Apps, Games, and Websites. (1970, January 1). Retrieved May 18, 2020, from https://www.commonsensemedia.org/lists/free-educational-apps-games-and-websites


TAG: #การจัดการเรียนรู้ #โควิด19 #โรคระบาดใหญ่ #COVID19 #สอนออนไลน์ #การจัดการเรียนการสอนออนไลน์ #ห้องเรียนในศตวรรษที่ 21 #ทักษะในศตวรรษที่21