Knowledge
เข้าใจนักเรียนของเรา เอาใจใส่ให้ดี...เมื่อต้องเรียนออนไลน์
3 years ago 8249เรียบเรียงโดย สุรศักดิ์ แซ่ลิ้ม
การสอบเข้าศึกษาต่อในระดับมัธยมศึกษาปีที่ 1 และ 4 และการเปิดภาคเรียนที่ 1 ของปีการศึกษาต่อไปผ่านมาสักระยะแล้ว เด็ก ๆ จำนวนหนึ่งคงยังจำการกรำศึกหนักทั้งร่างกาย และจิตใจที่ผ่านมาได้ดี เพราะต้องอ่านเพื่อเตรียมสอบเข้า และเรียนต่อในรูปแบบออนไลน์ แม้ว่าในปีการศึกษานี้จะเลื่อนวันเปิดเทอมไปเป็นวันที่ 1 มิถุนายน แต่สำหรับเด็กที่ต้องเตรียมสอบเข้า พวกเขาจะได้ปิดเทอมไม่ถึง 1 เดือน ด้วยสภาวะโรคระบาดโควิด - 19 ระลอก 3 ที่ยังน่าเป็นห่วงส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจของนักเรียนของพวกเรามาก เพราะพวกเขาชั้นต้องพบเจอกับการเรียนออนไลน์มากกว่า 1 ปี ในวันนี้ขอพาท่านผู้อ่านไปเรียนรู้ผลกระทบของการเรียนออนไลน์ที่ส่งผลต่อสภาพจิตใจของนักเรียน และงานวิจัยที่ได้ศึกษาเกี่ยวกับเรื่องนี้กัน
ในทางทฤษฏี เรารู้กันดีอยู่แล้วว่าผลกระทบของการเรียนออนไลน์ทั้งด้านร่างกายและสภาพจิตใจมีอะไรบ้าง แต่ในทางปฏิบัติแล้วผลกระทบนั้นลึกซึ้ง และอาจรุนแรงยิ่งกว่าที่เราคิด เรามาดูงานวิจัยชิ้นแรกกัน งานวิจัยชิ้นนี้ได้ศึกษาเกี่ยวกับผลกระทบของการเรียนทางไกลต่อสภาพจิตใจในสภาวะโรคระบาดโควิด - 19 โดยได้ศึกษานักศึกษาระดับปริญญาตรีจำนวน 557 คนผ่านแบบสำรวจออนไลน์ พบว่า นักเรียนมากกว่าร้อยละ 85.8 พบว่ามีความวิตกกังวล โดยส่วนใหญ่จะเป็นความวิตกกังวลระดับต่ำ (ร้อยละ 63.3) และเน้นย้ำว่าการเรียนออนไลน์เป็นรูปแบบการเรียนที่ต้องอาศัยการเตรียมตัวล่วงหน้าและต้องจัดให้สามารถยืดหยุ่นได้ ส่วนนักเรียนต้องใช้ความพยายามมากขึ้นในการเรียน
งานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งจากประเทศอินโดนีเซียได้ศึกษาถึงผลกระทบทางจิตวิทยาต่อนักเรียนจากการเรียนออนไลน์ในสภาวะโรคระบาดโควิด - 19 โดยคัดเลือกนักเรียนจำนวน 30 คน ผ่านวิธีการทางปรากฎการณ์วิทยา (phenomenology) เพื่อนำประสบการณ์จากการเรียนออนไลน์ของผู้เข้าร่วมงานวิจัยมาวิเคราะห์หาผลกระทบที่แท้จริง ซึ่งพบว่า นักเรียนจะรู้สึกสนุก และตื่นตัวจากการเรียนออนไลน์เพียงแค่ 1 อาทิตย์แรกเท่านั้น หลังจากนั้นนักเรียนจะรู้สึกเบื่อ และจะทำให้สภาพจิตใจแย่ลง เพราะว่าขาดการปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคล และจะก่อให้เกิดภาวะวิตกกังวล และไม่สามารถบริหารจัดการชีวิตตัวเองได้ เนื่องจากขาดแรงจูงใจในการเรียน ในขณะเดียวกัน งานวิจัยยังพบอีกว่า นักเรียนยังมีความผิดปกติทางอารมณ์ (Emotional disorder) จากการเรียนออนไลน์เพียงแค่ 2 อาทิตย์ เพราะนักเรียนรู้สึกว่าภาระงานจากการเรียนออนไลน์มากเกินไป และขาดความช่วยเหลือจากเพื่อน นักเรียนยังคงรู้สึกว่าอาจารย์ไม่สามารถควบคุมปริมาณภาระงาน และคัดสรรวิธีการสอนที่มีประสิทธิภาพได้ สภาพแวดล้อมต่าง ๆ ไม่เอื้อให้นักเรียนอยากเรียนเพราะขาดการสื่อสารทางวัจนภาษา และอวัจนาภาษา งานวิจัยชิ้นนี้ได้ทิ้งท้ายไว้ว่า การเรียนออนไลน์ส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจของนักเรียนอย่างมาก ครอบครัว โรงเรียน และอาจารย์จำเป็นต้องเอาใจใส่อย่างใกล้ชิด เพื่อให้ผลกระทบนี้ทุเลาเบาบางลงไปได้บ้าง
ข้อเท็จจริงจากงานวิจัยดังกล่าวสามารถกล่าวได้ว่า การเรียนออนไลน์เป็นการเรียนแบบผิดปกติวิสัย กล่าวคือ การนั่งเรียนออนไลน์เป็นเวลานานไม่ใช่สิ่งที่นักเรียนทั่วไปสามารถทำได้ หรือยึดเป็นกิจวัตรประจำวันเป็นเวลาหลายเดือน เพราะสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้เกิดการเรียนรู้มากที่สุด คือสภาพแวดล้อมแบบเจอหน้ากัน (face-to-face) ซึ่งจะช่วยให้นักเรียนมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนนักเรียน และครู และจะกระตุ้นให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ของนักเรียนได้ดีกว่า รวมไปถึงก่อให้เกิดผลกระทบเชิงบวกต่อสภาพจิตใจ เพราะนักเรียนสามารถพูดคุยกับเพื่อนนักเรียน และครูได้ และไม่ได้ถูกทิ้งไว้ให้อยู่แต่หน้าจอเป็นเวลาหลายชั่วโมงติดต่อกันเพียงตัวคนเดียว
ในสภาวะที่เราไม่สามารถจัดการเรียนรู้แบบเดิมผ่านรูปแบบออนไลน์ได้ เพราะสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ นั้นไม่เหมือนกันโดยสิ้นเชิง การคำนึงถึงผลกระทบทางร่างกาย และจิตใจถือเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งในช่วงเวลานี้ เพราะครู และนักเรียนต่างต้องปรับตัวกับสภาพแวดล้อมแบบใหม่ อย่างไรก็ตาม การเรียนออนไลน์ไม่สามารถทดแทนการเรียนในห้องได้ทั้งหมด การจัดการเรียนการสอนออนไลน์ให้สามารถบรรลุวัตถุประสงค์การเรียนรู้ในแต่ละคาบ รักษาความรู้สึก และปฏิสัมพันธ์ในการเรียนรู้ได้เหมือนกับในห้องเรียนถือว่าเป็นการบ้านชิ้นใหญ่สำหรับครูว่าจะต้องจัดเตรียมอย่างไร ซึ่ง EDUCA จะพาท่านผู้อ่านไปศึกษาเกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอนออนไลน์ให้น่าสนใจ ผ่านตัวอย่างจากโรงเรียนต่าง ๆ รอบโลกกันในโอกาสต่อไป
แหล่งอ้างอิง
https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC7784617/ Remote learning and students’ mental health during the Covid-19 pandemic: A mixed-method enquiry (สืบค้นเมื่อ 8 พ.ค. 2564)
https://www.researchgate.net/publication/341826008_Psychological_Impacts_of_Students_on_Online_Learning_During_the_Pandemic_COVID-19 Psychological Impacts of Students on Online Learning During the Pandemic COVID-19 (สืบค้นเมื่อ 12 พ.ค. 2564)