Knowledge

เลกเชอร์ (lecture) อย่างไรให้เด็กไม่ง่วง

เลกเชอร์ (lecture) อย่างไรให้เด็กไม่ง่วง

 1 year ago 952

จิราพร เณรธรณี

         การบรรยาย หรือ lecture เป็นหนึ่งในวิธีสอนที่ครูและผู้เรียนต่างคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี เนื่องจากเป็นวิธีที่ง่ายและรวดเร็วต่อการส่งต่อเนื้อหาจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม หากครูขาดเทคนิคหรือกลวิธีจูงใจนักเรียนก็อาจจะทำให้พวกเขารู้สึกเบื่อหรือง่วงได้ ครูจึงควรมีเทคนิคบางอย่างติดตัวไว้เพื่อให้นักเรียนได้รับประโยชน์จากการเรียนรู้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

5 เทคนิคเลกเชอร์ที่น่าลองใช้ประกอบการบรรยาย
         1. การบรรยายที่ไม่ได้มีเพียงการพูดประกอบสื่อ แต่ยังสอดแทรกเทคนิคการใช้คำถาม การใช้ผังกราฟิก การจัดกลุ่ม เกมทดสอบ และการอภิปรายได้ด้วย มีงานวิจัยที่ได้นำผังกราฟิกมาใช้ในวิธีการสอนภายหลังจากจบการบรรยายในประเด็นหลัก พบว่า นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ที่ดีขึ้น จากการที่ได้จัดองค์ความรู้อย่างเป็นระบบ เกิดการทบทวนและประมวลองค์ความรู้เป็นประเด็นไป นอกจากนี้ยังมีการนำวิดีโอขนาดสั้น หรือภาพชวนคิดที่มีความสอดคล้องกับเนื้อหานั้น ๆ ซึ่งจะช่วยให้นักเรียนได้มีเวลาคิดทบทวนตนเอง แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับเพื่อน และพักสมองด้วย
         2. การปิดไฟในห้องไม่ได้ช่วยให้ผู้เรียนสนใจสื่อที่ฉายได้เสมอไป การบรรยายที่มีเพียงไฟบนหน้าจอโปรเจกเตอร์ ที่ครูหวังว่านักเรียนจะมองข้อความบนจอชัดขึ้น หรือสร้างบรรยากาศการเรียนที่แปลกกว่าปกติ ในความเป็นจริงการทำเช่นนี้อาจทำให้นักเรียนบางคนที่อยู่ในสภาวะไม่พร้อมที่จะเรียนอยู่แล้ว รู้สึกง่วงมากขึ้นกว่าเดิมหรือใช้โอกาสไฟสลัวนี้งีบหลับก็ได้ ฉะนั้น วิธีการที่เหมาะสมกว่า คือการปรับแสงหน้าจอโปรเจกเตอร์ให้ชัดขึ้นและช่วยถนอมสายตานักเรียนแทนการปิดไฟ หรือหรี่ไฟในห้องก็ได้เช่นกัน
         3. การใช้เทคโนโลยีตลอดเวลาอาจทำให้บทเรียนน่าเบื่อได้ การนำเสนอด้วยสื่อ PowerPoint หรือ โปรแกรม Canva ซึ่งเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลาย ที่มีฟังก์ชันเสริมที่ช่วยให้การนำเสนอดูน่าสนใจกว่าการอ่านบนหน้าจอ อย่างการบันทึกเสียง ทำให้ครูสามารถใช้น้ำเสียงที่หลากหลายทำให้บทเรียนน่าสนใจ และป้องกันไม่ให้เกิดบรรยากาศการเรียนที่น่าเบื่อ แต่ถ้าหากครูมีหน้าที่เพียงเปลี่ยนหน้าจอสไลด์ ฟังก์ชันที่ตระการตาก็จะบดบังบทบาทของครูให้ดูน่าเบื่อ และส่งผลให้บทเรียนไม่มีความหมายด้วย
         4. บางครั้งมุกตลก หรือการสร้างอารมณ์ขันระหว่างเรียนก็อาจจะไม่ได้ผล ครูควรคำนึงถึงช่วงวัยและความเข้าใจหรือเข้าถึงมุกตลกของนักเรียนด้วย อย่างไรก็ตาม ครูไม่ควรฝืนความเป็นตัวเองเพียงเพราะเห็นผู้อื่นใช้มุกตลกแล้วทำให้การเรียนการสอนสนุกมากขึ้น หากต้องการแทรกมุกตลกระหว่างสอน ครูควรเชื่อมโยงมุกกับประเด็นหรือเนื้อหาที่สอนอยู่ เพื่อให้ช่วยให้นักเรียนจดจ่อกับเนื้อหามากกว่ามุกตลกเหล่านั้น และอาจเป็นโมเมนต์ที่น่าจดจำสำหรับหัวข้อนั้น ๆ
         5. คำนึงถึงประโยชน์ของนักเรียนเป็นหลัก การยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง (Student-centered learning) ในวิธีสอนด้วยการบรรยาย สามารถทำได้โดยการอำนวยความสะดวกโดยให้เอกสารประกอบการเรียนรู้ การบันทึกการสอนเพื่อให้นักเรียนสามารถกลับไปทบทวนย้อนหลังได้ และไม่ควรนำเสนอซ้ำกับในเอกสารประกอบการนำเสนอที่แจกให้ แต่ควรเน้นไปที่หลักและวิธีคิดที่จะช่วยให้พวกเขาเข้าใจหลักการของเรื่องนั้น ๆ และสิ่งสำคัญคือ การอธิบายนอกเหนือจากข้อความในสไลด์และการเขียนประกอบคำอธิบายเพื่อให้พวกเขาสามารถติดตามสาระได้
         อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ทุกเทคนิคที่เหมาะกับทุกคน แต่ครูสามารถเลือกรับและปรับใช้ พร้อมใส่ความเป็นตัวเองเข้าไปให้เหมาะได้ อย่างเช่น ลักษณะการพูด วลีประจำตัว ท่าทางการสอน เพื่อให้เกิดเอกลักษณ์ที่จะช่วยให้นักเรียนจดจำและสนใจในระหว่างที่บรรยายเนื้อหาต่าง ๆ และสิ่งสำคัญคือ การบรรยายไม่ได้เหมาะสมกับเนื้อหาทุกประเภทและการบรรยายไม่ได้มีเพียงการพูดอธิบายผ่านสื่อที่มีเพียงข้อความเท่านั้น

รายการอ้างอิง
Terada, Y. (2022, 24 February). 8 Evidence-Based Tips to Make Your Lectures More Engaging—and Memorable. Edutopia. https://www.edutopia.org/article/8-evidence-based-tips-make-your-lectures-more-engaging-and-memorable

Times Higher Education. (2018, 18 October). Top tips on how to make your lectures interesting. https://www.timeshighereducation.com/features/top-tips-how-make-your-lectures-interesting

วิชัย วงศ์สุวรรณ. (2559). ผลการจัดกิจกรรมการเรียนรู้โดยใช้วิธีสอนแบบบรรยายร่วมกับเทคนิคกราฟิกและสารสนเทศร่วมสมัย ที่มีต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและความคงทนในการเรียนรู้ รายวิชา ส 32102 เศรษฐศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัยสมบูรณ์กุลกันยา จังหวัดสงขลา. วารสารวิจัยและพัฒนาหลักสูตร, 6(2), 65-77.


TAG: #เทคนิคการสอน #การจัดการเรียนรู้ #การบรรยาย #เลกเชอร์ #การใช้สื่อการเรียนรู้ #การอภิปราย #ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน #การเรียนรู้ที่มีผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง #Student-centered learning