Knowledge
ใจพร้อม กายพร้อม เราเรียนได้
4 years ago 8937ผู้เขียน: นางสาวกนกวรรณ สุภาราญ ครูจากโครงการ Teach for Thailand
ภาพ: กชกร มั่นคงเจริญกิจ
เคยได้ยินคำพูดเหล่านี้ไหม... “อารมณ์ไม่ดี เลยไม่อยากเรียน” “หนูเพิ่งโดนดุมา ทำให้หนูไม่มีสมาธิจะเรียนวิชานี้เลย” “เมื่อคืนผมนอนดึก วันนี้เลยเรียนไม่รู้เรื่อง” หรือ “ถ้าฉันไม่ป่วยคงทำคะแนนได้ดีกว่านี้แน่นอน” สิ่งที่คล้ายกันจากประเด็นของคำพูด คือ สภาพจิตใจ และสภาพร่างกายของนักเรียนล้วนมีอิทธิพลต่อการเรียนรู้ไม่มากก็น้อยเลยทีเดียว ถ้าหากเราทำความเข้าใจว่ามีปัจจัยใดบ้างที่เป็นอุปสรรคต่อการเรียนรู้ของนักเรียน เราในฐานะครูผู้สอนจะสามารถรับมือกับอุปสรรคเหล่านั้นโดยสามารถจัดการเรียนรู้ รวมทั้งสามารถจัดการชั้นเรียนให้เกิดประสิทธิภาพต่อการเรียนรู้ได้ดียิ่งขึ้นอย่างแน่นอน
“ใครว่าการเตรียมพร้อมในการเรียนไม่สำคัญ”
ความพร้อมในการเรียนไม่ได้หมายถึง ความพร้อมในเชิงวัตถุสิ่งของ หรือ การมาโรงเรียน และการเข้าไปนั่งเรียนในชั้นเรียนเพียงอย่างเดียว แต่ยังหมายรวมถึง การมีความรู้สึก และจิตใจที่พร้อมรับต่อการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นในห้องเรียนอีกด้วย หากนักเรียนมาโรงเรียนด้วยสภาพจิตใจที่ยังไม่พร้อมรับต่อการเรียนรู้ เนื่องจากปัญหาที่สั่งสมจากที่บ้าน เพื่อน หรือสภาพแวดล้อมที่เป็นอุปสรรคต่อการเรียน ส่งผลให้พฤติกรรม และเป้าหมายในการเรียนของนักเรียนเปลี่ยนแปลงไปด้วยเช่นเดียวกัน แม้ว่าปัจจุบันการเรียนการสอนในชั้นเรียนมีการพัฒนากิจกรรมการเรียนรู้ให้นักเรียนมีส่วนร่วมมากยิ่งขึ้นแล้วก็ตาม แต่ถ้าหากนักเรียนไร้ซึ่งความพร้อมในการเรียน การจัดการเรียนการสอน และการถ่ายทอดเนื้อหาความรู้ที่ครูได้เตรียมตัวมาเป็นอย่างดี ก็อาจจะไม่บรรลุตามเป้าหมายของการจัดการสอนในท้ายที่สุด
“เตรียมพร้อมก่อนเรียนรู้เพื่ออะไร”
เวลาที่ครูผู้สอนพบว่ามีนักเรียนบางส่วนได้คะแนนสอบอยู่ในระดับต่ำ หรือบางรายก็ไม่สามารถบรรลุผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนได้ตามศักยภาพดังที่ควรจะเป็น คำถามแรกที่มักเกิดขึ้นในใจก็คือ “เราสอนไม่ดีพอหรืออย่างไร ทำไมนักเรียนถึงตอบในสิ่งที่เรียนไปแล้วไม่ได้” ตามมาด้วย “นักเรียนไม่ตั้งใจเรียนหรือเปล่า และทำไมถึงไม่ตั้งใจเรียน” คำถามเหล่านี้แท้จริงแล้วล้วนเกิดขึ้นจากหลายสาเหตุประกอบเข้าด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นวิธีการถ่ายทอด รูปแบบการจัดการเรียนรู้ ความสัมพันธ์ระหว่างผู้สอนและนักเรียน สภาพแวดล้อมทางการเรียนรู้ และโดยเฉพาะความพร้อมในการเรียนรู้ของตัวนักเรียนเอง ซึ่งเป็นอีกสาเหตุสำคัญที่ครูผู้สอนควรให้ความสนใจเป็นอย่างยิ่ง ในการจัดการเรียนรู้โดยยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ซึ่งการทำความเข้าใจในตัวนักเรียนหรือความพร้อมของนักเรียนในแต่ละคาบเรียนนั้น ควรทำในช่วง ”ขั้นเริ่มต้น หรือ ขั้นเกริ่นนำ” ก่อนจะเข้าสู่ขั้นการเรียนการสอนหลักในคาบเรียน เพื่อที่ครูผู้สอนจะได้พัฒนาแนวทางถ่ายทอดองค์ความรู้ การจัดสภาพแวดล้อมในชั้นเรียน และกิจกรรมการเรียนรู้ที่เหมาะสมให้นักเรียนบรรลุตามเป้าหมายที่คาดหวังไว้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด
“การเตรียมพร้อมก่อนเริ่มชั้นเรียนทำอย่างไรได้บ้าง”
จากการรวบรวมข้อมูลแนวทางการเตรียมความพร้อมของนักเรียนก่อนการเรียนรู้นั้น พบว่าโดยทั่วไปใช้เวลา 5-10 นาที และมีวิธีการที่หลากหลาย อีกทั้งสามารถปรับเนื้อหาหรือสอดแทรกความรู้รอบตัวเข้าไปในกิจกรรมเตรียมความพร้อมได้เช่นกัน ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับเป้าหมายของครูผู้สอนเป็นสำคัญว่าจะออกแบบวิธีการที่เหมาะสมกับนักเรียนทุกกลุ่มได้ เช่น ใช้เป็นช่วงเกริ่นนำโดยบูรณาการเข้ากับรายวิชา เรื่อง หน่วยที่ต้องการสอนในคาบเรียนนั้นๆ หรือ บางวิธีการก็อาจใช้เป็นวิธีการนันทนาการ หรือ กิจกรรมเคลื่อนไหวร่างกายสามารถใช้เป็นกิจกรรมสร้างบรรยากาศเชิงบวกในชั้นเรียนเพื่อให้นักเรียนมีสติจดจ่อ และเตรียมตัวให้พร้อมกับการเรียนรู้ในคาบเรียนมากยิ่งขึ้น เป็นต้น
ทั้งนี้ การเตรียมความพร้อมของนักเรียนทั้งกาย และใจจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ควรคำนึงถึง ไม่ใช่แค่ช่วยให้ชั้นเรียนสนุกสนานมีชีวิตชีวามากขึ้นเพียงอย่างเดียว การให้อิสระสอดแทรกไปกับกิจวัตรประจำวัน ช่วยให้นักเรียนได้ปรับอารมณ์ความรู้สึก ความนึกคิด และมีสติจดจ่อพร้อมรับกับเนื้อหาในชั้นเรียนได้มากยิ่งขึ้น อีกทั้ง ส่งผลให้บรรยากาศในชั้นเรียนและผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน ดังนั้น การแก้ไขปัญหาผลสัมฤทธิ์ทางเรียน หรือ คะแนนประเมินการเรียนรู้ของนักเรียน อาจสำเร็จหรือมีพัฒนาการในทางที่ดีขึ้นได้ หากครู และนักเรียนได้ใช้เวลาต้นคาบเรียนเพียงเล็กน้อย เพื่อเตรียมความพร้อมทั้งอารมณ์ สมาธิ และทบทวนความรู้เบื้องต้นให้กับนักเรียนก่อนเริ่มเข้าสู่บทเรียนในขั้นต่อไป
ที่มา:
อิสระคู่วินัยสร้างได้ด้วยกิจวัตร - Early Years: Daily Routines - EDUCA 2020. (n.d.). Retrieved March 3, 2020, from https://www.educathai.com/videos/249
รวมไอเดีย Check-In ต้นคาบ - ครู Pnrs Puto. (2019, September 22). Retrieved April 3, 2020, from https://inskru.com/idea/-LSeNwQhkD7RPSax6f52