Knowledge
ถอดบทเรียน NSM ซีรีส์ (ตอน 5): โครงงานวิทย์คิดนอกห้อง
3 years ago 2890 ทุกวันนี้เรามีนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีใหม่เกิดขึ้นทุกวัน สิ่งเหล่านี้ล้วนเกิดจากกระบวนการคิด และค้นหาคำตอบอย่างเป็นระบบเพื่อแก้ปัญหาต่างๆ โดยมีพิ้นฐานจากความรู้ที่สั่งสมมา ซึ่งสามารถสังเกตได้จากผลงานของนักวิทยาศาสตร์ในยุคก่อนหน้า ที่พวกเขาก็อาศัยชุดความรู้ที่มีอยู่ก่อน แต่นำมามองด้วยมุมมองที่แตกต่างออกไปจนเกิดเป็นแนวคิดใหม่ที่เปลี่ยนโลกไปตลอดกาล
เบื้องหลังของการคิดค้นนวัตกรรม และเทคโนโลยีเหล่านี้มาจากพื้นฐานง่ายๆ คือ “การตั้งคำถาม” ของนักวิทยาศาสตร์ โดยสิ่งที่ถามแยกได้เป็นสองเรื่อง คือ ทำไม (Why?) และ จะเกิดอะไรขึ้น..ถ้า (What if?) กระบวนการหาคำตอบนี้ต้องอาศัยทักษะกระบวนการขั้นพื้นฐานอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น การสังเกต การวัด การหาความสัมพันธ์ การพยากรณ์
การทำโครงงานวิทยาศาสตร์เป็นหนึ่งในการออกแบบบทเรียน เมื่อครูต้องการฝึกให้นักเรียนได้ตั้งคำถาม และหาคำตอบด้วยตนเอง แต่การสนับสนุนให้นักเรียนทำโครงงานนี้ไม่จำเป็นต้องให้ทำเป็นสิ่งประดิษฐ์ใหม่ก็ได้ เพราะโครงงานมีหลายประเภท ทั้งโครงงานเชิงสำรวจ โครงงานทดลอง และโครงงานสิ่งประดิษฐ์ แต่ไม่ว่าจะเป็นโครงงานประเภทใดก็ตามล้วนมีแนวทางคล้ายๆ กันคือ
• ตั้งคำถามในสิ่งที่อยากรู้ และควรเป็นเรื่องที่ไม่เคยรู้มาก่อน
• คาดหมาย “คำตอบ”
• หาวิธีหา “คำตอบ”
• มี “ตัวเลข” การวัดเชิงปริมาณ
• เครื่องมือเก็บข้อมูล (ปฐมภูมิ, ทุติยภูมิ)
• ครู นักเรียน ช่วยกันหาคำตอบ
• ทำให้ทุกคน สนุก กระตือรือร้น และมีความสุขกับการหาคำตอบ
การเรียนรู้วิทยาศาสตร์ด้วยการทำโครงงานเป็นอีกกิจกรรมหนึ่งที่นักเรียนเกิดการเรียนรู้ได้ตลอดเวลา ฉะนั้นคำถามที่ครูควรถามจึงไม่ใช่ “ทำโครงงานแล้วได้ผลลัพธ์อะไร” แต่เป็น “ทำโครงงานนี้แล้วได้เรียนรู้อะไรบ้าง” ซึ่งเป็นการให้ความสำคัญกับกระบวนการเรียนรู้ทุกขั้นตอนมากกว่าผลลัพธ์ที่ได้ เพราะในความเป็นจริงแล้วการค้นพบนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีใหม่ๆ ไม่ได้สำเร็จได้จากความพยายามเพียงครั้งเดียวของนักวิทยาศาสตร์ แต่เกิดจากการสะสมความรู้ระหว่างทางแล้วนำมาปรับปรุงพัฒนาเป็นชิ้นงานใหม่ๆ ที่มีประสิทธิภาพดีขึ้นกว่าเดิม