Knowledge

สร้างห้องเรียนวิทย์ ให้เป็นวิทย์

สร้างห้องเรียนวิทย์ ให้เป็นวิทย์

 2 years ago 2827

          เมื่อพูดถึงการเรียนในรายวิชาวิทยาศาสตร์หรือชั่วโมงวิทยาศาสตร์ นักเรียนหลายคนมักมีภาพจำหรือประสบการณ์ที่ไม่ดี คิดว่าวิชานี้น่าเบื่อหรือยาก ด้วยปัญหานี้จึงควรถกเถียงกันว่า “การสร้างห้องเรียนวิทยาศาสตร์ให้มีชีวิตชีวาและเชื่อมโยงกับชีวิตประจำวันเพื่อขับเคลื่อนการเรียนรู้ให้ไปข้างหน้านั้น จะทำอย่างไร มีความเป็นไปได้หรือไม่ในบริบทของสังคมไทย มีแนวทางและข้อเสนอแนะอย่างไรบ้าง” หัวข้อการเสวนานี้จะพาคุณครู ผู้ปกครอง และบุคลากรทางการศึกษาทุกท่านไปพบกับการ “สร้างห้องเรียนวิทย์ให้เป็นวิทย์” กับวิทยากร นายธนากร พละชัย จากองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ

          ในปัจจุบันหน้าที่ของครูเปลี่ยนแปลงไปจากผู้ถ่ายทอดความรู้เป็นผู้เตรียมคนเข้าสู่สังคมในอนาคต แต่ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงทุกด้านทั้งด้านเทคโนโลยี สิ่งแวดล้อม และทรัพยากรธรรมชาติ การจัดการศึกษาเพื่อเตรียมเด็กให้พร้อมอาจไม่เพียงพอ ดังที่นายธนากร กล่าวว่า “สังคมเปลี่ยน เราก็ต้องเปลี่ยน” นั่นคือการศึกษาจะต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบและเปลี่ยนเป้าหมาย โดยการนำทักษะและความรู้มาสร้างมูลค่า ให้ผู้เรียนมีโอกาสกำหนดเส้นทางอาชีพและชีวิตของตนเอง รวมทั้งครอบครัว โรงเรียน และสังคมรอบตัวเด็กจะต้องมีส่วนช่วยส่งเสริมให้เด็กมีความพร้อมมากขึ้น ไม่ว่าอนาคตจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร

          ด้วยเหตุนี้เองการพัฒนาทักษะเพื่อเตรียมความพร้อมผู้เรียนจึงประกอบไปด้วยกลุ่มทักษะด้านสังคม (Social skills) เช่น ทักษะการสื่อสาร ทักษะทางภาษา ทักษะการเสนอความคิด การยอมรับความแตกต่างระหว่างบุคคล ทักษะการมีปฏิสัมพันธ์ และกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ เช่น กระบวนการแสวงหาสืบสอบเพื่อให้ได้คำตอบ (Inquiry) และค้นพบความรู้ใหม่ด้วยตนเอง (Discovery) ทักษะเหล่านี้เป็นกระบวนการขั้นพื้นฐาน (Basic process skills) ที่ครูวิทยาศาสตร์สามารถออกแบบการจัดการเรียนรู้ห้องเรียนวิทย์ให้เป็นวิทย์ โดยให้ผู้เรียนเรียนรู้จากสิ่งรอบตัวและเชื่อมโยงกับชุมชนได้

          รูปแบบการจัดการเรียนรู้ที่น่าสนใจ เช่น การเรียนรู้จากตัวแบบ การศึกษาชิ้นส่วนย้อนรอยวิศวกรรม (reverse engineering) การสังเกตปรากฏการณ์รอบตัว การทดลองเพื่อฝึกทักษะการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างเหตุและผล เป็นต้น

          จากภาพข้างต้น นายธนากร ได้สาธิตการสอนวิทยาศาสตร์จากสิ่งรอบตัว ไม่ใช่เน้นที่ทฤษฎี ท่านได้แนะนำว่า ครูควรนำตัวอย่างต้นหอมผักชีจริง ๆ (ดังภาพ) มาแสดงให้เด็กดู จากนั้นอาจจะให้เด็กวาดภาพเพื่อให้คุ้นชินกับลักษณะของพืช จากนั้นค่อยสังเกตลักษณะของราก ลำต้น และใบ แล้วจึงเชื่อมโยงกับองค์ความรู้ได้ หรือในการสอนเรื่องปลา อาจให้สำรวจปลาพื้นบ้านที่มีขายอยู่ตามท้องตลาดว่ามีปลาอะไรบ้าง หรือใช้คำถามถึงปลาชนิดที่ไม่ค่อยปรากฏพบ ซึ่งอาจจะเชื่อมโยงไปถึงเรื่องสิ่งแวดล้อม คุณภาพแหล่งน้ำ มลภาวะ หรือระบบนิเวศได้ จะเห็นได้ว่าการสาธิตดังกล่าวเป็นการใช้ทักษะทางวิทยาศาสตร์และทักษะการหาคำตอบที่เกิดขึ้นผ่านบทเรียนที่เป็นการเรียนรู้ตามธรรมชาติ คือเรียนรู้จากของจริง จากชีวิต และจากชุมชน

          กระบวนการทางวิทยาศาสตร์เป็นสิ่งที่ต้องฝึกฝนและทำซ้ำจนผู้เรียนเกิดเป็นทักษะและ เกิดเจตคติด้านวิทยาศาสตร์ กระบวนการหาคำตอบทางวิทยาศาสตร์จะนำไปสู่การค้นพบแนวทางการแก้ปัญหาหรือการค้นพบคำตอบที่ช่วยให้การใช้ชีวิตของมนุษย์พัฒนามากขึ้น หรือบางครั้งกระบวนการทางวิทยาศาสตร์อาจมีผลลัพธ์เป็นเทคโนโลยีที่ช่วยพัฒนาชีวิตของมนุษย์ จุดเน้นสำคัญสำหรับการออกแบบห้องเรียนวิทย์ให้เป็นวิทย์คือการทำให้การเรียนรู้เป็นเรื่อง “ง่ายและสนุก” รวมถึง “เชื่อมโยง” กับสิ่งรอบตัวในชีวิตประจำวันของเด็ก เพื่อให้หลังจบวิชาวิทยาศาสตร์ที่เมื่อผู้เรียนออกจากห้องเรียนไปแล้ว แต่ทักษะและเจตคติทางวิทยาศาสตร์จะยังติดตัวพวกเขาไปและพร้อมที่จะรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

ที่มา:
บรรยาย Workshop หัวข้อ “สร้างห้องเรียนวิทย์ ให้เป็นวิทย์” โดยวิทยากร นายธนากร พละชัย – ที่ปรึกษาด้านการสื่อสารวิทยาศาสตร์และอดีตรองผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ


TAG: #อพวช #NSM #องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ #การจัดการชั้นเรียน #SEL #Social skills #Basic process skills #Reverse engineering #กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ #วิทยาศาสตร์ #การจัดการเรียนการสอน #การออกแบบการจัดการเรียนรู้ #วิทยาศาสตร์จากสิ่งรอบตัว