Knowledge

ถอดบทเรียน NSM ซีรีส์ (ตอน 4):  Thematic approach and place-based learning in museum education

ถอดบทเรียน NSM ซีรีส์ (ตอน 4): Thematic approach and place-based learning in museum education

 4 years ago 3967

          เพราะการเรียนรู้เกิดขึ้นได้ทุกที่ ทุกเวลา ไม่จำกัดเพียงแค่ในห้องเรียน พิพิธภัณฑ์จึงกลายเป็นแหล่งเรียนรู้นอกสถานที่ยอดนิยมที่เปิดโอกาสให้เด็กๆ สัมผัสกับประสบการณ์ใหม่ๆ ที่สนุกสนาน ทำให้พวกเขาเห็น จับต้อง และทดลองด้วยตนเอง ซึ่งบางครั้งประสบการณ์เหล่านี้ก็หาไม่ได้ในห้องเรียน
          การออกแบบการเรียนรู้โดยใช้สถานที่เป็นฐาน (Place-based learning) ในบริบทพิพิธภัณฑ์เป็นการเลือกใช้จุดแข็งของสถานที่นั้นๆ เช่น ตัวอย่างจัดแสดง หรือนิทรรศการมาออกแบบกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ศักยภาพรายบุคคล (Personalize Learning) สร้างโอกาสให้เด็กๆ เกิดประสบการณ์ด้วยตนเอง เช่น การวิเคราะห์ อภิปราย ลงความคิดเห็น และตัดสินใจ โดยใช้คำถามปลายเปิดแทนการใช้คำถามปลายปิด
          โดยปกติแล้วเด็กจะเรียนรู้ได้ดี เมื่อเขาสามารถเชื่อมโยงความรู้เดิมเข้ากับความรู้ใหม่ได้ เมื่อไรก็ตามที่ครูพาเด็กๆ ไปเรียนรู้ที่พิพิธภัณฑ์ก็สามารถใช้วิธีการสร้างแก่นเรื่อง (Thematic approach) ในประเด็นเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กัน เป็นการเพิ่มโอกาสในการดึงความรู้หรือประสบการณ์เดิมมาเชื่อมโยงกับประสบการณ์ใหม่ ผ่านการปฏิบัติ คิดวิเคราะห์ และตีความวัตถุจัดแสดงในนิทรรศกา รตามเป้าหมายที่นิทรรศการต้องการสื่อสาร
          สำหรับพิพิธภัณฑ์พระราม 9 พิพิธภัณฑ์แห่งใหม่ขององค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ถือเป็นแหล่งเรียนรู้นิเวศวิทยาและสิ่งแวดล้อมที่น่าสนใจสำหรับการทัศนศึกษาของเด็กๆ โดยครูสามารถออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ด้วยการสร้างแก่นเรื่องโดยใช้สถานที่เป็นฐานให้กับเด็กๆ ได้ดังนี้
1. วิเคราะห์และเลือกใจความสำคัญของนิทรรศการที่ต้องการสื่อสาร
2. สำรวจวัตถุจัดแสดงและเนื้อหานิทรรศการ พร้อมสร้างความเชื่อมโยงแต่ละส่วนให้เป็นภาพใหญ่
3. ลำดับเรื่องราวประกอบข้อมูลตามแก่นเรื่องที่กำหนดไว้
4. สร้างคำถามที่เอื้อให้ผู้เรียนแสดงความคิดเห็น ตีความ สร้างบทสนทนา และใช้ประสาทสัมผัส
5. พัฒนาแรงบันดาลใจที่สร้างความตระหนักอันเป็นประโยชน์ต่อสังคม
          การจัดการเรียนรู้โดยใช้สถานที่เป็นฐานในพิพิธภัณฑ์ไม่ได้เน้นที่การจดจำข้อมูล หรือเพียงบอกเล่าเรื่องราวเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการสร้างความกระจ่างในประเด็นหรือปัญหาในสังคม เพื่อความเปลี่ยนแปลงในระดับปัจเจกบุคคลอย่างยั่งยืน การเรียนรู้รูปแบบนี้จึงเต็มไปด้วยความสนุกสนาน และเชื่อมโยงกับชีวิตประจำวันของเด็กๆ ได้จริง


TAG: #วิทยาศาสตร์ #พิพิธภัณฑ์ #การออกแบบการเรียนรู้ #พิพิธภัณฑ์พระราม9 #การจัดการเรียนรู้ #Place-based learning #สถานที่เป็นฐาน #NSM #EDUCA2020 #Thematic approach