Knowledge

เมื่อ “ลิ้น” กับ “ฟัน” มาชนกัน

เมื่อ “ลิ้น” กับ “ฟัน” มาชนกัน

 3 years ago 2428

เรียบเรียง: จิราพร เณรธรณี

          ทุกคนเคยกัดลิ้นตัวเองใช่ไหมคะ ความรู้สึกเจ็บปวดนี้ก็เหมือนกับความรุนแรงที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน คือความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างครูและนักเรียน เพราะปัจจุบันนักเรียนไทยร่วมกันสร้างจุดยืนทางการเมือง โดยออกมาแสดงความคิดเห็นทางการเมืองมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้เกิดความคิดเห็นไม่ตรงกัน จนลุกลามเป็นปัญหาขัดแย้งขึ้นมาในสถานศึกษาไทย
          ทั้งครูและนักเรียนต่างได้รับการปลูกฝัง อิทธิพลทางความคิด และความเชื่อที่แตกต่างกัน จึงเป็นเรื่องปกติที่จะเกิดปัญหาความขัดแย้งทางความคิดขึ้น และยากที่จะแสวงหาข้อยุติความขัดแย้งในครั้งนี้ได้โดยง่าย ทำให้การเรียนการสอนในห้องเรียนอยู่ในภาวะที่อึดอัด เนื่องจากต่างฝ่ายต่างถูกครอบงำความคิด และอุดมการณ์ที่แตกต่างกัน ซึ่งสาเหตุนี้จะนำไปสู่การต่อต้านในกระบวนการของการเรียนการสอนของครูและนักเรียนด้วย
          การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางความคิดระหว่างครูและนักเรียน เพื่อให้การเรียนการสอนเป็นไปได้อย่างราบรื่น สิ่งสำคัญคือการยอมรับฟังความคิดเห็น และเหตุผลซึ่งกันและกัน โดยครูจะต้องเป็นผู้ฟังที่ดี และรับฟังนักเรียนทุกคน เพราะนักเรียนต่างมีสิทธิในการพูดแสดงความคิดเห็น และการออกมาแสดงจุดยืนทางการเมืองได้อย่างเสรี การที่เขาลุกออกมาแสดงจุดยืนทางสังคมตามสิทธิ และเสรีภาพในระบอบประชาธิปไตยเป็นการกระทำที่เหมาะสมหรือไม่ ครูไม่ควรกำหนดกรอบความคิดหรืออุดมการณ์เพื่อครอบงำความคิดของนักเรียน แต่สิ่งสำคัญที่ครูพึงกระทำคือจะต้องเป็นผู้คอยชี้แนะ หรือตักเตือนการกระทำที่ไม่พึงประสงค์ของนักเรียน เช่น การแสดงพฤติกรรมที่ก้าวร้าว การกล่าววาจาหยาบคายหรือไม่เหมาะสม สิ่งเหล่านี้ครูจะต้องคอยตักเตือน และจะต้องทำตนให้นักเรียนรู้สึกปลอดภัย เพราะหากครูแสดงพฤติกรรมที่ขัดแย้งหรือต่อต้าน นักเรียนจะรู้สึกไม่ปลอดภัย ส่งผลให้การเรียนการสอนในห้องอึดอัดและนักเรียนไม่ได้รับความรู้อย่างเต็มที่
          นอกจากนี้ ครูจะต้องเข้าใจวิธีคิดของนักเรียนในยุคใหม่ และต้องมีการเรียนการสอนที่เปิดโลกทัศน์ให้นักเรียนรู้เท่าทันสื่อมากขึ้น โดยเฉพาะการคิดอย่างมีวิจารณญาณ การเสพสื่อ เพราะในปัจจุบันมีสื่อทาง อินเทอร์เน็ตมากมายให้ได้เรียนรู้และรับข่าวสาร ซึ่งอาจจะมีความไม่น่าเชื่อถือ หรือเป็นข่าวปลอม (fake news) อยู่มาก ครูจึงต้องฝึกทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณ และการสื่อสารที่ดีให้กับนักเรียนและตัวครูเองด้วย
          ปัญหาความขัดแย้งทางความคิดเกี่ยวกับการเมืองระหว่างนักเรียนเป็นเรื่องปกติในยุคปัจจุบัน ก็เหมือนลิ้นกับฟันที่บางครั้งอาจจะต้องชนกันบ้าง การแก้ไขปัญหาจึงไม่ใช่หน้าที่ของครูผู้เดียว แต่ยังเป็นหน้าที่ของนักเรียนด้วย โดยทั้งสองฝ่ายจะต้องรับฟังซึ่งกันและกัน พูดคุยกันอย่างมีเหตุผล และไม่ว่าปัญหานี้จะยุติได้หรือไม่ ครูและนักเรียนจะต้องไม่ลืมหน้าที่ความรับผิดชอบที่มีต่อกัน

อ้างอิง
news.thaipbs. (2563). นักเรียนกำลังคิดอะไรอยู่ - ครูรู้สึกแบบไหน?. สืบค้น 21 กุมภาพันธ์ 2564, จาก https://news.thaipbs.or.th/content

Workpointtoday. (2563). คุยกับครูทิว ปัญหาอำนาจนิยมในโรงเรียน และการสร้างความเข้าใจระหว่างครู นักเรียน และผู้ปกครอง. สืบค้น 21 กุมภาพันธ์ 2564, จาก https://workpointtoday.com/thai-education-workpoint-today


TAG: #การจัดการชั้นเรียน #สังคมศึกษา #การรู้เท่าทันสื่อ #สิทธิและหน้าที่พลเมือง #จิตวิทยาแนะแนว