Knowledge

เสริมแรงให้สมวัย พัฒนานิสัยเด็กไทยอย่างยั่งยืน

เสริมแรงให้สมวัย พัฒนานิสัยเด็กไทยอย่างยั่งยืน

 4 years ago 9327

ผู้เขียน: กนกวรรณ สุภาราญ ครูจากโครงการ Teach for Thailand
ภาพ: กชกร มั่นคงเจริญกิจ

          การเสริมแรง เป็นกระบวนการเสริมสร้างให้เกิดพฤติกรรมหนึ่งๆ ขึ้น โดยอาศัยการให้สิ่งของหรือการกระทำที่สร้างความพึงพอใจแก่บุคคลนั้นๆ หรือไม่ก็สร้างความขุ่นเคืองใจ เพื่อผลักดันให้บุคคลต้องปฏิบัติตนตามแนวทางที่กำหนด และเป็นที่ยอมรับร่วมกันในสังคม … การเสริมแรงแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ การเสริมแรงเชิงบวก และการเสริมแรงทางลบ ซึ่งผลการศึกษาจากงานวิจัยหลายชิ้นให้การยอมรับว่า การเสริมแรงเชิงบวก สามารถกระตุ้นสร้างพฤติกรรมที่ดี และน่าพึงพอใจในกลุ่มนักเรียนได้มีประสิทธิภาพมากกว่าการเสริมแรงทางลบ

“เสริมแรงเชิงบวกอย่างไรให้เกิดผลดี”
          การเสริมแรงเชิงบวก คือการใช้วิธีการหรือการกระทำที่ก่อให้เกิดความรู้สึกพึงพอใจ เมื่อเด็กกระทำพฤติกรรมที่ดีก็จะได้รับการชื่นชมยอมรับจากคนรอบข้าง ทำให้เด็กอยากทำพฤติกรรมที่ตนเองได้รับคำชม และรู้สึกพึงพอใจเพิ่มขึ้น การเสริมแรงเชิงบวก หมายรวมถึงการให้รางวัล ไม่ว่าจะเป็นการให้สิ่งของ หรือการกระทำที่แสดงความรัก การชมเชย และการยกย่อง ทั้งหมดที่กล่าวมานั้นล้วนแล้วแต่เป็นวิธีการสนับสนุน กระตุ้นให้เด็กมีทัศนคติ พฤติกรรมที่ดีที่เหมาะสมอย่างสม่ำเสมอจนกลายเป็นอุปนิสัยของเด็กนักเรียนในที่สุด
          จากงานวิจัย ..... กล่าวว่า รูปแบบการเสริมแรงเชิงบวกบางประเภทจะใช้ได้ผล และเกิดประสิทธิภาพกับบางช่วงวัยของเด็ก ในทางปฏิบัติคุณครูจะพบว่าบางวิธีการเสริมแรงจะสามารถนำไปใช้ได้กับบางช่วงวัยของเด็กนักเรียนเท่านั้น ทุกการให้รางวัลหรือการเสริมแรงเชิงบวกไม่ได้ก่อให้เกิดพฤติกรรมที่น่าพึงพอใจเสมอไป ดังนั้น ความเข้าใจในอิทธิพลของการเสริมแรงเชิงบวกกับพัฒนาการช่วงวัยจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งต่อการสร้างพฤติกรรม และทัศนคติที่ดีของเด็กนักเรียนต่อไป

“เรียนรู้พัฒนาการของช่วงวัย เข้าใจวิธีการเสริมแรงเชิงบวกที่เหมาะสม”
          การเสริมแรงเชิงบวกถูกนำมาประยุกต์ใช้ในการจัดการเรียนรู้ในชั้นเรียนอย่างแพร่หลาย การทำความเข้าใจเรื่องของพัฒนาการของช่วงวัยที่มีความสำคัญต่อการเสริมแรงเชิงบวกจะช่วยให้การจัดการเรียนรู้ และสามารถเลือกใช้วิธีการให้รางวัลได้เหมาะสม และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เนื่องจากพัฒนาการแต่ละช่วงวัยของมนุษย์ล้วนมีความเข้าใจ และตีความต่อพฤติกรรมที่ดี และมีความต้องการรางวัลในลักษณะที่แตกต่างกันไป
          พัฒนาการช่วงวัยของเด็กที่สำคัญ และสัมพันธ์กับรูปแบบการเสริมแรงเชิงบวก สามารถแบ่งรางวัลหรือการเสริมแรงเชิงบวก ออกเป็น 3 ช่วง ดังนี้
ช่วงวัยเด็กเล็กอาจจะให้คำชมเชยมากกว่ารางวัลที่เป็นสิ่งของ
ช่วงวัยเด็กโตขึ้นให้รางวัลที่เป็นสิ่งของ และคำชมเชยมากขึ้น ปรับลดการให้สัมผัสที่อ่อนโยนลง
เมื่อถึงช่วงวัยรุ่นควรให้คำชมเชยและยกย่อง ควบคู่ไปกับการให้รางวัลที่เป็นสิ่งของ และสัมผัสที่อ่อนโยน
          อย่างไรก็ตาม รางวัลที่เหมาะสมที่สุดในทุกช่วงวัยคือ สัมผัสที่อ่อนโยนจากคนที่ใกล้ชิด ที่จะช่วยสร้างเสริมความรู้สึกเชื่อมั่น และสามารถปฏิบัติตนในทางที่ดีที่ได้รับการอบรมสั่งสอน

          แม้ว่าความรู้ความเข้าใจเรื่องการเสริมแรงเชิงบวกจะแพร่หลาย และได้รับการพูดถึงอยู่เสมอในการจัดการเรียนการสอนที่ยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลางให้เกิดประสิทธิภาพ โดยประยุกต์หลักการทางจิตวิทยาในการทำความเข้าใจอารมณ์ความรู้สึก รวมทั้งพฤติกรรมของนักเรียนมากยิ่งขึ้นก็ตาม แต่การใช้วิธีเสริมแรงเชิงบวกนั้นต่างก็มีเงื่อนไข และความเหมาะสมของการนำไปใช้เช่นกัน หนึ่งในเงื่อนไขดังกล่าวก็คือ การรับรู้ และความต้องการตามพัฒนาการของช่วงวัย บางวิธีสามารถใช้ได้ผลกับเด็กบางช่วงวัยเท่านั้น ดังนั้นการนำวิธีเสริมแรงเชิงบวกไปใช้จึงควรคำนึงถึงข้อจำกัด และความเหมาะสมกับพัฒนาการในแต่ละช่วงวัยของเด็กเป็นสำคัญ

ที่มา:
ดวงเดือน พันธุมนาวิน. (2541). การปรับพฤติกรรมเพื่อการพัฒนาประเทศ. คณะพัฒนาสังคม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์. กรุงเทพฯ.


TAG: #การเสริมแรง #การจัดการชั้นเรียน #จิตวิทยาแนะแนว #จิตวิทยาการเรียนรู้ #ความยั่งยืน