Knowledge
พลเมืองศึกษากับการพัฒนาทักษะสำคัญแห่งศตวรรษที่ 21
4 years ago 9416ผู้เขียน: นางสาวกนกวรรณ สุภาราญ
ภาพ: กชกร มั่นคงเจริญกิจ
หน้าที่พลเมือง หรือ พลเมืองศึกษา ถือเป็นวิชาที่มีความสำคัญยิ่งและ ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย การเรียนรู้และ พัฒนาทักษะการเป็นพลเมืองที่ดีมีความรับผิดชอบต่อสังคมนั้นไม่ใช่แค่การทำความเข้าใจหน้าที่ที่พึงกระทำในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของสังคมอย่างเหมาะสมถูกต้องเพียงอย่างเดียว แต่หากยังเป็นอีกช่องทางในการจัดการเรียนรู้และปลูกฝังทักษะสำคัญแห่งศตวรรษที่ 21 โดยอาศัยสถานการณ์สำคัญที่ปรากฏอยู่ในสังคมและ ได้รับความสนใจในวงกว้างนำมาบูรณาการเข้ากับการจัดการเรียนรู้และ กิจกรรมพัฒนาผู้เรียนให้ครอบคลุมหลากหลายมิติมากยิ่งขึ้น เพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชนไม่ว่าจะเป็นตรรกะการคิดวิเคราะห์สังเคราะห์ข้อมูลและ สิ่งที่เรียนรู้ที่เป็นเหตุเป็นผล การทำงานร่วมกับผู้อื่น ความคิดสร้างสรรค์ ความมั่นใจ กล้าแสดงออก และความสามารถทางด้านเทคโนโลยีที่ก้าวทันโลกยุคดิจิทัล
โดยไม่ละทิ้งการพัฒนาด้านสังคม ค่านิยมและ คุณธรรมจากภายในจิตใจของนักเรียน รวมไปถึงการออกแบบ “วิธีการ” กระบวนการจัดการเรียนรู้และ ถ่ายทอดสาระสำคัญของการเป็นพลเมืองที่ดีของสังคมอย่างเป็นรูปธรรมสามารถนำไปปฏิบัติได้ง่าย โดยมุ่งเน้นให้นักเรียนเข้าใจที่สาระสำคัญของการเป็นพลเมืองที่แท้จริง ผสานเข้ากับความรู้ความเข้าใจและ รู้จักเคารพความหลากหลายที่เกิดขึ้นในสังคม ไม่ว่าจะเป็นความหลากหลายทางวัฒนธรรม เพศ ศาสนา ความเชื่อ รวมถึงจารีตประเพณีที่แตกต่างกันไปตามแต่ละสังคม ทั้งนี้ก็เพื่อจะปลูกฝังให้นักเรียนรู้สึกตระหนักในคุณค่า คิดวิเคราะห์แยกแยะพฤติกรรมความรับผิดชอบต่อสังคมที่ถูกต้องเหมาะสมและ มีเหตุผลได้ด้วยตนเอง
“ความสำคัญของการเรียนพลเมืองศึกษา”
ในสังคมที่ยึดถือประชาธิปไตยและ การมีสิทธิเสรีภาพในการดำรงชีวิตนั้น ก็ไม่ได้หมายความว่าผู้คนในสังคมจะสามารถเข้าใจ ปรับตัวอยู่ร่วมกับผู้อื่นอย่างเข้าใจในสิทธิเสรีภาพของตนเองอย่างแท้จริงเสมอไป การจัดการเรียนรู้และ ปลูกฝังความเข้าใจขอบเขตที่เหมาะสมในประเด็นพื้นฐาน เช่น สิทธิ หน้าที่ กฎหมายและเสรีภาพ เป็นต้น ให้แก่เด็กและ เยาวชนจึงถือเป็นเรื่องสำคัญที่ควรทำควบคู่ไปกับการส่งเสริมด้านวิชาการ แม้ว่าใจความหลักหรือเป้าหมายของการเรียนรู้เรื่องพลเมืองที่ดีนั้นจะไม่อาจวัดผลได้อย่างเป็นรูปธรรมหรือถือเป็นผลสัมฤทธิ์ทางวิชาการ แต่การเรียนรู้และ เข้าใจเรื่องการเป็นพลเมืองที่ดีไม่ว่าจะเป็น “ทักษะหรือความหมายของการเป็นพลเมืองที่ดี” “ทัศนคติที่ว่าด้วยการให้คุณค่าและเคารพผู้อื่นอย่างเท่าเทียม” “พฤติกรรมหรือการปฏิบัติตนในการเป็นพลเมืองที่ดี” ซึ่งล้วนแล้วแต่ส่งผลต่อทัศนคติในการมองสังคมมองคนรอบตัว ลักษณะการดำเนินชีวิตและ พฤติกรรมการแสดงออก รวมถึงการอยู่ร่วมกับผู้อื่นของเด็กในระยะยาว ซึ่งส่งผลต่อการพัฒนาหรือปรับสภาพสังคมโดยรวมของประเทศให้ดียิ่งขึ้นนั่นเอง หากประเทศใดหรือสังคมใดเต็มไปด้วยพลเมืองที่ตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อสังคมและ รับผิดชอบต่อส่วนรวมมากเท่าไร โอกาสในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศก็จะยิ่งเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากความตระหนักในเรื่องความรับผิดชอบต่อส่วนรวมถือเป็นปัจจัยสำคัญที่มีประสิทธิภาพต่อทิศทางการพัฒนาของประเทศ
“สอนอย่างไรให้เด็กไทยเป็นพลเมืองดี มีความรับผิดชอบต่อสังคม”
การอบรมถ่ายทอดและ สื่อสารใจความสำคัญของการเป็นพลเมืองที่ดีให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ คิดวิเคราะห์และเข้าใจอย่างลึกซึ้งได้นั้น ถือเป็นความท้าทายที่ครูผู้สอนรวมทั้งผู้ปกครองต่างก็ตั้งคำถามต่อกระบวนการที่มีประสิทธิภาพที่จะช่วยพัฒนาให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้และ ปฏิบัติตัวได้เหมาะสมอย่างแท้จริง ซึ่งจากการค้นคว้าพบตัวอย่างการศึกษาเก็บข้อมูลของนักวิจัยในประเด็นการจัดการเรียนรู้เรื่องการเป็นพลเมืองที่ดีของโรงเรียนในสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีการจัดการเรียนรู้ด้านพลเมืองโดยมุ่งเน้นการนำทักษะการเรียนรู้แห่งศตวรรษที่ 21 มาบูรณาการเข้ากับกระบวนการจัดการเรียนรู้อย่างจริงจังและ ครอบคลุมหลากหลายมิติมากยิ่งขึ้น โดยเริ่มจากความรู้ความเข้าใจองค์ประกอบพื้นฐานของสังคม เช่น กฎหมายและ สิทธิการเป็นพลเมือง ประกอบกับการศึกษาวิเคราะห์มุมมองค่านิยม วาทกรรม ความเชื่อและจารีตประเพณี ที่มีผลอย่างยิ่งต่อการขัดเกลาพฤติกรรมพลเมืองดีมีส่วนร่วมและรับผิดชอบต่อสังคมโดยรวม
“การขับเคลื่อนและ บูรณาการพลเมืองศึกษาอย่างสร้างสรรค์...สู่ความเปลี่ยนแปลง”
กระบวนการจัดการเรียนรู้ในห้องเรียนควรริเริ่มปลูกฝังการเรียนรู้เรื่องพลเมืองตั้งแต่ช่วงชั้นประถมเพื่อปลูกฝังทัศนคติและทักษะสำคัญซึ่งเป็นพื้นฐานแห่งการเรียนรู้และการดำรงชีวิตในสังคมอย่างยั่งยืนไม่ว่าจะเป็นการสื่อสาร การจับใจความสำคัญของข้อมูลข่าวสารจากสื่อหรือประสบการณ์ การตั้งวงสนทนาอภิปรายถกเถียงถึงประเด็นต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องบนฐานของประชาธิปไตยและการเคารพสิทธิความคิดเห็นของผู้อื่น เป็นต้น ยิ่งไปกว่านั้น การสนับสนุนการเรียนรู้เรื่องพลเมืองในเชิงปฏิบัติจากการฝึกฝนผ่านกิจกรรมชมรม พัฒนาการคิดวิเคราะห์สาเหตุของปัญหา และความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ในการคิดค้น นำเสนอโครงการหรือแนวทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในชุมชน แนวทางข้างต้นล้วนส่งผลต่อการเรียนรู้และพัฒนาการใช้ทักษะคิดวิเคราะห์ ทำงานร่วมกับผู้อื่น การรู้จักใช้เทคโนโลยีอย่างสร้างสรรค์และ การเป็นพลเมืองที่ดีทั้งสิ้น เนื่องจากนักเรียนได้ฝึกคิดวิเคราะห์เปรียบเทียบข้อมูลที่ได้จากหลากหลายแหล่งที่มาและหลากหลายสาขาวิชา อีกทั้งได้ฝึกฝนความกล้าแสดงออก เสนอแนวความคิดที่ได้จากกระบวนการเรียนรู้และ วิเคราะห์ข้อมูลข้างต้น ซึ่งกระบวนการเหล่านี้จะช่วยให้นักเรียนได้ฝึกฝนการใช้ทักษะสำคัญในชีวิตประจำวันจนคุ้นชินและเกิดเป็นพฤติกรรมที่มั่นคงถาวรได้ในท้ายที่สุด
การศึกษาเรียนรู้เรื่องพลเมืองเป็นการเรียนรู้ที่ต่อเนื่องและ เปลี่ยนแปลงได้เสมอ ซึ่งอาศัยการสั่งสมประสบการณ์และ การแลกเปลี่ยนความคิดมุมมองกับผู้อื่นอยู่เสมอ ยิ่งไปกว่านั้น การถ่ายทอดและ รับเอาแนวคิดแนวทางการเป็นพลเมืองที่ดีของแต่ละกลุ่มคนแต่ละยุคสมัยที่แตกต่างกันให้สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสามัคคีต้องผ่านขั้นตอนการเรียนรู้อย่างมีส่วนร่วม ประกอบกับการถ่ายทอดที่สร้างสรรค์ปลูกฝังโดยเริ่มที่การคิดและ เข้าใจถึงแก่นของความเป็นพลเมืองที่ดีอย่างแท้จริง ไม่ใช่การบังคับด้วยกฎหรือ ออกคำสั่งควบคุมเพื่อให้ปฏิบัติตัวตามระเบียบเพียงอย่างเดียว การอบรมสร้างความเข้าใจและ เชื่อมโยงเป็นส่วนหนึ่งของสังคม เปิดโอกาสให้นักเรียนได้มีส่วนร่วมออกแบบและ รับผิดชอบผลของการกระทำของตนต่อสังคมที่ตนอาศัยอยู่ทั้งสิ้น
ที่มา:
Rebecca Winthrop. (4 June 2020). The need for civic education in 21st-century schools. วันที่เข้าถึงข้อมูล 15 มิถุนายน 2563 จาก Brookings Education: https://www.brookings.edu/policy2020/bigideas/the-need-for-civic-education-in-21st-century-schools/