Knowledge

ห้องเรียนร่วมใจ...สร้างเด็กไทยหัวใจรับผิดชอบ

ห้องเรียนร่วมใจ...สร้างเด็กไทยหัวใจรับผิดชอบ

 4 years ago 7568

ผู้เขียน: นางสาวกนกวรรณ สุภาราญ ครูจากโครงการ Teach for Thailand
ภาพ: กชกร มั่นคงเจริญกิจ

          ความรับผิดชอบ...เป็นหนึ่งในคุณลักษณะสำคัญที่ทุกสังคมต่างคาดหวัง และมุ่งปลูกฝังให้ประชาชนภายในสังคมเหล่านั้นมีความรับผิดชอบทั้งในหน้าที่ของตนเอง รวมถึงรับผิดชอบต่อสังคมอันเป็นพื้นฐานของการพัฒนาสังคมให้เจริญก้าวหน้า และมีคุณภาพชีวิตที่ดีร่วมกันอีกด้วย ดังนั้น การสร้างคุณลักษณะความรับผิดชอบในตัวบุคคลนั้นจึงเป็นประเด็นสำคัญที่ทุกภาคส่วนของสังคมสามารถร่วมด้วยช่วยกันในการปลูกฝัง รวมทั้งเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่เด็กและเยาวชนคนรุ่นใหม่ อย่างไรก็ตาม การจะปลูกฝังเรื่องคุณลักษณะนิสัย หรือพฤติกรรมรับผิดชอบให้เกิดขึ้นได้นั้น ไม่อาจทำได้ผ่านคำบอกเล่าผ่านคำพูดคำสอนเพียงอย่างเดียว แต่ต้องอาศัยแบบอย่างที่ดี มีความชัดเจนเป็นรูปธรรม และการปฏิบัติตนที่สม่ำเสมอ ไม่ว่าจะเป็น ครอบครัว เพื่อน คนรอบตัว และสภาพแวดล้อมต่างๆ ที่ล้วนแล้วแต่มีอิทธิพลในการหล่อหลอมให้เกิดพฤติกรรมและทัศนคติในการรับผิดชอบทั้งสิ้น

“ไม้อ่อนดัดง่าย ไม้แก่ดัดยาก”
          การปลูกฝังคุณลักษณะหรือทัศนคติต่างๆ ต้องคำนึงถึงอายุหรือช่วงวัยของบุคคลเป็นเรื่องสำคัญ ตามหลักการทางจิตวิทยาที่ว่ามนุษย์เราจะเกิดการเรียนรู้ เลียนแบบ และซึมซับพฤติกรรมของคนใกล้ชิดได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุดก็คือช่วงวัยเด็ก ก่อนที่จะเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น เพราะเมื่อเข้าสู่ช่วงวัยรุ่นไปแล้ว บุคคลก็เริ่มมีความชัดเจนในตัวตนของตัวเองซึ่งเป็นการเรียนรู้ และสั่งสมจากประสบการณ์ในวัยเด็กทั้งสิ้น ดังนั้น สุภาษิตที่ว่าไม้อ่อนดัดง่าย ไม้แก่ดัดยากจึงเปรียบเสมือนข้อคิดที่ชวนให้ผู้ปกครอง ครู รวมทั้งผู้ที่มีบุตรหลานวัยเด็กให้ตระหนักถึงความสำคัญในการเริ่มปลูกฝังคุณลักษณะที่ดีและเหมาะสมตั้งแต่บุตรหลานยังเล็ก และจะทำให้คุณลักษณะทั้งหลายเหล่านั้นกลายเป็นอุปนิสัยที่ติดตัวเด็กในระยะยาว

“ห้องเรียนมีความสำคัญอย่างไรกับการสร้างคุณลักษณะนิสัยที่ดีของสังคม”
          เมื่อเด็กเข้ามาสู่ระบบการศึกษา ห้องเรียนจึงเปรียบเสมือนสังคมจำลองขนาดเล็กที่เด็กสามารถเรียนรู้ และปรับตัวที่จะอยู่ร่วมกันกับเพื่อนร่วมชั้นเรียนได้อย่างราบรื่น อย่างไรก็ตาม พฤติกรรมการแสดงออกรวมทั้งอุปนิสัยของเด็กอันเป็นผลมาจากการอบรมเลี้ยงดู และปลูกฝังวิธีคิดในเรื่องพื้นฐานบางอย่างจากครอบครัวที่แตกต่างกันนั้น ทำให้บางพฤติกรรมการแสดงออกของเด็กไม่เป็นที่ยอมรับหรือไม่สอดคล้องกับค่านิยมของสังคมส่วนใหญ่ภายในห้องเรียน ดังนั้นบทบาทของครูผู้สอนจึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการปรับเปลี่ยนหรือหาแนวทางในการอบรมและปลูกฝังคุณลักษณะที่ดีที่เหมาะสมตามค่านิยมของสังคมที่แท้จริงให้เกิดขึ้นในห้องเรียนให้ได้โดยไม่สร้างความรู้สึกแปลกแยกหรือผลกระทบใดๆ ต่อตัวเด็ก

          การสร้างความเข้าใจในเรื่องของความหมายและพฤติกรรมที่เรียกได้ว่าเป็น “คุณลักษณะที่ดี” โดยเฉพาะการปรับเปลี่ยนมุมมองของเด็กจากเดิมที่มองตนเองเป็นศูนย์กลาง ให้มองเห็นความสำคัญสิ่งรอบตัว และสังคมที่เปิดกว้างยิ่งขึ้น ซึ่งถือเป็นเรื่องพื้นฐานของความรับผิดชอบทั้งต่อตนเองและสังคมอีกด้วย ดังที่กล่าวมาข้างต้นนี้ ถือเป็นภารกิจที่ครูผู้สอนต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์และความอดทนมุ่งมั่นในการทำหน้าที่เป็นอย่างมาก การศึกษาค้นคว้าและถอดบทเรียนความสำเร็จในการปลูกฝังหรือปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของเด็กให้ดียิ่งขึ้นได้นั้น อาจช่วยเพิ่มแนวทางที่น่าสนใจให้แก่ครูผู้สอนนำไปประยุกต์ใช้ได้ไม่มากก็น้อย

“ความเข้าใจ ความชัดเจน และการมีส่วนร่วม คือหัวใจในการสร้างคุณลักษณะของความรับผิดชอบ”
          จากการถอดบทเรียนเรื่องการสร้างปลูกฝังความรับผิดชอบในจิตใจของเด็กนักเรียนจากประเทศญี่ปุ่นได้ข้อสรุปที่น่าสนใจ 3 ประการ ได้แก่
ประการแรก ความเข้าใจ คือ การสร้างคำอธิบายในประเด็นเรื่องความรับผิดชอบโดยให้ข้อมูล และตัวอย่างที่เป็นรูปธรรม สามารถทำความเข้าใจได้ง่ายไม่ซับซ้อนเหมาะสมกับช่วงวัยของนักเรียนในชั้นเรียน ทั้งนี้การสร้างความเข้าใจจะต้องไม่เป็นการบังคับหรือยัดเยียดให้คิดตามโดยไร้ซึ่งการให้เหตุผล เพราะอาจก่อให้เกิดการตีความ และนำไปปฏิบัติอย่างเข้าใจผิดได้
ประการที่สอง ความชัดเจน คือ การสร้างความเข้าใจที่เกิดขึ้นร่วมกันให้ออกมาเป็นสิ่งที่จับต้อง และมองเห็นได้อย่างชัดเจน เช่น การเขียนข้อตกลง ประกาศ หรือตารางกำหนดการณ์ต่างๆ ของชั้นเรียนโดยติดไว้ในบริเวณที่ทุกคนมองเห็นได้ วิธีการดังกล่าวจะช่วยให้นักเรียนสามารถสื่อสารข้อมูล รวมทั้งติดตามสถานการณ์ต่างๆ ที่ตนเองล้วนมีส่วนเกี่ยวข้องได้อย่างทั่วกัน ซึ่งกระบวนการทุกขั้นตอนข้างต้นจะต้องเกิดขึ้นจากความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของนักเรียนเป็นหลัก ส่วนครูผู้สอนจะทำหน้าที่กระตุ้นความเชื่อมั่นให้กำลังใจ ตั้งคำถามชวนคิด และเป็นที่ปรึกษาสนับสนุนให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้และสร้างความเชื่อมั่นในการทำสิ่งที่ดีร่วมกันให้ได้มากที่สุด
ประการสุดท้าย การมีส่วนร่วม คือ การเปิดพื้นที่ในชั้นเรียนให้นักเรียนทุกคนได้เป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินกิจกรรมของห้องเรียนบางอย่างตามความถนัด และความสามารถเฉพาะตัวด้วยความสมัครใจ ซึ่งกระบวนการนี้ครูและเพื่อนนักเรียนต่างมีอิทธิพลอย่างมากในการให้กำลังใจ และให้การสนับสนุนความเชื่อมั่นในตนเองให้เกิดขึ้นระหว่างนักเรียนด้วยกัน หากนักเรียนรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มหรือสังคมที่ตนอาศัยอยู่ด้วยมากเท่าไหร่ นักเรียนก็จะเกิดความเชื่อมั่นในตนเอง และเกิดทัศนคติที่ดีในการทำหน้าที่ที่เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นอย่างเต็มใจ ไม่ว่าจะเป็นการแสดงความคิดเห็น การแลกเปลี่ยนความรู้ หรือ การทำหน้าที่บางอย่างในห้องเรียนเป็นต้น เพราะ ความเชื่อมั่น เชื่อใจ และกำลังใจจากเพื่อนที่ทำให้การมีส่วนร่วมนั้นมีคุณค่า ส่งผลให้นักเรียนมีทัศนคติที่ดีต่อการกระทำของตน รวมทั้งรับผิดชอบต่อหน้าที่ที่ได้รับมาด้วยความรู้สึกภาคภูมิใจและอยากทำหน้าที่ของตนให้ดีที่สุด

          การถอดบทเรียนเรื่องการสร้างความรับผิดชอบโดยเริ่มต้นที่ห้องเรียนนั้น คือ การสร้างมุมมองของการรับผิดชอบในหน้าที่ของนักเรียนทั้งต่อตนเองและเพื่อนร่วมชั้น โดยอาศัยการมีส่วนร่วมของนักเรียนทุกคนในการเรียนรู้ แลกเปลี่ยน จนเกิดความเข้าใจที่ตรงกัน นำมาสู่ข้อตกลงและการปฏิบัติตนอันเป็นที่ยอมรับในห้องเรียน ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อกระบวนการดังกล่าวเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ ส่งผลให้มุมมอง ทัศนคติและพฤติกรรมการรับผิดชอบในห้องเรียนของนักเรียนก็จะขยายสู่การรับผิดชอบต่อสังคมได้ในท้ายที่สุด มุมมองเปลี่ยนแปลงไปสู่การคำนึงถึงผลประโยชน์รวมทั้งผลกระทบต่อส่วนรวมมากขึ้นในท้ายที่สุดนั่นเอง

ที่มา
อดิศร วัฒนานุสิทธิ์. (2561). การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเรียนให้มีวินัย และความรับผิดชอบของนักเรียนระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ชั้นปีที่ 1 สาขาวิชาช่างกลโรงงาน วิทยาลัยสารพัดช่างสุรินทร์. อ้างอิงจากแหล่งข้อมูล http://ir.srpoly.ac.th:8080/xmlui/handle/123456789/33

รายการ ดูให้รู้ ตอน สนุกในห้อง รู้จริงนอกห้อง เผยแพร่วันที่ 25 พฤศจิกายน 2561. https://www.youtube.com/watch?v=j5Y_cUwtH4g&list=WL&index=74&t=19s


TAG: #การจัดการชั้นเรียน #พลเมืองโลก #หน้าที่พลเมือง