Knowledge
เริ่มต้นสอนยังไง ให้ได้ใจนักเรียน
1 year ago 2413จิราพร เณรธรณี
'Well begun is half done' หรือที่เราคุ้นกับประโยคที่ว่า 'เริ่มต้นดีมีชัยไปกว่าครึ่ง' หากเปรียบกับการจัดการเรียนการสอน คงเปรียบได้กับการออกแบบขั้นนำ ซึ่งเป็นขั้นแรกที่ครูหลายคนอาจมองข้าม เพราะขั้นนี้จะช่วยให้นักเรียนได้เตรียมตัวและใจพร้อมรับเนื้อหาที่จะเรียน อีกทั้งเป็นขั้นที่จะสะท้อนให้เห็นว่าทั้งคาบของครูจะดำเนินไปได้ราบรื่นหรือไม่ ผ่านการใช้เทคนิคและตัวครูเอง
เริ่มจากตัวครูก่อน
ครูเปรียบกับพิธีกรที่ดำเนินการเรียนการสอน การสร้างความประทับใจแรกจึงต้องเริ่มจากผู้ริเริ่มดำเนินการเรียนการสอน นั่นก็คือ ‘ครู’ นั่นเอง โดยมี 2 แนวทางหลัก คือ การสร้างความสัมพันธ์เชิงบวก และเตรียมจัดการอารมณ์ของตนเอง ดังนี้
การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีผ่านการเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้นักเรียนผ่านการสื่อสาร โดยการพูดคุยหรือถามเกี่ยวกับนักเรียน แสดงให้เห็นถึงความใส่ใจและความห่วงใยจากใจจริง นอกจากนี้ การแสดงออกท่าทางที่ไม่ดูเคร่งขรึมเกินไป แล้วเปลี่ยนมาเป็นรอยยิ้มและความสดใส จะสามารถช่วยสร้างบรรยากาศที่ดีในชั้นเรียนได้
การจัดการกับอารมณ์ แน่นอนว่า ก่อนหน้าจะเข้าสอน แม้คุณครูจะเจอเรื่องที่เลวร้าย หรือความรู้สึกที่ไม่ดี เมื่อเริ่มต้นสอนในคาบเรียนใหม่ ครูต้องละทิ้งความรู้สึกที่ไม่ดีเหล่านั้นทั้งหมด ตั้งหลัก แล้วจัดการกับอารมณ์ให้อยู่ในภาวะปกติและพร้อมที่จะสอนก่อน
หาเทคนิคที่ใช่
เทคนิคหนึ่งที่มักสร้างความตื่นเต้นให้กับนักเรียน ก็คือการผสานเรื่องราวที่กำลังเป็นกระแส หรือสื่อที่มีความแปลกใหม่ ให้เป็นส่วนหนึ่งกับเนื้อหาที่กำลังจะสอน เช่น ข่าว วิดีโอขนาดสั้น ภาพ ฯลฯ แล้วให้นักเรียนแสดงความคิดเห็นแบบสะท้อนคิดผ่านกระดาษโพสต์อิต หรือบนแอปพลิเคชันต่าง ๆ ก็ทำให้ห้องเรียนมีสีสันขึ้นมาได้
หรืออีกเทคนิคหนึ่ง คือการหากิจกรรม หรือเกมที่มีความท้าทายและแปลกใหม่ ดูก็มีความน่าสนใจ แต่หากครูใช้กิจกรรม หรือเกมซ้ำกันจนบ่อยเกินไป อาจทำให้พวกเขารู้สึกเบื่อได้ อย่างไรก็ตาม ไม่ว่ากิจกรรมหรือเกมที่นำมาหากสนุกและท้าทายมากเพียงใด แต่ไม่ควรลืมจุดประสงค์หลัก คือเพื่อทบทวนเนื้อหาในคาบก่อน หรือเตรียมพร้อมสู่เนื้อหาในคาบเรียน โดยคำนึงถึงธรรมชาติและบริบทของเนื้อหา วิชา รวมทั้งนักเรียนด้วย
ขั้นนำการสอนจะบรรลุผลตามที่ครูคาดหวังต้องเริ่มจากตัวครูก่อน และจะสมบูรณ์ยิ่งขึ้นหากมีเทคนิคอื่นเข้ามาเสริม การหยิบนำมาใช้ก็ควรดูให้เหมาะสมกับบุคลิกหรือธรรมชาติของครูด้วย เพราะหากนำเทคนิคที่ไม่เหมาะสมกับบุคลิกของครู กิจกรรมอาจจะดูกร่อยแทนที่จะสนุก เช่นเดียวกับนักรบที่ต้องรู้จักเลือกใช้อาวุธให้เหมาะมือ และสามารถใช้อาวุธเหล่านั้นได้อย่างคล่องแคล่ว สุดท้ายนี้ การค้นหาเทคนิคใหม่ ๆ ที่หลากหลายเพื่อนำมาปรับใช้ให้เหมาะกับตัวเองก็เป็นเรื่องที่ครูยุคใหม่ควรทำด้วยเช่นกัน
รายการอ้างอิง
Bailey J. (n.d.). How to be a safe space for someone. Centerstone. https://centerstone.org/news-events/news/how-to-be-a-safe-space-for-someone/
Sammons A. (2020, 18 August). Lesson openings: how to start a lesson well. Teach It. https://www.teachit.co.uk/cpd/ite/lesson-openings
Inskru. (ม.ป.ป.). จูนความพร้อมก่อนเข้าบทเรียน. https://inskru.com/tag/