Knowledge
รู้จักปูม้า: บูรณาการวิทย์ – ศิลป์
2 years ago 3299การบูรณาการศิลปะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งวิทยาศาสตร์ (แขนงชีวภาพ) สามารถกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ อีกทั้งยังมีส่วนช่วยพัฒนาความเฉลียวฉลาด อารมณ์ และความคิดสร้างสรรค์ โดยที่ทั้ง 2 ศาสตร์นี้มุ่งอธิบายโลกรอบตัวเรา ไม่ว่าจะด้วยวิธีการสังเกต บันทึก ถ่ายทอด และการสร้างสรรค์ผลงานทางศิลปะ ซึ่งจะทำให้เข้าใจโลกรอบตัวและรับรู้การเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมรอบตัวได้ ในบทความนี้ EDUCA จะขอเชิญชวนทุกท่านไปเรียนรู้วิธีการนำ “ศิลปะ” มาบูรณาการกับการเรียน “วิทยาศาสตร์ชีวภาพ” จากหัวข้อ “การพัฒนากิจกรรมปูและถิ่นอาศัยแบบวิทย์สนิทศิลป์” ซึ่งเป็นโครงการขององค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.)
ในเบื้องต้น การบูรณาการศิลปะและวิทยาศาสตร์สามารถกระทำได้หลากหลายวิธี ได้แก่ การสังเกตและการตีความ (Depiction) เป็นการส่งเสริมให้ใช้การสังเกตมาบันทึกด้วยการวาดภาพหรือด้วยข้อความ ต่อมาคือ การลอกเลียนแบบและการแสดงบทบาท (Mimicry) โดยสามารถแสดงออกด้วยการแสดงละคร หรือเป็นการสวมบทบาทของนักธรรมชาติวิทยาก็ได้ นอกจากนั้นแล้วยังสามารถใช้ การเปรียบเทียบ/เทียบเคียง (Metaphor/analogy) ด้วยการบันทึกสิ่งมีชีวิตที่เห็นกับรูปร่าง รูปทรง ที่ตนเองรู้จัก และวิธีการสุดท้ายคือจินตนาการ/การมองการณ์ข้างหน้า (Projection) คือการนำข้อมูลที่ได้เรียนรู้มาคาดการณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้น
จากกลวิธีการจัดกิจกรรมบูรณาการศิลปะและวิทยาศาสตร์ข้างต้น สามารถยกตัวอย่างเนื้อหาสาระการเรียนรู้ของแต่ละศาสตร์ได้ว่า ในเชิงศิลปะ ผู้เรียนสามารถนำความรู้เรื่องรูปร่าง รูปทรง สีสัน แผนผัง งานปั้น งานประดิษฐ์ ละคร เพลง บทกลอน ฯลฯ มาใช้ร่วมกับสาระการเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์ เช่น การจำแนกสิ่งมีชีวิต พืช สัตว์ การปรับตัว ห่วงโซ่อาหาร และความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศ
ด้วยศาสตร์ของการบูรณาการและตัวอย่างข้างต้น จึงเกิดแรงบันดาลใจของการสร้างพื้นที่การเรียนรู้ธรรมชาติในเรื่องของ “ปูม้า” โดยมีหลักการ 5 ขั้นตอน ได้แก่ การศึกษาและรวบรวมองค์ความรู้จากแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือและตรงกับประเด็นที่จะสอนเกี่ยวกับปู การวางแผนการพัฒนากิจกรรม โดยกำหนดวัตถุประสงค์ แนวคิดหลัก งบประมาณ และวัสดุอุปกรณ์ จากนั้นจะเริ่มการสร้างกิจกรรม โดยดำเนินตามแผนการพัฒนาการศึกษาที่ตั้งไว้ อีกทั้งต้องออกแบบกิจกรรมให้มีความสนใจด้วยเทคโนโลยีประเภทต่าง ๆ โดยมีระยะเวลาในการจัดกิจกรรมที่เหมาะสม และควรมีการวัดและประเมินผลที่หลากหลาย อย่างไรก็ตาม ก่อนนำกิจกรรมไปใช้จริงควรมีการทดลองเพื่อนำข้อบกพร่องไปปรับแก้ เช่น ระยะเวลาอาจจะไม่เหมาะสม อุปกรณ์ไม่เพียงพอ สื่อมีความบกพร่อง ฯลฯ ซึ่งอาจหากลุ่มตัวอย่างหรือกลุ่มผู้เรียนมาร่วมการทดลองได้ เมื่อได้ผลสรุปที่พึงพอใจแล้วจึงจะเป็นการนำไปใช้จริง
ต่อไปนี้จะเป็นการยกตัวอย่างกิจกรรม “รู้จักปูม้า” ซึ่งเป็นกิจกรรมการเรียนรู้แบบบูรณาการศิลปะและวิทยาศาสตร์
กิจกรรม “รู้จักปูม้า”
วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษารูปร่างลักษณะภายนอก สีสัน และลักษณะเด่นของปูม้า
ระยะเวลา: 30 นาที
อุปกรณ์: ดินสอ ดินสอสี ยางลบ และภาพ หรือตัวอย่างปูม้า
ลำดับกิจกรรม: ให้ผู้เรียนวาดปูม้าผ่านการสังเกตจากภาพ หรือตัวอย่าง เช่น รูปทรง สี ลักษณะเด่นของขา ลักษณะเด่นของกระดอง ลักษณะเด่นของท้อง ซึ่งตัวอย่างของปูม้าที่นำมาควรมีทั้งเพศผู้และเพศเมีย เพื่อให้ผู้เรียนเปรียบเทียบผ่านการสังเกตเพื่อเห็นถึงลักษณะเฉพาะที่แสดงถึงเพศของปูม้า ทั้งนี้กิจกรรมสามารถปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับช่วงวัยของผู้เรียน
จากตัวอย่างกิจกรรมดังกล่าวผู้เรียนสามารถเรียนรู้วิทยาศาสตร์ทางชีววิทยาจากการใช้ทักษะการวาดรูป ซึ่งภาพที่ออกมาเกิดจากการเรียนรู้ที่หลากหลายวิธี เช่น การสังเกต การเปรียบเทียบ การจำแนกส่วน ฯลฯ อย่างไรก็ตามหากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID -19 ดีขึ้น การพาผู้เรียนไปศึกษาจากแหล่งธรรมชาติจริงจะทำให้ผู้เรียนเข้าใจความหลากหลายทางชีวภาพและระบบนิเวศมากขึ้น
ที่มา:
บรรยาย Workshop หัวข้อ “การพัฒนากิจกรรมปู และถิ่นอาศัย แบบวิทย์สนิทศิลป์” โดยวิทยากร นายวันชัย สุขเกษม และนายชีวสิทธิ์ ปุณยเกียรติ - นักวิชาการ อพวช.