Knowledge

ถอดบทเรียน NSM ซีรีส์ (ตอน 2): เทคนิคคืนชีพกุ้ง สร้างสื่อให้เด็กว้าว

ถอดบทเรียน NSM ซีรีส์ (ตอน 2): เทคนิคคืนชีพกุ้ง สร้างสื่อให้เด็กว้าว

 3 years ago 2495

          สัตว์สตัฟฟ์ คือ หนึ่งในสิ่งจัดแสดงของพิพิธภัณฑ์ที่ดึงดูดความสนใจจากเด็กๆ เป็นอย่างมาก เพราะโอกาสที่เราจะได้เห็นสัตว์หายากเหล่านี้ในขณะที่ยังมีชีวิตนั้นมีไม่มากนัก เพราะอาจเป็นสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์ หรือแม้จะเป็นสัตว์ที่พบเจอได้ง่ายอยู่ แต่โอกาสที่จะได้เห็นหรือสังเกตสัตว์เหล่านั้นอย่างใกล้ชิดอาจทำไม่ได้ สัตว์สตัฟฟ์จึงเป็นสื่อการสอนที่มีไว้ให้เราได้ศึกษาสรีระวิทยา ได้เห็นความหลากหลายทางชีวภาพของสัตว์ชนิดต่างๆ ทั่วโลก
          สำหรับครูวิทยาศาสตร์ที่สนุกกับการผลิตสื่อการสอนด้วยตนเอง เรามีไอเดียเปลี่ยนห้องเรียนเป็นพิพิธภัณฑ์ขนาดย่อมด้วยการสร้างสัตว์สตัฟฟ์แบบง่ายๆ จากวัตถุดิบที่หาได้ในท้องตลาด นั่นก็คือ กุ้ง อาจใช้กุ้งก้ามกราม หรือกุ้งมังกรก็ได้ แต่ไม่ควรใช้กุ้งฝอย เพราะมีขนาดเล็กเกินไป และควรเลือกกุ้งที่ยังไม่เน่าและมีอวัยวะครบสมบูรณ์
          การคืนชีพกุ้งด้วยวิธีสตัฟฟ์ทำเองได้ง่ายๆ เราแนะนำให้หลีกเลี่ยงการใช้สารเคมี ให้ใช้วิธีการป้องกันหรือทำให้กุ้งสะอาดจะดีกว่า แต่ในกระบวนการทั่วไปอาจมีการใช้สารเคมีอื่นๆ ด้วย เช่น บอแรกซ์ สารหนู ฟอร์มาลีน เกลือ แอลกอฮอล์ สารส้ม ซึ่งการใช้แอลกอฮอล์ถือว่าอันตรายน้อยที่สุด
ขั้นตอนการสตัฟฟ์กุ้ง
1. ตรวจและทำความสะอาดกุ้ง
2. แยกส่วนหัวและตัว ผ่าท้อง
3. ดึงเนื้อและทำความสะอาดให้หมด
4. ใช้สำลีชุบแอลกอฮอลล์แล้วทาลำตัวข้างใน
5. ฉีดแอลกอฮอล์ 80-90% ที่ขาและก้าม เมื่อแอลกอฮอลล์เต็มแล้วก็จะไหลออกมาผ่านหัวกุ้ง
6. ใช้สำลีค่อยๆ ยัดเข้าไปที่ส่วนตัวและหัวทีละน้อยจนเต็ม
7. ทากาวที่หัวและตัวกุ้งให้ติดกัน
8. นำมาเซตท่าบนโฟมด้วยเข็มหมุดหรือไม้จิ้มฟัน และทิ้งไว้ 14 วัน หรือ 3 สัปดาห์จนแห้ง
9. เพนท์ด้วยสีน้ำมัน เทียบกับภาพที่ถ่ายไว้ หรือหากอยากได้แบบธรรมชาติก็ไม่ต้องทาสี

          กุ้งสตัฟฟ์แบบ DIY ฝีมือครูวิทยาศาสตร์อาจไม่ใช่สื่อการสอนที่สมบูรณ์แบบเท่าของที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ แต่สื่อการสอนนี้สามารถเข้าถึงเด็กๆ ได้ง่ายขึ้นในห้องเรียน เด็กๆ ตื่นเต้น และว้าวกับสัตว์สตัฟฟ์ที่ดูได้ใกล้ๆ สร้างโอกาสในการเรียนรู้ให้พวกเขาได้มากขึ้นสำหรับโรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล


TAG: #วิทยาศาสตร์ #สื่อการสอน #EDUCA2020 #สตัฟฟ์สัตว์