Knowledge

สร้างบทเรียนการเรียนรู้โดยมีโครงงานเป็นฐาน (Project-based Learning) ที่ตอบโจทย์ความยั่งยืน

สร้างบทเรียนการเรียนรู้โดยมีโครงงานเป็นฐาน (Project-based Learning) ที่ตอบโจทย์ความยั่งยืน

 1 year ago 1807

บันทึกโดย นายวีรภัทร ดากลาง
นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

          การอบรมครั้งนี้ รศ. ดร.ชาตรี ฝ่ายคำตา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้เป็นวิทยากร เริ่มต้นด้วยคำถามว่า “เราต้องการให้ประเทศเราเป็นอย่างไร” แน่นอนว่า เราต่างต้องการมีความมั่งคั่งและยั่งยืนทางเศรษฐกิจและสังคม คือการมีคุณภาพชีวิตที่ดี เมื่อหน่วยประชากรมีคุณภาพชีวิตที่ดีก็จะไปกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคม

          จากเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ซึ่งมีทั้งหมด 17 เป้าหมาย จากโจทย์ตรงนี้ รศ. ดร.ชาตรี ให้ผู้เข้าร่วมแต่ละกลุ่มเลือก 1 เป้าหมาย และชวนคิดว่า ถ้าเราเป็น Active citizen/innovator เราจะทำโครงการอะไรบ้าง โดยกำหนดแนวทางไว้ว่า สิ่งแรกที่เราต้องทำ คือ มองหาปัญหาที่มีก่อน ปัญหาอะไรที่ทำให้เราไปไม่ถึงเป้าหมายนั้นๆ จากนั้นจึงให้แต่ละกลุ่มนำเสนอมีประเด็นดังนี้
กลุ่ม 1 ด้านการสร้างหลักประกันรูปแบบการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน ต้องการออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
กลุ่ม 2 ความยั่งยืนด้านการศึกษา เช่น ต้องการสร้างการศึกษาที่เท่าเทียมกันทั้งเด็กในเมืองและเด็กชายขอบ, การเข้าถึงอุปกรณ์การศึกษา, การศึกษาแบบ Lifelong Learning และการจัดทำหลักสูตรให้สอดคล้องกับบริบท (อยากให้กระจายอำนาจในการจัดการหลักสูตรเอง)
กลุ่ม 3 การสร้างเมืองและการตั้งถิ่นฐานที่ปลอดภัย เช่น ต้องการเพิ่มพื้นที่สีเขียว การคืนครูให้ท้องถิ่น การพัฒนาระบบคมนาคม การวางผังเมืองที่เป็นระบบ

          หลังจากนั้น อ.ชาตรีได้ให้แต่ละกลุ่มระบุสิ่งที่อยากทำให้แคบและเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น โดยสรุปมีรายละเอียดดังนี้ กลุ่ม 1 เน้นไปที่บรรจุภัณฑ์อาหารที่เป็นมิตร กลุ่ม 2 เน้นไปที่แหล่งการเรียนรู้ชุมชน กลุ่ม 3 เน้นไปที่ทางเดินเท้าที่ปลอดภัย

          โดยวิทยากรให้อธิบายเพิ่มเติมว่าสิ่งที่อยากทำต้องมีคุณภาพอะไรบ้าง และมีกระบวนการทำงานอย่างไร เช่น “ปลอดภัย” คือมีกล้องวงจรปิด มีไฟส่องสว่าง เป็นต้น จากนั้นให้ระบุว่าปัญหาคืออะไร คำถามที่อยากรู้มีอะไรบ้าง? เพื่อกำหนดกรอบสิ่งที่อยากรู้เพื่อนำไปค้นคว้าต่อไป

          ส่วนกระบวนการ Design ถ้าเริ่มต้นด้วยการโฟกัสเนื้อหาอาจทำให้คิดได้ยาก จึงควรเริ่มด้วยการกำหนด theme และตอบคำถามที่ว่า “นักเรียนจะได้สมรรถนะอะไร” สุดท้ายสมรรถนะที่นักเรียนได้จะไปเชื่อมโยงกับเนื้อหาต่างๆได้เองอย่างเป็นธรรมชาติ จากนั้นอาจารย์จึงสรุปขั้นตอนของ Project-based Learning มีอะไรบ้าง ดังนี้
1. คำถาม/ปัญหา/สิ่งที่ต้องการ (Define) - ปัญหาคืออะไร มีอะไรบ้าง อะไรคือสาเหตุของปัญหา ปัญหาใดสำคัญที่สุด จะทำอะไรให้ใหม่และแตกต่าง
2. วางแผน (Plan) - เรารู้อะไรแล้ว อะไรที่ยังไม่รู้ จะหาความรู้ได้จากแหล่งใด จะออกแบบวิธีการแก้ปัญหาอย่างไร วิธีการแก้ปัญหามีกี่วิธี วิธีการแก้ปัญหาใดเป็นไปได้มากที่สุด
3. สร้าง/แก้ปัญหา (Do) – ระหว่างแก้ปัญหาผลเป็นอย่างไร มีปัญหาอะไรเพิ่มขึ้นบ้าง
4. ประเมิน/แก้ไขปรับปรุง (Review) – วิธีการแก้ปัญหาเป็นไปตามที่วางแผนไว้หรือไม่
5. สรุปและนำเสนอและอภิปรายกับสาธารณะ (Presentation) – จะนำเสนอวิธีการแก้ปัญหาให้คนอื่นเข้าใจได้อย่างไร

          โดยสรุป กิจกรรมดังกล่าวได้แสดงให้เห็นว่า การใช้ Project-based Learning ช่วยให้นักเรียนเกิดทักษะและกระบวนการเรียนรู้ สร้างความเป็นรูปธรรม การบูรณาการได้หลายศาสตร์ ส่งเสริมการคิดขั้นสูง และการตระหนักถึงปัญหาของสิ่งที่สนใจ นอกจากนี้การเขียนจุดประสงค์การเรียนรู้ของกิจกรรมที่ใช้ PBL ยังแตกต่างออกไป คือ เน้น Action ซึ่งเป็นการเขียนที่รวม KPA เป็นสมรรถนะหนึ่ง ๆ ที่มีเงื่อนไขแนบไว้ และยังเน้นแสดงการคิดขั้นสูงและทักษะในศตวรรษที่ 21 มากขึ้น ครูและนักเรียนต่างก็เป็น Learning Designer (ผู้ออกแบบการเรียนรู้) ที่ไม่ใช่ Users (ผู้ใช้) เพราะเราสามารถ Analyze และ Design เนื้อหาเอง บทบาทของนักเรียนกำลังเปลี่ยนไปแม้ไม่ใช่สิ่งที่พวกเขาคุ้นเคยก็ตาม


TAG: #Project-based Learning #PBL #ความยั่งยืน #Active citizen #Innovator #SDGs #Sustainable Development Goals #Learning Designer #โครงงานเป็นฐาน #การออกแบบการจัดการเรียนรู้