Knowledge

3 แนวทาง สอนทักษะในศตวรรษที่ 21 ในห้องเรียนออนไลน์

3 แนวทาง สอนทักษะในศตวรรษที่ 21 ในห้องเรียนออนไลน์

 4 years ago 9370

แปล และเรียบเรียง: ภรณี ลัคนาภิเศรษฐ์ 
ภาพ: กชกร มั่นคงเจริญกิจ

          สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสทำให้ทักษะในศตวรรษที่ 21 มีความสำคัญกว่าที่เคยเป็นมา ขณะที่เรากำลังเผชิญกับอนาคตที่คาดเดาไม่ได้ ยิ่งทำให้เราต้องฝึกฝนทักษะการแก้ปัญหาและการคิดเชิงนวัตกรรมมากยิ่งขึ้น เห็นได้ชัดว่า การทำงานร่วมกัน ความคิดสร้างสรรค์ ไม่ได้เป็นเพียงแค่ Soft Skill อีกต่อไป แต่ทักษะเหล่านี้จำเป็นต่อสังคมของเราในการปรับตัวไปสู่ความท้าทายใหม่ๆ แต่เมื่อโรงเรียนปิด ครูพบหน้านักเรียนได้ผ่านออนไลน์ ทำอย่างไรเราจึงจะพัฒนาทักษะสำคัญเหล่านี้ต่อไปได้ ฟังดูเหมือนไม่น่าเชื่อ แต่ครูยังสามารถสอนเรื่องนี้ได้ไม่ต่างกัน ไม่ว่าจะในห้องเรียนจริงหรือห้องเรียนออนไลน์ แม้ว่าวิธีการและเครื่องมืออาจจะต้องเปลี่ยนแปลงไปก็ตาม

1. ให้งานที่มีความหมาย
          สถานการณ์โลกมีแต่เรื่องท้าทายทักษะคนยุคใหม่ตลอดเวลา นักเรียนของเราก็ต้องการมีส่วนร่วมกับงานที่มีความหมายมากกว่าที่เคยเป็น โจทย์ง่ายๆ ที่ครูเคยให้ ประเภทการทดสอบความจำ ไม่ได้ทำให้พวกเขามีส่วนร่วม หรือมีกระบวนการคิดที่ลึกซึ้งขึ้น งานที่ซับซ้อนและมีความหมาย ทำให้นักเรียนมีโอกาสได้ฝึกทักษะการคิดเชิงวิเคราะห์ และผลักดันให้นักเรียนมีความรู้และความคิดที่ลึกซึ้งขึ้น
          ลองนึกถึงสิ่งรอบตัวเรา หรือใครก็ได้ที่มีอิทธิพลกับเรามากที่สุด ปัญหาอะไรที่นักเรียนสามารถแก้ไขได้ จะเห็นได้ว่ามีประเด็นให้คิด ให้ต่อยอดได้มากมาย ลองดูว่าประเด็นเหล่านี้จะช่วยให้นักเรียนเชื่อมโยงกับโลกแห่งความเป็นจริงได้อย่างไรบ้าง
          การจัดการเรียนรู้แบบใช้โครงงานเป็นฐาน (Project-based learning) เป็นอีกหนึ่งรูปแบบการเรียนรู้ที่เปิดโอกาสให้นักเรียนมีส่วนร่วมกับงานที่มีความหมาย ที่น่าสนใจคือ การจัดการเรียนรู้รูปแบบนี้สามารถปรับให้เข้ากับการเรียนออนไลน์ได้ไม่ยาก

2. ใช้เทคโนโลยีสร้างทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21
          การเรียนออนไลน์ทำให้เราได้ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน แต่ครูต้องระวังว่า เทคโนโลยีเป็นเพียงเครื่องมือช่วยสร้างทักษะให้กับนักเรียน มากกว่าจะเป็นเครื่องมือทดแทนการสอนของครู เมื่อครูพิจารณาแล้วว่า ทักษะในศตวรรษที่ 21 อะไรบ้างที่นักเรียนจำเป็นต้องมี เพื่อให้พวกเขามีส่วนร่วมกับงานที่มีความหมายที่ครูได้วางไว้ ขั้นตอนต่อไป ครูต้องดูว่าเครื่องมือไหนบ้างที่จะช่วยพัฒนาทักษะเหล่านี้ให้นักเรียนได้

ทักษะ เครื่องมือออนไลน์
การทำงานร่วมกัน Google Docs, Google Slides, Zoom และ Trello
การพูดสื่อสาร Flipgrid ใช้อัดเสียงขณะนำเสนองาน Zoom ใช้บันทึกการสัมภาษณ์กับผู้เชี่ยวชาญหรือผู้ใช้อื่นๆ YouTube หรือ Screencast ใช้บันทึกการพูดหรือการอธิบายของ นักเรียน
การเขียนสื่อสาร Wordpress สำหรับเขียนบล็อก Google docs มีฟังก์ชั่นการเขียนคอมเมนต์เพื่อให้ข้อเสนอแนะ Piktochart ใช้สร้าง infographic
ความคิดสร้างสรรค์ Note.ly Stickies สำหรับการระดมสมอง หาไอเดีย Canva ใช้ออกแบบเทมเพลตและงานดิจิทัล

 

3. สอนและประเมินทักษะอย่างชัดเจน
ครูจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบผสมผสาน (Blended-learning) เพื่อจำลองและฝึกทักษะในศตวรรษที่ 21 แก่นักเรียนตามบริบทที่ให้ การอภิปรายแบบกลุ่มซ้อน (Fishbowl) สามารถปรับใช้ได้ไม่ยากกับการเรียนออนไลน์ โดยให้ครูอัดวิดีโอนักเรียนกลุ่มเล็ก เพื่อให้นักเรียนคนอื่นได้ดู หรือใช้วิธีการนี้ผ่าน Zoom ก็ได้ โดยสร้างกลุ่มเล็กๆ ขึ้นมา
นักเรียนวิเคราะห์แบบจำลองทักษะในศตวรรษที่ 21 และสังเกตงานของนักเรียนด้วยตนเอง นี่คือการเรียนการสอนที่ครูและนักเรียนไม่ต้องพบกันตามตารางเวลา แต่เป็นกิจวัตรที่นักเรียนจะต้องนำเสนอความคิดที่อยู่ในหัวออกมาเป็นรูปธรรม (Visible Thinking Routines)
นักเรียนสะท้อนการเรียนรู้ทักษะในศตวรรษที่ 21 ผ่านผลงานและการรู้คิด อย่างสม่ำเสมอ
ข้อเสนอแนะจากครูว่านักเรียนพัฒนาทักษะในศตวรรษที่ 21 จากโครงงานที่ได้รับมอบหมายในแต่ละสัปดาห์อย่างไรบ้าง เพื่อให้พวกเขานำข้อเสนอแนะมาใช้พัฒนาทักษะเหล่านั้นต่อไป

 

อ้างอิง
Jennifer Pieratt. (2020, March 31). 3 PRACTICES TO TEACH 21ST CENTURY SKILLS IN A VIRTUAL CLASSROOM. Retrieved April 10,2020 from https://www.teachingchannel.com/blog/teach-virtual-classroom?utm_source=newsletter20200404/


TAG: #ทักษะในศตวรรษที่21 #Soft Skill #ทักษะการคิดวิเคราะห์ #โครงงานเป็นฐาน #ทักษะการสื่อสาร #ทักษะการทำงานร่วมกัน #การเรียนออนไลน์ #โควิด19 #COVID19 #การใช้สื่อและเทคโนโลยีในการจัดการเรียนรู้ #โรคระบาดใหญ่ #การจัดการเรียนการสอนต่างประเทศ