Knowledge
วิธีการเรียนรู้ของเด็กในยุคดิจิทัล...เสริมสร้างและรักษาสมดุล
4 years ago 6756แปล และเรียบเรียง: นูรียะ ยูโซะ
ภาพ: กชกร มั่นคงเจริญกิจ
จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลให้หลายโรงเรียนต้องเลื่อนเปิดเทอมภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2563 จากวันที่ 16 พฤษภาคม เป็นวันที่ 1 กรกฎาคม จึงทำให้เด็กๆ ต้องใช้เวลาอยู่ที่บ้านนานขึ้น ขณะเดียวกันผู้ปกครองบางท่านก็ต้องทำงานจากที่บ้าน หรือ Work from home ฉะนั้น ผู้ปกครองส่วนใหญ่มักปล่อยให้เด็กๆ อยู่กับหน้าจอ หรือสื่อออนไลน์ อาทิ โทรทัศน์ คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ หรือแท็บเล็ต โดยใช้เป็นเครื่องมือรับมือลูกๆ เมื่อต้องอยู่ร่วมกัน จึงนำมาสู่การตั้งข้อสังเกตว่า แท้จริงแล้วเครื่องมือเหล่านี้เหมาะสมกับเด็กจริงหรือ และสามารถใช้เพื่อสร้างการเรียนรู้ที่มีประสิทธิผลได้อย่างไร
1) ผลเสียที่คาดไม่ถึง หากใช้สื่อออนไลน์มากเกินไป
จากงานวิจัยของวารสาร JAMA Pediatrics ซึ่งเป็นวารสารด้านกุมารเวชศาสตร์ สมาคมแพทย์อเมริกัน เผยแพร่เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2020 ออกมาเตือนให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง พึงระวังผลกระทบจากการที่ปล่อยให้เด็ก โดยเฉพาะเด็กเล็กใช้เวลาอยู่หน้าจอมากกว่าเดิม โดยผลวิเคราะห์ชี้ชัดว่า ถึงแม้สื่อออนไลน์จะสามารถช่วยเสริมทักษะทางด้านภาษาของเด็กได้จริง แต่การใช้สื่อออนไลน์ที่มากเกินไปก็จะทำให้ทักษะทางด้านภาษาของเด็กลดลงเช่นกัน ทางด้านเชรี แมดิแกน นักวิจัยหลักแห่งมหาวิทยาลัยคาลการี ประเทศแคนาดา ได้แสดงความคิดเห็นว่า แม้ในว่างานวิจัยดังกล่าวไม่ได้ระบุระยะเวลาที่แน่ชัดว่านานเท่าไรที่จะถือว่านานมากพอสำหรับการเรียนรู้ของเด็กในแต่ละช่วงวัยก็ตาม แต่สิ่งสำคัญคือการที่ครูและผู้ปกครองมีความเข้าใจตรงกันว่า การปล่อยให้เด็กอยู่กับหน้าจอที่นานเกินไปจะไม่ช่วยเสริมทักษะของเด็ก ข้อค้นพบจากงานวิจัยนี้พบว่า แนวโน้มที่เด็กใช้เวลาอยู่หน้าจอเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะการที่รัฐบาลประกาศปิดโรงเรียนส่งผลให้เด็กหลายล้านคนต้องหันมาเรียนผ่านสื่อออนไลน์
2) เด็กเล็กออนไลน์ไม่เกิน 1 ชั่วโมง โดยมีผู้ปกครองดูแล
เมื่อปี 2016 สถาบันกุมารเวชศาสตร์แห่งอเมริกาได้แนะนำไว้ว่า เด็กอายุระหว่าง 2-5 ปี ควรใช้สื่อออนไลน์ โดยมีผู้ปกครองคอยกำกับและอธิบายเพื่อให้เด็กเข้าใจเนื้อหานั้นๆ และเด็กไม่ควรใช้เวลาเกิน 1 ชั่วโมงต่อวัน ในการเรียนรู้ผ่านโปรแกรมออนไลน์ต่าง ๆ เช่นเดียวกันกับ รศ.ดร.ศศิลักษณ์ ขยันกิจ อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่แสดงความเห็นกับเรื่องนี้ว่า การเรียนการสอนสำหรับเด็กปฐมวัย การปล่อยให้เด็กใช้แท็บเล็ตมากเกินไปอาจไม่ใช่วิธีการที่เหมาะสมเสมอไป ดังนั้นเมื่อเด็กต้องอยู่ที่บ้าน ครูควรสื่อสารตารางเรียน/ตารางชีวิตให้กับผู้ปกครองโดยวางแนวทางกิจกรรมของเด็กตั้งแต่วันจันทร์-ศุกร์ และให้ผู้ปกครองเตรียมอุปกรณ์ให้เด็กลงมือทำกิจกรรมนั้นเอง โดยมีผู้ปกครองดูแล หรือบางกรณีครูอาจอัดคลิปเป็นนิทานเพื่อเสริมจินตนาการให้กับเด็ก
3) 6 ขวบขึ้นไป ดูแลอย่างใกล้ชิด สมดุลทั้งทางกายและออนไลน์
สำหรับเด็กอายุ 6 ปีขึ้นไป สถาบันกุมารเวชศาสตร์แห่งอเมริกาไม่ได้กำหนดเวลาที่เด็กควรอยู่หน้าจอนานเท่าใด แต่แนะนำว่าครูและผู้ปกครองควรกำหนดเวลาสูงสุดเองโดยไม่กระทบต่อกิจกรรมที่เสริมทักษะของเด็กวัยนี้ อาทิ การพักผ่อนและการออกกำลังกาย เช่นเดียวกับ ผศ.ดร.ยศวีร์ สายฟ้า อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่กล่าวถึงการจัดการเรียนรู้ของเด็กระดับประถมศึกษาตอนต้น หรือช่วงวัย 6 - 9 ขวบ ที่ต้องเปิดโอกาสให้เขาได้เคลื่อนไหวร่างกาย เล่นกลางแจ้งให้มากกว่าการเล่นผ่านหน้าจอหรือเทคโนโลยี และสิ่งที่สำคัญสำหรับเด็กระดับปฐมวัยและประถมศึกษาก็คือ ครู และผู้ปกครองต้องรักษาสมดุลในการใช้เทคโนโลยีกับการเคลื่อนไหวทางร่างกาย ส่วนเด็กประถมศึกษาตอนปลาย ซึ่งถือว่าเป็นวัยที่มีทักษะการเรียนรู้ที่มากขึ้น เขาสามารถเรียนรู้สื่อและอุปกรณ์ต่างๆ ได้ โดยปัจจุบันมีช่องต่าง ๆ ให้เลือกเพื่อใช้เสริมทักษะมากมาย แต่ทว่าต้องอาศัยผู้ปกครองในการเลือกสรรให้เหมาะสมกับการเสริมพัฒนาการและทักษะของเด็กด้วย โดย อ.ยศวีร์ ยังเสริมอีกว่า การพัฒนาทักษะสำหรับเด็กเล็กพบว่า หากเด็กใช้เวลากับหน้าจอมากเกินไป จะทำให้เด็กสูญเสียโอกาสในการพัฒนาทักษะด้านอื่นๆ ที่สำคัญ โดยเฉพาะทักษะทางสังคม อารมณ์และจิตใจ ซึ่งอุปกรณ์และเทคโนโลยีต่างๆ ไม่สามารถช่วยหรือทดแทนได้ ดังนั้นเด็กต้องเรียนรู้ทักษะเหล่านี้ด้วยตัวเอง
ดังนั้น หากผู้ปกครองต้องรับมือกับเด็กๆ ในช่วงปิดภาคเรียนอันแสนยาวนี้ ควรคำนึงถึงความเหมาะสมและสมดุลระหว่างการใช้สื่อเทคโนโลยีและการทำกิจกรรมภายใต้การดูแลของท่าน ทั้งนี้ ทางภาครัฐอาจต้องหันมาขบคิดถึงข้อพึงตระหนักจากการใช้เครื่องมือ และเทคโนโลยีออนไลน์อย่างไร ให้เกิดความสมดุลเพราะทักษะบางประการสิ่งเหล่านี้ก็ไม่สามารถเสริมหรือทดแทนได้ การเปิดโอกาสให้เขาได้เรียนรู้อย่างพอเหมาะพอควรกับช่วงวัยจึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการเรียนรู้ของเด็กในยุคดิจิทัล
อ้างอิง
Sarah D. Sparks. (2020, March 23). New Warnings on Screen Time, as Students Nationwide Move to E-Learning. Retrieved April 10, 2020, from https://mobile.edweek.org/c.jsp?cid=25920011&item=http://api.edweek.org/v1/blog/65/index.html?uuid=80371&cmp=eml-enl-eu-news1&M=59189411&U=910456&UUID=d647909de6f1aa144d995da872daca49
ETC - Chulalongkorn University. (2020, April 1st). การจัดการเรียนรู้ให้บรรลุเป้าหมายภายใต้ข้อจำกัดของสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโรค COVID-19. Retrieved April 10, 2020, from https://www.facebook.com/EtcCommunity/videos/517760608903370