Knowledge

ChatGPT และผองเพื่อน : ครูไทยใช้ AI ตัวไหนดี?

ChatGPT และผองเพื่อน : ครูไทยใช้ AI ตัวไหนดี?

 1 year ago 8006

สุรศักดิ์ แซ่ลิ้ม

         ในปัจจุบันที่ AI เป็นที่รู้จักกันทั่วโลกและใช้กันทั่วไปในชีวิตประจำวันแล้ว ยังมี AI อีกหลายรูปแบบที่ผลิตออกมาเพื่อตอบสนองความต้องการมนุษย์ และมีไม่น้อยที่อาจเป็นประโยชน์กับครูแต่ว่ายังไม่ได้ลองใช้ ดังนั้น EDUCA จึงขอถือโอกาสนี้ เชิญชวนคุณครูทำความรู้จักและทดลอง AI ที่ออกแบบตามความต้องการของครู เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ในการจัดการเรียนรู้และการทำงานต่อไป

AI สำหรับการเปลี่ยนข้อความเป็นเสียง (Text-to-Speech)
         เริ่มต้นด้วย AI ประเภทเปลี่ยนข้อความเป็นเสียง การเปลี่ยนข้อความเป็นเสียงทำให้ได้เสียงที่เป็นสำเนียงของเจ้าของภาษา เหมือนกับได้พานักเรียนไปฝึกพูดกับครูเจ้าของภาษาจริง ๆ AI ประเภทนี้ค่อนข้างแพร่หลายและมีหลายตัวเลือกให้ครูได้ทดลองใช้ เช่น
Typecast.ai เป็น Text-to-Speech AI ที่ผู้ใช้สามารถเลือกตัวละครให้เหมาะกับสื่อที่เราต้องการนำเสนอได้ เพราะว่าแต่ละตัวละครมีน้ำเสียงต่างกัน เช่น น้ำเสียงสำหรับการบรรยายสารคดี น้ำเสียงสำหรับการบรรยายผ่านวิทยุ ผู้ใช้ยังสามารถเลือกอารมณ์ของน้ำเสียงได้ เช่น เศร้า โมโห หงุดหงิด รวมถึงยังรองรับภาษาเกาหลี ญี่ปุ่น และสเปนอีกด้วย
Play.ht เป็น Text-to-Speech AI ที่ผู้ใช้สามารถนำบทพูดมาแปลงเป็นเสียง เหมือนกับให้เจ้าของภาษามาบรรยายในชั้นเรียนจริง ๆ จุดเด่นของ AI ตัวนี้คือสามารถเลือกเสียงได้มากกว่า 100 ภาษารวมถึงภาษาไทยด้วย AI เปิดให้ทดลองใช้โดยจำกัดจำนวนคำที่ใช้แปลงเป็นเสียงที่ 5,000 คำ และสามารถดาวน์โหลดเสียงได้ทั้งหมด 3 ครั้ง
• นอกจากนี้ ยังมี Murf.ai ที่สร้างวิดีโอนำเสนอได้ Lovo.ai ที่มีเสียงให้เลือกมากกว่า 400 เสียง และ AI ตัวอื่นอีกมากมายให้ครูได้ลองเลือกเล่นตามต้องการ  

AI สำหรับการเปลี่ยนข้อความเป็นรูป (Text – to – image)
         การเขียนรายละเอียดรูปแล้วให้ AI ออกแบบรูปที่ต้องการภายในระยะเวลาอันรวดเร็ว AI ประเภทนี้เหมาะกับการสร้างรูปประกอบการบรรยายเพื่อให้นักเรียนเห็นภาพของตัวเนื้อหามากขึ้น ทั้งนี้ หลักการใช้ Text-to-Image AI มีเพียงข้อเดียวคือ ยิ่งป้อนข้อมูลให้ AI มากเท่าใด AI ก็จะวาดรูปได้ตรงตามความต้องการเรามากเท่านั้น Text-to-Image AI ที่น่าสนใจมีดังนี้
Shutterstock AI เป็น Text-to-Image AI ของคลังภาพยักษ์ใหญ่อย่าง Shutterstock ที่มีรูปภาพสต็อกไว้ทั้งหมดถึง 433 ล้านรูปในปี 2022 ด้วยคลังภาพขนาดใหญ่มหึมา ทำให้เมื่อเราป้อนรายละเอียดของรูปที่เราต้องการให้กับ AI แล้ว AI ก็จะดึงรูปภาพในคลังมาประมวลผลและปรับแต่งให้เข้ากับความต้องการของเราให้มากที่สุด ทั้งนี้ Shutterstock มอบสิทธิให้ทดลองใช้โดยเราสามารถดาวน์โหลดรูปภาพได้ฟรี 10 รูป หรือ 1 คลิป และหากต้องการดาวน์โหลดเพิ่มเติม ผู้ใช้จำเป็นต้องสมัครสมาชิก
Canva เว็บไซต์ผลิตสื่อนำเสนอยอดนิยมระดับโลกเปิดตัว Text-to-Image AI ให้บุคคลทั่วไปได้ลองใช้กันด้วยโดยตัวคำสั่งของ Text-to-Image AI อยู่ในรูปของ App  ทั้งนี้ข้อจำกัดของ AI ตัวนี้ยังมีบ้างเล็กน้อย เช่น รูปของมนุษย์ยังไม่สมจริงมากนัก AI ตัวนี้จึงเหมาะกับการประมวลผลรูปภาพที่เป็นสิ่งของ หรือทิวทัศน์มากกว่า อย่างไรก็ดี จุดเด่นของ AI ตัวนี้คือเราสามารถนำรูปที่สร้างไปแปะใน presentation ของเราได้เลยทำให้สะดวกแก่การใช้งานและนำไปใช้ได้จริง

นอกจาก Text-to-Speech AI และ Text-to-Image AI แล้วยังมี AI อีกมากมายหลายประเภทที่เป็นประโยชน์อย่างมากกับครูและนักเรียน ดังนี้
ChatPDF เป็น Chatbot ของ ChatGPT ที่ช่วยย่อยข้อมูลในเอกสาร pdf แล้วให้เราถาม – ตอบเสมือนกับเรานั่งคุยกับผู้เชี่ยวชาญจริง ๆ แถมยังเปิดให้ใช้ฟรีโดยจำกัดให้ใส่ข้อมูลได้ 3 ไฟล์ต่อวัน ถามได้ 50 คำถามต่อวัน ขนาดไฟล์ไม่เกิน 10 MB และไม่เกิน 120 หน้า
Simplified เป็นเว็บไซต์ที่ช่วยสร้าง Presentation ได้ภายในหนึ่งคลิก เพียงผู้ใช้กรอกหัวข้อและจำนวนประเด็นที่ต้องการนำเสนอ AI ตัวนี้ก็จะผลิต Presentation ออกมาทันที เรียกได้ว่าประหยัดเวลาทำสื่อไปได้มากทีเดียว นอกจากนี้ Simplified เปิดให้ใช้ฟรีตามเงื่อนไขที่เว็บไซต์กำหนด

         สุดท้ายนี้ แม้ว่าบริษัททั่วโลกเริ่มหันมาพัฒนา AI เพื่อตอบสนองความต้องการของมนุษย์ทำให้ครูและนักเรียนมี AI ใช้เป็นจำนวนมากแล้ว สิ่งที่ครูและนักเรียนขาดไม่ได้คือทักษะการใช้เทคโนโลยี และการรู้เท่าทันเรื่องเทคโนโลยี (Digital Awareness) เพราะการใช้ AI อย่างคล่องแคล่วเป็นสิ่งดี แต่การใช้ AI อย่างมีวิจารณญาณและสร้างสรรค์เป็นสิ่งที่ดีที่สุด

ข้อมูลอัพเดทในเดือนพฤษภาคม 2566


TAG: #Digital Awareness #KruandAI #AI #ChatGPT #การสอนภาษาต่างประเทศ #การใช้สื่อและเทคโนโลยีในการจัดการเรียนรู้ #การรู้เท่าทันสื่อ #ทักษะดิจิทัล #Artificial Intelligence #การรู้เท่าทันเทคโนโลยี