Knowledge

ประเมินออนไลน์ไม่อ่อนแรง ชวนคุณครูลองใช้การประเมินการปฏิบัติ (Performance Assessment)

ประเมินออนไลน์ไม่อ่อนแรง ชวนคุณครูลองใช้การประเมินการปฏิบัติ (Performance Assessment)

 3 years ago 6556

เรียบเรียงโดย จิราเจต วิเศษดอนหวาย

         การวัดและประเมินผู้เรียนมีความความท้าทายอย่างมาก ในช่วงเวลาการแพร่ระบาดของโควิด-19 คำถามสำคัญคือจะออกแบบการวัดและประเมินให้มีประสิทธิภาพอย่างไร ภายใต้ข้อจำกัดของมาตรการล็อกดาวน์ วันนี้จะพาผู้อ่านไปพบกับอีกหนึ่งคำตอบที่จะเป็นตัวเลือกที่มีประโยชน์สำหรับคุณครู นั่นคือการใช้รูปแบบการวัดและประเมินด้วย “การประเมินการปฏิบัติ (Performance Assessment)”

         ในหนังสือการประเมินการปฏิบัติ : แนวคิดสู่การปฏิบัติ ของผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กฤธยากาญจน์ โตพิทักษ์ อธิบายถึงการประเมินการปฏิบัติไว้ว่า “เป็นกระบวนการรวบรวมข้อมูลการปฏิบัติของผู้เรียน ครอบคลุมทั้ง “ผลงาน” หรือ “กระบวนการ” ที่เป็นทั้งการใช้การเคลื่อนไหวทางร่างกาย ร่วมกับความสามารถทางสมองหรือจิตใจ โดยให้ผู้เรียนแสดงออกด้านทักษะหรือสมรรถนะในการสร้างสรรค์ผลงาน หรือวิธีปฏิบัติงาน” จากคำนิยามดังกล่าวอาจช่วยเปิดมุมมองต่อการประเมินที่แตกต่างจากการประเมินแบบดั้งเดิม และช่วยให้เราสามารถสร้างสรรค์หรือมองเห็นความเป็นไปได้ที่จะประเมินการเรียนรู้นักเรียนตามข้อจำกัดของสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งการจัดการเรียนการสอนส่วนใหญ่อยู่ในรูปแบบออนไลน์ ในส่วนของการประยุกต์ แนวคิดการออกแบบประเมินการปฏิบัติร่วมกับการเรียนออนไลน์

         รศ.ดร.ส.วาสนา ประวาลพฤกษ์ ได้เสนอแนวทางที่น่าสนใจไว้หลายประเด็น เช่น การทดสอบวางแผนก่อนลงมือปฏิบัติงาน (paper and pencil performance) การวัดทักษะปฏิบัติ (Identification test) การทดสอบในสถานการณ์จำลอง (Simulated performance) การปฏิบัติการณ์ในสภาพจริง (Authentic performance) เป็นต้น ซึ่งครูต้องอาศัยเทคนิคต่าง ๆ ในการประเมินผู้เรียนมากกว่าปกติ เช่น ครูต้องเรียนรู้วิธีสัมภาษณ์เพื่อให้ได้แนวคิดของผู้เรียนเพิ่มเติม ให้ความสำคัญกับการตรวจสอบการบันทึกผลการปฏิบัติกิจกรรม ทำความเข้าใจผลการประเมินตนเองของผู้เรียน ตัวอย่างการนำประเมินการปฏิบัติแบบออนไลน์ไปใช้จริง เช่น การวัดประเมินผลด้านทักษะการอ่านของผู้เรียน ครูอาจมอบหมายงานให้นักเรียนออกแบบกิจกรรมการอ่านที่ตนเองสนใจ และบันทึกการวางแผนและเตรียมตัวอ่านในแพลตฟอร์มออนไลน์หรือสมุดบันทึก จากนั้นให้นักเรียนเริ่มอ่านสิ่งที่ตนเองเลือกจนจบ แล้วครูจึงสัมภาษณ์ผู้เรียนเกี่ยวกับสิ่งที่ได้อ่าน เพื่อให้ผู้เรียนได้สะท้อนตนเอง ว่าเรารู้สึกเห็นด้วยหรือไม่เห็นกับเรื่องที่อ่าน อ่านแล้วเข้าใจว่าอย่างไร หรืออ่านแล้วจะเอาไปใช้ประโยชน์อะไรได้บ้าง นอกจากการประเมินการปฏิบัติจะเป็นตัวเลือกที่ดีสำหรับการวัดและประเมินผลที่มีความยืดหยุ่นสำหรับครูและนักเรียนที่มีข้อจำกัดในการเข้าถึงเทคโนโลยี หรือไม่สามารถทำการวัดผลผ่านระบบคอมพิวเตอร์หรือออนไลน์ได้ทั้งหมด และยังเป็นทางออกสำหรับคุณครูและนักเรียนที่ต้องการนำวิถีชีวิตเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการวัดและประเมินการเรียนรู้ เพื่อให้นักเรียนนำความรู้ ทักษะ และสมรรถนะไปประยุกต์ใช้ในชีวิตจริง

          บทความนี้เป็นเพียงการจุดประกายเล็ก ๆ เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงในด้านการวัดและประเมินเท่านั้น การลงมือทำและความตั้งใจจริงของครูไทยต่างหากที่จะช่วยสร้างอนาคตที่สดใสของนักเรียนได้อย่างแท้จริง

แหล่งอ้างอิง
กฤธยากาญจน์ โตพิทักษ์. (2560 เมษายน 3). การออกแบบและการพัฒนาเครื่องมือการวัดการปฏิบัติ. เข้าถึงเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม, 2564 จาก http://www.watpon.in.th/journal/performa2.pdf

The Editors. (2019 February 06). What Is Performance Assessment?. Retrieved July 29, 2021 from https://www.edweek.org/teaching-learning/what-is-performance-assessment/2019/02


TAG: #การประเมินการปฏิบัติ #Performance Assessment #การวัดและประเมินผล #Assessment #ทักษะในศตวรรษที่21 #ห้องเรียนในศตวรรษที่21 #สอนออนไลน์ #การจัดการเรียนการสอนออนไลน์ #การประเมินตามสภาพจริง #โรคระบาดใหญ่ #COVID19 #โควิด19