Knowledge
คุณลักษณะอันพึงประสงค์ (ของใคร?) : ชวนส่องคุณค่าใหม่ที่นักเรียนทั่วโลกต้องการ
1 year ago 4025จิราเจต วิเศษดอนหวาย
ณ เวลาที่เขียนบทความนี้ กระแสการหวนรำลึกถึงวิถีชีวิตในยุค Y2K (ปลาย 1990s - 2000s) กำลังเป็นที่นิยม ยุคดังกล่าวเป็นยุคที่สะท้อนคุณค่าของอิสรภาพและความสนุกสนาน สำหรับวงการการศึกษาไทยก็ได้มีปรากฏการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในยุคเปลี่ยนผ่านนี้เช่นกัน คือ การกำหนดคุณลักษณะอันพึงประสงค์ให้สถานศึกษาจัดการประเมินผู้เรียนควบคู่ไปในกระบวนการเรียนการสอน
ปรากฏการณ์ดังกล่าวถือเป็นเรื่องใหม่ในวงการการศึกษาในช่วงเวลานั้น แต่เมื่อเวลาผ่านไปกว่า 20 ปีที่ปัจจุบันระบบคุณค่าและบริบททางสังคมเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก และมีแนวโน้มว่าจะเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จึงเป็นโอกาสอันดีที่เราจะได้ย้อนทบทวนและมองหาความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ในการปรับปรุงแก้ไขให้เข้ากับยุคสมัย
กว่าจะมาเป็นคุณลักษณะอันพึงประสงค์
หลังการประกาศใช้พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2545 ที่เน้นความสำคัญทั้งความรู้และคุณธรรมโดยใช้ประโยคคุ้นหูมาจนปัจจุบันที่ว่า “เก่ง ดี มีสุข” และเมื่อประกาศใช้หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 ก็ได้มีการกำหนดคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของผู้เรียนไว้ 8 ประการ ได้แก่ รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ซื่อสัตย์สุจริต มีวินัย ใฝ่เรียนรู้ อยู่อย่างพอเพียง มุ่งมั่นในการทำงาน รักความเป็นไทย มีจิตสาธารณะ จุดมุ่งหมายในการกำหนดคุณลักษณะดังกล่าวนั้นก็เพื่อให้นักเรียนสามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้อย่างมีความสุข ทั้งในฐานะพลเมืองที่ดีของชาติและพลเมืองโลกที่ใส่ใจสิ่งรอบตัว
แม้เป้าหมายในการพัฒนาทักษะทางสังคมผ่านคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของหลักสูตรการศึกษาไทย จะถูกให้ความสำคัญเท่ากับการพัฒนาทักษะด้านวิชาการ แต่ในทางปฏิบัติจริงอาจเกิดความไม่สอดคล้องกันของหลักการทั้งสอง สังเกตได้จากการกวดขันระเบียบวินัยด้านการแต่งกายจนนำไปสู่การละเมิดสิทธิเหนือเนื้อตัวร่างกาย เช่น การตัดผมเพื่อลงโทษ จนมีกระแสสังคมวิพากษ์วิจารณ์ในโลกออนไลน์ถึงการกำหนดคุณลักษณะอันพึงประสงค์ที่ทันสมัยและเอื้อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้เรียน
คุณลักษณะที่พึงประสงค์ต้องเกิดประโยชน์จริงกับผู้เรียน
หากเราลองมองในมุมที่กว้างออกไป ในต่างประเทศก็มีการกำหนดคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของผู้เรียนเช่นเดียวกัน และคุณลักษณะเหล่านั้นส่วนใหญ่จะมีการวิจัยรองรับว่าสามารถส่งเสริมพัฒนาการด้านผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรู้ไปพร้อม ๆ กับทักษะชีวิตของนักเรียนได้
Carol Lloyd ผู้วิจัยจากสถาบัน Habits of Mind and Thinking Maps ได้กล่าวถึงหัวใจสำคัญของการวิจัยเพื่อค้นหาคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของผู้เรียนไว้ว่า ต้องก้าวข้ามกรอบแนวคิดการแบ่งศาสตร์ความรู้ และไปสู่การบูรณาการระหว่างศาสตร์หรือข้ามศาสตร์ เพราะจะช่วยให้เราเห็นความจริงที่ว่าเส้นทางการพัฒนาทักษะทางวิชาการ (academics) และทักษะทางอารมณ์และสังคม (social-emotional learning) ไม่ได้ถูกแยกจากกัน ทั้งยังเชื่อมโยงกันอย่างลึกซึ้งด้วย
Carol ได้วิจัยและค้นพบว่ามีคุณลักษณะของผู้เรียน 4 ประการที่น่าพึงประสงค์หากเราต้องการพัฒนาผู้เรียนอย่างรอบด้าน ได้แก่
1. ความสามารถในการให้อภัย (forgiveness) ผู้วิจัยพบว่าเมื่อผู้เรียนมีความสามารถในการให้อภัยโดยเฉพาะการให้อภัยตนเองจะทำให้ผู้เรียน ก้าวผ่านความผิดพลาด และกล้าที่จะทำฝึกฝนพัฒนาตนเองรวมไปถึงกล้าที่จะเปิดใจการเรียนรู้สิ่งใหม่
2. ความสามารถในการกำหนดเป้าหมาย (sense of purpose) เมื่อผู้เรียนสามารถกำหนดเป้าหมายได้ คุณลักษณะนี้จะช่วยให้ผู้เรียนเต็มใจที่จะทำกิจกรรมและการเรียนรู้ที่จะนำไปสู่การบรรลุเป้าหมาย
3. ความสามารถในการซาบซึ้งใจ (gratitude) ต่อสิ่งดี ๆ ที่เกิดขึ้นกับผู้เรียนซึ่งอาจจะเป็นการกระทำของคนรอบตัว เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น สิ่งนี้จะช่วยให้ผู้เรียนสามารถมองเห็นโอกาสในการเรียนรู้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด และปลูกฝังความรักในการเรียนรู้ในตลอดชีวิต
4. ความถ่อมตน (humble) คุณลักษณะนี้มาจากการยอมรับธรรมชาติในการเรียนรู้ของมนุษย์นั่นคือความใฝ่รู้ (curiosity) การคงธรรมชาติในการเรียนรู้ข้อนี้ไว้คือการยอมรับในความไม่รู้ของตนเอง การปลูกฝังความถ่อมตนในความไม่รู้จึงเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้เรียนไม่อายที่จะถาม ไม่อายที่จะขอความช่วยเหลือเพื่อพัฒนาตนเอง
เมื่อย้อนกลับมาพิจารณาความเป็นไปได้ในการพัฒนากรอบแนวคิดการค้นหา หรือกำหนดคุณลักษณะอันพึงประสงค์ในบริบทสังคมไทย ก็พบว่ายังมีความหวัง ด้วยการค้นคว้าและบูรณาการด้านวิชาการอย่างเข้มแข็ง ที่สำคัญคือการยึดประโยชน์ของผู้เรียนเป็นสำคัญ เพราะการปลูกฝังคุณลักษณะอาจจะคงอยู่ไปตลอดชีวิตของผู้เรียน ไม่แน่ว่า ในอีกหลายสิบปีข้างหน้า เราอาจจะได้เห็นปรากฏการณ์การรำลึกถึงความทรงจำวัยเรียนที่ดีต่อใจเหมือนกระแส Y2K ที่ได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีตอนนี้ก็เป็นได้
แหล่งข้อมูลอ้างอิง
ณรงค์ชัย ธนกิจภาคิน. (2561). การพัฒนาคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของผู้นำนักเรียนระดับประถมศึกษา ในศตวรรษที่ 21 ของสถานศึกษาเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (วิทยานิพนธ์ปริญญาดุษฎีบัณฑิต, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่). http://www.graduate.cmru.ac.th/core/km_file/394.pdf
อัจศรา ประเสริฐสิน. (2558). การพัฒนารูปแบบการวัดคุณลักษณะอันพึงประสงค์ 8 ประการ ของนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษา (รายงานการวิจัย). สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน).
Lloyd, C. (2021, November 15). Four character strengths that can help kids learn. Greater Good magazine. https://greatergood.berkeley.edu/article/item/four_character_strengths_that_can_help_kids_learn
Meador, D. (2019, August 06). 10 characteristics of great students. ThoughtCo. https://www.thoughtco.com/perfect-student-characteristics-4148286