Knowledge

จากฝุ่นพิษสู่โรคระบาด บทบาทของโรงเรียนกับการรับมือภัยร้ายยุคใหม่

จากฝุ่นพิษสู่โรคระบาด บทบาทของโรงเรียนกับการรับมือภัยร้ายยุคใหม่

 4 years ago 7115

ผู้เขียน: นางสาว กนกวรรณ สุภาราญ
ภาพ: กชกร มั่นคงเจริญกิจ

          กระแสการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส Covid 19 ที่กำลังตกอยู่ในสถานการณ์การแพร่ระบาดในระดับที่สูงและเป็นอันตรายมากขึ้นเรื่อยๆ ประกอบกับภัยฝุ่นพิษ PM 2.5 ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้คนในพื้นที่ต่างๆ ของไทยเป็นอย่างมาก ส่งผลให้กระแสการเรียนรู้วิธีการป้องกันตนเองจากเชื้อโรคและฝุ่นพิษต่างได้รับความสนใจจากสังคมในวงกว้าง แต่ในทางกลับกันเมื่อสังเกตดูดีๆ กลับพบว่านักเรียนในโรงเรียนขนาดกลางและ โรงเรียนขนาดเล็กจำนวนมากที่มีความรู้ในการป้องกันตัวและ ยังคงรับมือกับภัยร้ายใกล้ตัวเหล่านี้อย่างไม่เหมาะสมเท่าไหร่นัก

โรงเรียนมีบทบาทสำคัญในการอบรมวิธีการป้องกันโรคระบาด และฝุ่นพิษ

          หากครอบครัวไหนมีทุนทรัพย์เพียงพอจะซื้อหาหน้ากากอนามัย แอลกอฮอล์ล้างมือ รวมทั้งมีความรู้ความใส่ใจในเรื่องของการป้องกันตน มีแนวโน้มที่จะสอนวิธีการป้องกันตนเองจากเชื้อโรคให้บุตรหลานเป็นอย่างดี ในทางกลับกัน เด็กนักเรียนที่ไม่มีทุนทรัพย์และ ขาดการอบรมสั่งสอนถึงวิธีป้องกันตนเองอย่างถูกวิธี บทบาทและหน้าที่สำคัญของสถานศึกษาในการให้ข้อมูลที่ถูกต้องจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง นอกเหนือจากการอบรมของครอบครัว การอบรมสั่งสอนของโรงเรียนสำหรับนักเรียนก็มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน การสอนให้นักเรียนปฏิบัติตนให้ถูกสุขลักษณะเพื่อหลีกเลี่ยงการติดเชื้อ อีกทั้งปลูกฝังค่านิยมการตระหนักรู้ต่ออันตรายของโรคติดต่อให้แก่เด็กนักเรียนเพื่อรับมือกับปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

การจัดสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการรับมือป้องกันโรคและฝุ่นพิษ

          การจัดเตรียมสื่อเพื่อให้ความรู้เรื่องการป้องกันโรคระบาดตามบริเวณต่างๆ ของโรงเรียน เช่น ป้ายประชาสัมพันธ์ และ ป้ายความรู้ เป็นต้น เพื่อเป็นการเสริมแรงและกระตุ้นให้นักเรียนตระหนักในความสำคัญของการดูแลป้องกันตนเองในเบื้องต้นจากการพบเห็นสื่อประชาสัมพันธ์ในสถานที่ต่างๆ ภายในโรงเรียนบ่อยยิ่งขึ้น อีกทั้งมีการจัดเตรียม สบู่ และแอลกอฮอล์เจล ตามห้องน้ำและจุดล้างมือ เพื่อลดการสั่งสมของเชื้อโรคและสร้างเสริมการประพฤติเพื่อสร้างสุขลักษณะที่ดีให้นักเรียนในระยะยาว

การป้องกันที่ยั่งยืนเริ่มได้จากการเรียนรู้ในห้องเรียน

          ครูผู้สอนสามารถสร้างชั้นเรียนบูรณาการความรู้เรื่องการดูแลตัวเองอย่างไรให้ปลอดภัยจากโรคระบาดที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อเป็นการเตรียมตัวรับมือให้พร้อม ไม่เพียงแค่ในวิชาวิทยาศาสตร์หรือสุขศึกษาเท่านั้น แต่ยังสามารถนำมาบูรณาการเข้ากับวิชาเรียนอื่นๆ ได้น่าสนใจไม่แพ้กัน ตัวอย่างเช่น วิชาภาษาอังกฤษ ครูสามารถจัดการเรียนการสอนผ่านการทำกิจกรรมในชั้นเรียนโดยมีสื่อการเรียนรู้เป็นภาพของอุปกรณ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันโรค ในการสอนคำศัพท์ แล้วจึงให้นักเรียนจับกลุ่มเลือกนำเสนออุปกรณ์ที่สำคัญในการป้องกันตนเองจากโรคระบาดตามสถานการณ์ที่กำหนดให้ เพื่อทดสอบเบื้องต้นถึงความรู้ทั่วไปของนักเรียนในการป้องกันเชื้อโรค พร้อมทั้งสรุปคาบเรียนโดยการแนะนำวิธีการดูแลตัวเองที่ถูกต้อง และชวนนักเรียนนึกถึงการดำเนินชีวิตประจำวันจริงๆ ของนักเรียนว่าปลอดภัยปราศจากเชื้อโรคมากแค่ไหน หรืออาจจะเป็นการจัดการเรียนรู้ผ่านการค้นคว้าหาข้อมูลและสรุปเป็นภาษาไทย พร้อมคำศัพท์ภาษาอังกฤษน่ารู้ ซึ่งการเรียนรู้เช่นนี้จะทำให้เด็กนักเรียนเห็นภาพของความรุนแรงและภัยของโรคระบาด หรือแม้กระทั่งปัญหามลภาวะต่างๆ ที่ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิต นอกจากนั้นยังสามารถผสานเข้ากับการเรียนรู้เรื่องการใช้ประโยคสนทนาเกี่ยวกับสถานการณ์ในโรงพยาบาลเบื้องต้น ซึ่งเป็นการเชื่อมโยงกิจกรรมการเรียนรู้เข้ากับประสบการณ์ชีวิต ทำให้นักเรียนเห็นความสำคัญของการใช้ภาษาอังกฤษในการศึกษาและการใช้ชีวิตมากยิ่งขึ้น

          การสอดแทรกปรากฏการณ์สำคัญเข้ากับบทเรียนหรือการทำกิจกรรมในชั้นเรียนจะช่วยลดความเบื่อหน่ายจากการเป็นผู้รับสารทางเดียวซ้ำไปซ้ำมา ทั้งยังเป็นการกระตุ้นให้เกิดความตระหนักในความสำคัญของปัญหาที่เกิดขึ้นผ่านการผสานเข้ากับความรู้ในบทเรียนให้สมจริงและสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้อีกด้วย โรงเรียนจึงมีบทบาทอย่างยิ่งต่อการสร้างสุขลักษณะที่ดีและส่งเสริมให้ความรู้เรื่องการดูแลป้องกันตนเองผ่านการจัดสภาพแวดล้อมและการจัดการเรียนรู้ในชั้นเรียนที่ถูกต้องและเป็นประโยชน์

ที่มา https://www.matichon.co.th/education/news_1919941

https://thaiedujobs.com/articles/16


TAG: #บูรณาการ #การจัดการเรียนรู้ในชั้นรียน #การจัดการเรียนการสอนในโรงเรียน #โควิด19 #COVID19 #โรคระบาดใหญ่ #PM2.5 #ฝุ่นพิษ #มลพิษทางอากาศ