Knowledge
อุ่นใจก่อนไปโรงเรียนท่ามกลางโควิด ด้วยทักษะ Health Literacy
2 years ago 2235โรคโควิด 19 ได้อยู่กับมนุษย์มาเกือบ 2 ปีทำให้มาตรการทางการแพทย์ที่เคยใช้จัดการป้องกันโรค ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันของเราไปแล้ว ทั้งการสวมหน้ากากอนามัย การเว้นระยะห่าง และการล้างมืออย่างสม่ำเสมอ แต่ด้วยสถานการณ์ที่ยังไม่แน่นอน การปฏิบัติตามแนวทางดังกล่าวจะเพียงพอหรือไม่สำหรับการเปิดโรงเรียนต้อนรับนักเรียนอีกครั้งในรอบหลายเดือนนี้ จะทำอย่างไรให้นักเรียนรวมถึงบุคลากรในโรงเรียนเตรียมพร้อม เท่าทัน และประยุกต์ใช้ความรู้ด้านสุขภาพดูแลตนเองให้แข็งแรง และปลอดภัยจากการเจ็บป่วย และโรคระบาดครั้งนี้ได้
ทำความรู้จัก ความรอบรู้ด้านสุขภาพ
องค์การอนามัยโลกได้ให้นิยาม Health literacy หรือ ความรอบรู้ด้านสุขภาพไว้ว่า เป็นทักษะและความสามารถของคน ๆ หนึ่ง ในการเข้าถึงข้อมูลเพื่อทำความเข้าใจ วิเคราะห์ แปลความหมาย ประเมิน และปฏิบัติตามเพื่อสุขภาพที่ดี ทั้งสามารถที่จะใช้ข้อมูลข่าวสารที่ได้รับมาในการส่งเสริม และดำรงรักษาซึ่งสุขภาพที่ดีทั้งของตนเอง และชุมชนด้วย เห็นได้ว่าความรอบรู้ทางสุขภาพ ไม่ใช่เพียงการมีความรู้เท่านั้น แต่เป็นทักษะและเจตคติที่ต้องฝึกฝนและใช้งานไปทั้งชีวิต
พัฒนาความรอบรู้ผ่านกิจกรรมสร้างสรรค์
สำหรับการออกแบบการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมทักษะนี้ให้กับนักเรียน คุณครูสามารถนำเสนอสถานการณ์รอบตัวมาใช้เป็นโจทย์ท้าทายการเรียนรู้ให้เหมาะกับช่วงวัย ตัวอย่างเช่น
• ค้นคว้าวิธีล้างมือแบบใหม่
• ชวนออกแบบป้ายแนะนำการปฏิบัติตัวช่วงโควิดเพื่อนำไปใช้จริงในบริเวณของโรงเรียน
• ตั้งคำถามถึงความสะอาดและคุณค่าของอาหารของขนมที่ขายบริเวณรอบโรงเรียน
กิจกรรมเชิงบูรณาการเหล่านี้คุณครูสามารถใช้เนื้อหารายวิชาอื่นเข้ากับเนื้อหาหลักในวิชาสุขศึกษา ที่เป็นวิชาหลักในการจัดการเรียนรู้ เช่น ทักษะการจับใจความในรายวิชาภาษาไทยเมื่อต้องอ่านบทความสุขภาพ ทักษะการวาดภาพ และการออกแบบงานศิลปะเมื่อต้องออกแบบโปสเตอร์เพื่อสื่อสารเนื้อหาด้านสุขภาพ หรือแม้แต่วิชาสังคมศึกษาเมื่อค้นคว้าถึงปัจจัยทางการเมือง และสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลต่อสุขภาพ สรุปได้ว่าสิ่งสำคัญในการจัดการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมความรอบรู้ทางสุขภาพคือการฝึกฝนอย่างสม่ำเสมอจนเกิดเป็นเจตคติ และคุณลักษณะนิสัย
เมื่อออกแบบกิจกรรมแล้วก็ต้องคำนึงถึงเรื่องการวัดระดับความรอบรู้ด้านสุขภาพด้วย เพื่อประเมินความก้าวหน้าของนักเรียน โดยมี 3 ระดับจากการจำแนกโดยองค์การอนามัยโลก ได้แก่ ระดับที่ 1 ความรอบรู้ด้านสุขภาพระดับใช้งาน (functional) ในระดับนี้ผู้เรียนต้องสามารถค้นคว้าข้อมูลเพื่อนำมาดูแลสุขภาพและป้องกันตนเองจากการเจ็บป่วยได้ ระดับที่ 2 ความรอบรู้ด้านสุขภาพระดับปฏิสัมพันธ์ (interactive) จะเป็นการนำทักษะจากระดับที่หนึ่งมาต่อยอดร่วมกับทักษะการสื่อสารหรือแบ่งปันองค์ความรู้และประสบการณ์จากการปฏิบัติให้กับเพื่อนหรือบุคคลอื่นในชุมชนใกล้ตัว และระดับที่ 3 ความรอบรู้ด้านสุขภาพระดับวิจารณญาณ (critical) ระดับนี้นักเรียนควรสามารถมีส่วนร่วมในการออกแบบแผนการดูแลส่งเสริมสุขภาพในระดับชุมชน หรือระดับสังคมได้
หลังจากทำความรู้จักความรอบรู้ทางสุขภาพคุณครูจะเห็นว่าทักษะเหล่านี้มีความจำเป็นมากในสถานการณ์ของโรคในปัจจุบันและอนาคต ที่มีความซับซ้อนด้านข้อมูลด้านสุขภาพ ทั้งการโฆษณาชวนเชื่อ และข่าวปลอม นอกจากจะช่วยให้นักเรียนเผชิญหน้ากับความท้าทายในการดูแลสุขภาพของตัวเองและชุมชนแล้ว ยังเป็นการปูพื้นฐานไปสู่การมีส่วนร่วมในการพัฒนาระบบสุขภาพของประชาชนและประเทศต่อไป
อ้างอิง
ชลทิศ อุไรฤกษ์กุล. (2561, 20 ธันวาคม). Health literacy concept, Definition and intervention summary. http://doh.hpc.go.th/bs/topicDisplay.php?id=11
อนนท์ วิสุทธิ์ธนานนท์. (2563, 26 กุมภาพันธ์). กระบวนการสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพ. คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.https://www.chiangmaihealth.go.th/cmpho_web/document/200225158262352366.pdf