Knowledge

สร้าง “พลเมืองโลกรุ่นใหม่ใส่ใจสังคม” ด้วยการจัดการเรียนรู้ SDGs

สร้าง “พลเมืองโลกรุ่นใหม่ใส่ใจสังคม” ด้วยการจัดการเรียนรู้ SDGs

 2 years ago 5350

เรียบเรียงโดย สุรศักดิ์ แซ่ลิ้ม

          ในยุคโลกาภิวัตน์ “แนวคิดพลเมืองโลก” เริ่มเป็นที่สนใจของผู้คนทั่วโลกมากขึ้น ซึ่งหมายถึงประชาชนทุกคนล้วนเป็นผู้ที่อาศัยอยู่บนโลกเหมือนกันทั้งสิ้น ไม่มีการแบ่งเชื้อชาติ เพศ หรือเผ่าพันธุ์ และยึดหลักการที่ว่า “มนุษย์ทุกคนมีศักดิ์และสิทธิ์ และควรได้รับการพัฒนาอย่างยั่งยืน” เมื่อแนวคิดพลเมืองโลกแพร่หลายในหมู่คนรุ่นใหม่มากขึ้น การตระหนักรู้ถึงการพัฒนาสังคมโลกก็เริ่มตามมา ก่อเกิดเป็นแนวคิดว่าด้วยพลเมืองโลกพัฒนาสังคมโลกที่ขยายไปในวงกว้าง กระทั่งองค์การสหประชาชาติเริ่มหันมาขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ในปี 2558 เพื่อกำหนดให้เป็นเป้าหมายร่วมกันของทุกประเทศเกี่ยวกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน จึงทำให้พลเมืองโลกรุ่นใหม่ใส่ใจปัญหาสังคมที่เกิดขึ้นทั่วโลก โดยไม่แบ่งแยกว่าเป็นประเทศตัวเองหรือไม่อีกต่อไป เพื่อร่วมกันมองหาวิธีแก้ปัญหาเหล่านั้นอย่างยั่งยืน
          การจัดการเรียนรู้ให้นักเรียนตระหนักรู้ถึง SDGs นับเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง เพื่อปลูกฝังให้นักเรียนมองเห็นถึงปัญหาสังคมที่กำลังเกิดขึ้น และปัญหาเหล่านั้นจำเป็นต้องอาศัยพลังของนักเรียนในอนาคตมาช่วยปรับเปลี่ยนและพัฒนาให้สังคมดีขึ้นกว่าเดิม ในฐานะ “ผู้เปลี่ยนแปลงและพัฒนา” ทั้งนี้ การเรียนการจัดการเรียนรู้เรื่อง SDGs จึงจำเป็นต้องมีครูเป็นผู้คอยชี้ปัญหา นำทางให้นักเรียนคิดตาม โดยครูไม่ใช่ผู้ถ่ายทอดเนื้อหาเพียงอย่างเดียว แต่ยังต้องแสดงให้นักเรียนเห็นว่า การเปลี่ยนแปลงสังคมด้วยการประพฤติตนเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงและการพัฒนาของนักเรียนเป็นเรื่องสำคัญต่ออนาคต เพื่อให้นักเรียนมองว่าครูเป็นผู้นำและแบบอย่างในเรื่องดังกล่าว รวมถึงครูต้องเป็นแหล่งข้อมูลภายในห้องเรียน ให้นักเรียนได้เก็บเกี่ยวมุมมองดี ๆ ที่อาจจุดประกายความคิดให้นักเรียนนำไปต่อยอดได้
          ประโยชน์ทางอ้อมของการจัดการเรียนรู้ SDGs อีกข้อหนึ่งคือ การรู้จักตนเอง เรื่องนี้ถือเป็นปัญหาที่นักเรียนไทยต้องประสบมาทุกยุคสมัย แต่ด้วยขอบเขตเนื้อหาของ SDGs ที่ครอบคลุมศาสตร์หลายแขนงและทุกอาชีพ จึงมีส่วนช่วยให้นักเรียนมองเห็นสิ่งที่ตัวเองชอบและไม่ชอบ ถนัดและไม่ถนัด ตลอดจนสามารถเข้าใจถึงทักษะที่ตัวเองมีหรืออยากมี สิ่งที่ตัวเองต้องการจะทำหรือมีแรงบันดาลใจที่จะทำในอนาคตได้ ทั้งนี้ ครูต้องจัดการเรียนการจัดการเรียนรู้ SDGs ด้วยการทำให้เป็นห้องเรียนแห่งบทสนทนาที่เต็มไปด้วยบรรยากาศแห่งการเรียนรู้จะดีที่สุด อย่าสอน SDGs ด้วยการให้นักเรียนจดจำเนื้อหาในรูปของตัวหนังสือมากจนเกินไป เพราะด้วยเนื้อหาของ SDGs ที่ค่อนข้างเยอะอาจทำให้นักเรียนมีทัศนคติที่ไม่ดีในการเรียน รวมทั้งไม่เกิดประโยชน์อันใดในการส่งเสริมให้นักเรียนเกิดกระบวนการคิดวิเคราะห์
          การจัดการเรียนรู้ SDGs ให้ได้ประสิทธิภาพจำเป็นต้องจัดให้ห้องเรียน เป็นพื้นที่แห่งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ให้นักเรียนแสดงความคิดเห็นหรือแนวคิดของตัวเองได้อย่างเต็มที่ จึงจะช่วยให้นักเรียนตกตะกอนความคิดของตนเอง และพัฒนาทักษะการคิดเชิงวิเคราะห์ (critical thinking) ได้ด้วย แม้ว่าเนื้อหาเป้าหมาย SDGs จะเน้นหนักไปทางกลุ่มสาระสังคมศึกษาฯ แต่แท้จริงแล้วครูสามารถบูรณาการเนื้อหาดังกล่าวได้ในหลายสาขาวิชา เช่น การจัดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ให้เห็นถึงการรับมือกับภาวะโลกร้อนในระดับประชาคมโลก การพัฒนาระบบนิเวศน์ทางทะเลและมหาสมุทร หรือการบูรณาการระบบการย่อยอาหารกับการแก้ปัญหาความหิวโหยของผู้คนในประเทศต่าง ๆ การจัดการเรียนรู้ภาษาไทยด้วยการบูรณาการด้านการอ่าน โดยให้นักเรียนอ่านบทความเสริมเกี่ยวกับการพัฒนาสังคมตาม SDGs หรือบูรณาการด้านการเขียน โดยให้นักเรียนเขียนเรียงความแสดงแนวความคิดเกี่ยวกับการพัฒนาสังคมตาม SDGs เป็นต้น
          สุดท้ายนี้ ขอฝากความคิดเห็นสั้น ๆ ให้ลองขบคิดกันว่าจริงหรือไม่ที่ “การจัดการเรียนรู้ SDGs เป็นหนึ่งในหลายวิธีในการส่งเสริมนักเรียน จุดมุ่งหมายสำคัญของการเรียนการจัดการเรียนรู้ทางสังคม คือการแนะแนวทางให้นักเรียนเติบโตไปเป็นพลเมืองโลกที่มีคุณภาพ ช่วยพัฒนาสังคมและพัฒนาโลกได้อย่างยั่งยืน”

แหล่งอ้างอิง
สวัสดี SDGs (2) – ว่าด้วยเป้าหมาย (Goals) 17 เป้าของ SDGs, จาก https://www.sdgmove.com/2017/06/01/goals/ [สืบค้นเมื่อ 17 มิถุนายน 2564]

สวัสดี SDGs (1) – ข้อมูลพื้นฐาน, จาก https://www.sdgmove.com/2017/05/21/hello-sdgs-1/ [สืบค้นเมื่อ 17 มิถุนายน 2564]

ระบบย่อยอาหารกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs), จาก https://inskru.com/idea/-MOWqv0hyyTPPalGrhpn [สืบค้นเมื่อ 17 มิถุนายน 2564]

เป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ Sustainable Development Goals (SDGs) ฉบับเต็ม, https://siam.edu/wp-content/uploads/2018/10/Sustainable-Development-Goals.pdf [สืบค้นเมื่อ 17 มิถุนายน 2564]


TAG: #พลเมืองโลก #การพัฒนาอย่างยั่งยืน #8;k #ความยั่งยืน #Sustainable Development Goals #SDGs #SEL #Social Emotional Learning #การรู้จักตนเอง #ทักษะการคิดเชิงวิเคราะห์ #Critical thinking