Knowledge

การสอนภาษาอังกฤษอย่างสร้างสรรค์ด้วยเทคโนโลยี

การสอนภาษาอังกฤษอย่างสร้างสรรค์ด้วยเทคโนโลยี

 2 years ago 10296

จิราพร เณรธรณี

          การเรียนการสอนภาษาอังกฤษในปัจจุบันมีความน่าสนใจมากขึ้น เมื่อครูนำเทคโนโลยี  มาสร้างสรรค์เป็นกิจกรรมการเรียนรู้ มีหลายไอเดียที่ครูสามารถสร้างสรรค์ขึ้นมาใช้ทั้งในและนอกเวลาเรียน เนื่องจากเทคโนโลยีได้เข้ามาช่วยเปิดกว้างทางการเรียนรู้ได้ทุกที่และทุกเวลา อีกทั้งยังสะดวกและรวดเร็วอีกด้วย ครูอาจจะใช้แอปพลิเคชันและโปรแกรมมาเป็นตัวช่วยกระตุ้นความสนใจของผู้เรียนได้เช่นกัน

เทคนิคการนำเทคโนโลยีมาเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ
          เมื่อพูดถึงการเรียนภาษา ผู้เขียนนึกถึงทักษะการสื่อสาร ซึ่งเป็นทักษะชีวิต (life skill) ที่สำคัญในการใช้ชีวิตประจำวัน และการเรียนการสอนภาษาจึงมีหลักการ หรือกระบวนการในแต่ละทักษะ ซึ่งครูสร้างสรรค์กิจกรรมได้โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการสอน โดยแบ่งตามทักษะ ดังนี้

1.การฟัง (listening) การสอนฟังควรมี subtitle ในช่วงแรกสำหรับการเริ่มต้นฟัง เนื่องจากผู้เรียนจะได้เห็นรูปของคำศัพท์พร้อมกับการออกเสียงของคำศัพท์นั้น ๆ ซึ่งทักษะการฟังก็จะเชื่อมโยงกับการออกเสียง (pronunciation) ด้วย การสอนทักษะการฟังมีช่องทางหลากหลายในอินเทอร์เน็ตด้วย เช่น YouTube, ภาพยนตร์, Podcasts ฯลฯ โดยการฝึกฟังด้วยหูฟังจะช่วยให้ผู้เรียนรับรู้เสียงได้ดีกว่าลำโพง สำหรับการสอนฟังควรมีทั้งการฝึกฟังในห้องและฝึกฟังด้วยตนเองนอกเวลาเรียน ยกตัวอย่าง การเปิดคลิป cut scenes ของภาพยนตร์ แล้วให้ผู้เรียนฟัง จากนั้นครูถามผู้เรียนว่า สามารถจับใจความได้ไหม แล้วใจความคืออะไร โดยครั้งแรกยังไม่คาดหวังว่าจะต้องตอบได้ แล้วเปิดคลิปอีกครั้ง จากนั้นครูก็ถามคำถามเช่นเดิม สุดท้ายเปิดคลิปพร้อม subtitle เพื่อเป็นการพิสูจน์คำตอบ

2. การพูด (speaking) การพูดอาจจะมีสื่อประกอบหรือไม่มีก็ได้ แต่การมีสื่อประกอบจะทำให้การพูดมีความน่าสนใจและผู้ฟังเข้าใจมากขึ้น โดยสื่อที่นิยมใช้คือ สื่อนำเสนอ PowerPoint อย่างไรก็ตามในปัจจุบันยังมีโปรแกรมที่ใช้สร้างสรรค์สื่อที่สะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น เพราะมีเทมเพลต (template) ให้ผู้ใช้งานเลือกใช้ได้ตามความเหมสะสม อาทิ Canva เคล็ดลับคือการไม่ใช้ตัวอักษรเยอะเกินไป ควรเน้นเป็นกราฟิกที่เข้าใจง่ายและเกี่ยวข้องกับสิ่งที่พูด นอกจากนี้ แอปพลิเคชันที่ช่วยฝึกทักษะการพูดจะช่วยให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ทักษะเหล่านั้นด้วยตนเองผ่านอุปกรณ์สื่อสารต่าง ๆ โดยครูอาจใช้แอปพลิเคชันฝึกทักษะการพูดเป็นแบบฝึกหัดการเรียนรู้ก็ได้เช่นกัน อาทิ แอปพลิเคชัน Cake จะเป็นการฝึกพูดผ่านคลิปสั้น ๆ โดยจะมี AI ช่วยดูเรื่องการออกเสียงคำด้วย

3. การอ่าน (reading) การสอนทักษะการอ่าน  เริ่มแรกครูควรให้ผู้เรียนสามารถเลือกอ่านตามความสนใจ รวมทั้งสามารถเลือกอ่านหนังสือตามระดับที่เหมาะสมกับตนเอง เพื่อช่วยให้เข้าใจระดับการใช้ภาษามากขึ้น ซึ่งครูจะมอบหมายให้ผู้เรียนอ่านนอกเวลาเรียน ในปัจจุบันมีหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (e-book) ที่ทำให้ผู้เรียนอ่านหนังสือได้ทุกที่ทุกเวลาและไม่ต้องแบกหนังสืออีกด้วย ซึ่งอาจจะมีฟีเจอร์พิเศษที่ทำให้ผู้เรียนสนุกกับการอ่านมากกว่าอ่านหนังสือเป็นเล่ม หลังจากการอ่าน ครูอาจมีเกม หรือแบบฝึกหัดเพื่อฝึกทักษะการคิดของผู้เรียนหลังจากอ่านเสร็จเพื่อเกิดการต่อยอดความคิดเป็น “องค์ความรู้ใหม่”

4. การเขียน (writing) การสอนทักษะการเขียนควรเริ่มจากระดับคำ วลี ประโยค ย่อหน้า และเรียงความ ครูสามารถนำเทคโนโลยีมาช่วยในการสอนให้มีความสนุกมากขึ้น ยกตัวอย่าง การนำ Padlet ซึ่งเปรียบเสมือนกระดานหน้าห้องเรียน ที่ผู้เรียนแต่ละคนสามารถเขียนข้อความลงไปได้และผู้เรียนคนอื่นก็สามารถเห็นข้อความนั้น ๆ ได้ด้วย แต่ความพิเศษของ Padlet คือ มีเนื้อที่การสร้างสรรค์เนื้อหาไม่จำกัด แม้ว่าในห้องเรียนจะมีจำนวนนักเรียนที่มากก็ตาม อีกทั้งครูสามารถเข้าไปให้ผลตอบกลับ (feedback) ผู้เรียนแต่ละคนได้ด้วย ผู้เรียนก็จะเกิดการเรียนรู้จากการผิดพลาดทั้งของตนเองและของเพื่อน จึงเกิดการเรียนรู้ที่เอื้ออาศัยซึ่งกันและกัน

ตัวอย่างกิจกรรมที่นำเทคโนโลยีเข้ามาสร้างสรรค์เป็นกิจกรรมการเรียนรู้
          นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมที่ครูสามารถนำไปปรับใช้ได้ในห้องเรียน ซึ่งแต่ละกิจกรรมจำเป็นต้องใช้ “เทคโนโลยี” เป็นตัวช่วยสำคัญที่ทำให้การเรียนรู้สะดวก สนุก และสร้างสรรค์มากขึ้น ดังกิจกรรมตัวอย่างต่อไปนี้

Minute to Vlog It เป็นกิจกรรมที่เป็นที่นิยมในยุคปัจจุบัน เพราะไม่ว่าจะครูหรือผู้เรียนก็สามารถที่จะเป็น vlogger ได้ ซึ่ง vlog หรือ video blog ก็คือ การบันทึกและตัดต่อเรื่องราวต่าง ๆ รวมทั้งความคิดและประสบการณ์ผ่านกล้องแล้วเผยแพร่ไปสู่ผู้อื่นกิจกรรมนี้ครูควรให้เวลาผู้เรียนในการตัดต่อวิดีโอ จึงควรมอบหมายให้ทำนอกเวลาเรียน โดยครูสามารถกำหนดขอบเขต หรือธีม (theme) การนำเสนอของผู้เรียน แล้วนำวิดีโอ vlog ขนาดสั้นมานำเสนอในห้องเรียน สิ่งสำคัญคือผลตอบกลับทั้งของครูและเพื่อนร่วมชั้น รวมทั้งการอภิปรายร่วมกันในห้อง ที่จะทำให้การเรียนรู้มีประสิทธิภาพสูงสุด

Hop-On, Hop-off เป็นกิจกรรมบทบาทสมมุติ ที่ให้ผู้เรียนกลุ่มหนึ่งเป็นไกด์นำเที่ยวมีหน้าที่นำเสนอสถานที่ท่องเที่ยว และผู้เรียนอีกกลุ่มหนึ่งเป็นนักท่องเที่ยว กิจกรรมนี้ผู้เรียนจะได้ฝึกการพูดนำเสนอและยังได้ฝึกการเขียนและใช้เทคโนโลยีผ่านการจัดทำสื่อประกอบการพูดต่าง ๆ เช่น แผ่นพับประกอบการเดินทาง วิดีโอขนาดสั้น แผนที่การเดินทาง ฯลฯ กิจกรรมนี้จะเห็นว่าเทคโนโลยีในการจัดทำสื่อทำให้การพูดนำเสนอมีความน่าสนใจและช่วยดึงความสนใจของนักท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี ผู้เรียนสามารถนำโปรแกรมและแอปพลิเคชันมาใช้ในการสร้างสรรค์สื่อประกอบได้อย่างอิสระ

          การสอนภาษาโดยนำเทคโนโลยีมาเป็นตัวช่วยสำคัญในการเรียนการสอนจะช่วยให้การเรียนรู้มีความสนุกสนาน และเปิดกว้างทางการเรียนรู้มากขึ้น การฝึกฝนทักษะทางภาษาจำเป็นต้องอาศัยความสม่ำเสมอ แต่อย่าลืมสิ่งสำคัญก่อนที่จะให้ผู้เรียนไปฝึกฝนด้วยตนเองนั่นคือ การสอนกระบวนการหรือขั้นตอนการฝึกฝนแต่ละทักษะเสียก่อน เพราะการเรียนรู้ที่เป็นขั้นชัดเจนจะทำให้ผู้เรียนซึมซับทั้งสิ่งที่เป็นหลักการเพื่อนำไปฝึกปฏิบัติให้ถูกต้องต่อไป

บรรณานุกรม
Rosa, J. P. O. D. (2021, December 14). A key skill for world language learners. Edutopia. https://www.edutopia.org/article/key-skill-world-language-learners

Sharma, P. (2021, October 29). A teacher’s experience of… using technology in language teaching. Cambridge University Press. https://www.cambridge.org/elt/blog/2021/10/29/technology-language-teaching/

อรรชนิดา หวานคง. (2559). การจัดการเรียนกาสอนภาษาอังกฤษในศตวรรษที่ 21. วารสารสถาบันวิจัยญาณสังวร, 7(2),310-313. https://so04.tci-thaijo.org/index.php/yri/article/view/184935


TAG: #การใช้สื่อและเทคโนโลยีในการจัดการเรียนรู้ #Feedback #ผลตอบกลับ #การให้ข้อมูลป้อนกลับ #การให้ Feedback #ทักษะการอ่าน #ทักษะศตวรรษที่21 #ทักษะการสื่อสาร #กิจกรรมที่นำเทคโนโลยีเข้ามาจัดการเรียนรู้ #สอนภาษาอังกฤษ #การจัดการเรียนรู้ #ภาษาอังกฤษ