Knowledge

เมื่อโลกเรียกร้องให้โรงเรียนปรับตัว : เตรียมครูและผู้เรียนพร้อมรับปี 2023 และอนาคต

เมื่อโลกเรียกร้องให้โรงเรียนปรับตัว : เตรียมครูและผู้เรียนพร้อมรับปี 2023 และอนาคต

 2 years ago 2697

วรเชษฐ แซ่เจีย เรียบเรียง

        ปีใหม่ 2023 ที่กำลังจะมาถึงนี้ เป็นช่วงเวลาที่จะชวนให้ใคร ๆ หันกลับมาทบทวนสิ่งที่เกิดขึ้นในปีที่กำลังจะผ่านพ้น และเมื่อพูดถึงวงการการศึกษาเอง คุณครูผู้อ่านก็น่าจะประสบกับเหตุการณ์และประสบการณ์ที่ชวนให้ได้เรียนรู้และพัฒนาตัวเองไม่น้อย ถึงกระนั้นก็ยังมีอีกหลายสิ่งที่คุณครูสามารถปรับได้อีก EDUCA ขอนำเสนอ 3 สิ่งในโรงเรียนที่พร้อมปรับทันที เพื่อให้ลูกศิษย์ได้เติบโตและพัฒนาให้พร้อมรับกับความไม่แน่นอนในอนาคต

3 สิ่งที่โรงเรียนควรปรับเพื่ออนาคต

เนื้อหาแบบไหน ช่วยพัฒนาเด็กไทยให้อยู่รอด
          ทุกช่วงปลายเทอม คุณครูหลายคนอาจจะกังวลว่าสอนตามเนื้อหาไม่ทันพร้อม ๆ กับต้องเตรียมให้นักเรียนพร้อมกับการสอบที่จะตามมา ไม่ว่าจะเป็นการสอบเก็บคะแนนที่ค้างอยู่ การสอบปลายภาคเรียน หรือการทดสอบระดับชาติอื่น ๆ ความรู้ที่ใช้ในการสอบเหล่านี้แม้จะเป็นประโยชน์ต่อนักเรียนในระยะสั้น คือ ช่วยให้ได้คะแนนดี ๆ พร้อมสำหรับการศึกษาต่อในอนาคต แล้วมิติอื่น ๆ ของการใช้ชีวิตที่อาจมองข้ามไป คุณครูได้เตรียมพร้อมสำหรับพวกเขาแล้วหรือยัง
          นับแต่ที่มีวิกฤตการณ์โควิดที่ผ่านมา มีเสียงเรียกร้องมากมายให้หันมาสร้างหลักสูตรแบบใหม่ที่มองเห็นความเป็นมนุษย์มากขึ้น และตอบโจทย์การใช้ชีวิตจริง ๆ ของนักเรียน บ้างก็ว่าเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้แบบองค์รวม (holistic learning) ที่ให้ความสำคัญทั้งกับเรื่องวิชาการ ทักษะการใช้ชีวิต (soft skills / learning skills) และสุขภาวะของนักเรียนให้มากขึ้น รวมไปถึงการพัฒนาหลักสูตรฐานต่อยอดปลายทางการเรียนรู้สู่สมรรถนะ(competency-based curriculum) ที่จะขับเน้นให้นักเรียนลงมือปฏิบัติจากความรู้ที่มีได้จริง ปีใหม่นี้น่าจะเป็นโอกาสดีที่เหล่าคุณครูมาทบทวนสิ่งที่ได้ลองทำมาเพื่อสร้างแนวการสอนใหม่ ๆ ที่เป็นประโยชน์กับผู้เรียนยิ่งขึ้น

เตรียมครูและผู้เรียนพร้อมรับปี 2023 และอนาคต

เทคโนโลยีเรื่องใกล้ตัว…แต่ใช้งานให้เต็มที่แล้วหรือยัง
          แม้ว่าในช่วงโควิดที่ผ่านมาจะมีการสนับสนุนให้การเรียนย้ายขึ้นไปบนโลกออนไลน์ จนครูต้องปรับตัวเป็นนักดิจิทัลกันอย่างฉับพลัน และหวังว่าจะช่วยให้นักเรียนเข้าถึงการศึกษาได้ดีดังเช่นเวลาปกติ แต่เมื่อกลับมาเปิดชั้นเรียนปกติแล้วก็ยังมีครูจำนวนไม่น้อยที่กลับมาใช้มาตรการห้ามให้นักเรียนใช้โทรศัพท์ในห้องเรียนเช่นเดิม เพราะเกรงว่านักเรียนจะไม่ให้ความสำคัญกับสิ่งที่เรียน ปรากฏการณ์นี้ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจนัก
          สิ่งนี้เกิดจากการมองเทคโนโลยีในฐานะ เป้าหมาย กล่าวคือ เทคโนโลยีถูกใช้ด้วยความตั้งใจของครูเช่นว่า “ในคาบนี้ ฉันตั้งใจจะใช้แอปช่วยสอนที่ฉันเพิ่งรู้จักกับนักเรียน และหวังว่าพวกเขาจะชอบ” หรือบางครั้งก็มองเป็น ทางออกของปัญหา ดังเช่นที่ครูหลายคนหันไปใช้แพลตฟอร์มออนไลน์เพื่อให้นักเรียนเข้าถึงสื่อการเรียนรู้ที่เตรียมไว้ แต่ไม่ได้เกิดจากการตั้งโจทย์หรือพบปัญหาการเรียนรู้จากนักเรียน แล้วจึงนำเทคโนโลยีเหล่านั้นมาเป็น เครื่องมือ (digital tools) ที่ช่วยให้นักเรียนได้เรียนรู้ในหัวข้อนั้น ๆ ได้ ในรูปแบบของการจัดการเรียนรู้ที่หลากหลาย เช่น Gamification หรือเทคโนโลยีความจริงเสมือน รวมถึงช่วยให้การวัดและประเมินผลมีความหลากหลายขึ้นเช่นกัน

เตรียมครูและผู้เรียนพร้อมรับปี 2023 และอนาคต

เปลี่ยนการเรียนรู้ ปรับรูปแบบเดิม ลองแนวคิดใหม่
          อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่าคุณครูหลายคนได้มีโอกาสจัดการเรียนรู้แบบผสมผสาน (hybrid) มาบ้างแล้วจากการเปิด-ปิดโรงเรียนจากผลกระทบของโควิด สิ่งเหล่านี้ได้เปลี่ยนวิธีการเรียนรู้ของนักเรียนและวิธีการทำงานของครูไปไม่มากก็น้อย ดังที่พบว่าเมื่อถึงเวลาที่กลับมาเรียนแบบ onsite นักเรียนรู้สึกไม่สะดวกใจที่ต้องกลับมาเรียนในชั้นเรียนอีกครั้ง แม้ว่าจะได้เจอเพื่อน ๆ ก็ตาม
          นี่เป็นโอกาสดีอย่างมาก ที่ครูและผู้บริหารจะร่วมกันกลับมาวางแผนการจัดการเรียนรู้ในโรงเรียนให้นักเรียนก็ได้เรียนรู้ และครูก็สามารถทำงานได้อย่างประสิทธิภาพสูงสุด ผ่านการออกแบบรูปแบบการเรียนรู้ที่ยืดหยุ่นและหลากหลายมากขึ้น โดยใช้แพลตฟอร์มและเทคโนโลยีที่เคยใช้แล้ว ในที่นี้ผู้เขียนไม่ได้หมายความว่า คุณครูจะต้องใช้เทคนิคห้องเรียนกลับด้าน (flipped classroom) ในการเตรียมสื่อและเอกสารให้นักเรียนเตรียมตัวมาก่อนในทุกหัวข้อและทุกวิชา เพราะจะกลายเป็นการสร้างภาระให้ทั้งครูและนักเรียนไปแทนในการเตรียมตัวก่อนเข้าห้องเรียน แต่เป็นการกล้าลองออกแบบกระบวนการเรียนรู้ใหม่ ๆ ที่ให้ผู้เรียนเลือกหนทางไปสู่การเรียนรู้ได้อย่างอิสระมากขึ้น ไม่ติดกรอบว่าจะต้องอยู่ในห้องเรียนเท่านั้น

เตรียมครูและผู้เรียนพร้อมรับปี 2023 และอนาคต

          ทั้งหมดนี้จะเป็นไปไม่ได้เลย หากขาดผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ที่สามารถวิเคราะห์ข้อมูลที่มีในมือเพื่อพัฒนาโรงเรียนได้อย่างใจหวัง ผ่านการตัดสินใจที่อยู่บนพื้นฐานของข้อมูล (data-driven decision making) ที่ไม่ใช่เพียงอัตราการเข้าเรียนหรือผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนที่สูงขึ้นเป็นรายปีอย่างเดียว แต่เป็นการปรับกระบวนการทำงานในโรงเรียนอย่างเป็นระบบ โดยใช้ข้อมูลทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพอ้างอิง เพื่อให้การเปลี่ยนแปลงนั้นตรงจุด ตอบโจทย์ และเห็นผลลัพธ์กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกคน
          อย่างไรก็ตาม ทุกสิ่งคงไม่สามารถทำได้อย่างปัจจุบันทันด่วนเพียงข้ามปีไปแล้ว แต่คงจะดีไม่น้อยหากได้มีการพิจารณาถึงความเป็นไปได้และเตรียมตัวทดลองทำได้ทันทีเมื่อมีโอกาสในปีใหม่นี้ และจะทำให้เกิดพื้นที่การเรียนรู้ของนักเรียน ครู และผู้บริหาร ที่สามารถเรียนรู้และเติบโตไปด้วยกันตลอดปี

แหล่งข้อมูล
Educause. (n.d.). 2023 Strategic Trends Glossary. https://www.educause.edu/research-and-publications/research/top-10-it-issues-technologies-and-trends/trends-survey-glossary

Moonpreneur. (2022, September 5). Top 13 education trends in 2023. https://moonpreneur.com/blog/top-education-trends-2023/

OECD. (2022). Building the future of education. https://www.oecd.org/education/future-of-education-brochure.pdf

UNESCO. (2021). Concept note for the 2023 Global Education Monitoring Report on technology and education. https://unesdoc.unesco.org/ark:/48223/pf0000378950


TAG: #การจัดการเรียนรู้ #การใช้สื่อและเทคโนโลยีในการจัดการเรียนรู้ #การออกแบบการจัดการเรียนรู้ #หลักสูตรฐานสมรรถนะ #ทักษะการใช้ชีวิต #เทคโนโลยี