Knowledge
สร้าง “ของเล่นวิทยาศาสตร์” ให้พัฒนาผู้เรียนอย่างรอบด้าน ด้วย ARCS Model
2 years ago 3946จิราเจต วิเศษดอนหวาย และ ทีม EDUCA เรียบเรียง
การเล่นเป็นธรรมชาติของวัยเด็ก เป็นการสร้างความสนุก ความเพลิดเพลินใจ และการผ่อนคลายอารมณ์ ในมุมมองทางการศึกษามองว่าการเล่นยังสามารถส่งเสริมความรู้ในด้านกฎ กติกา ส่งเสริมคุณทักษะและลักษณะที่สำคัญ เช่น การแก้ไขปัญหา การให้อภัย การเสียสละ ตลอดจนสร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น จะเห็นว่าการเล่นสามารถพัฒนาเด็กในหลายด้าน ทั้งด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม และที่สำคัญคือการสามารถส่งเสริมสติปัญญาของผู้เรียนได้ ผู้เรียนสามารถเกิดการเรียนรู้อย่างเป็นธรรมชาติและมีความสุข มีความมั่นใจในการเรียนรายวิชานั้นโดยใช้ของเล่นส่งเสริมการเรียนรู้ ดึงดูดความสนใจ หรือตอบสนองความสนใจในเบื้องต้นของผู้เรียน เชื่อมโยงกับสาระ ผสมผสานกับกลไกต่าง ๆ สอดแทรกสาระความรู้ของวิชา ทั้งยากและง่าย โดยดูความพึงพอใจของผู้เล่น
ของเล่นไม่ใช่เรื่องเล่น ๆ แต่เสริมสร้างทักษะจำเป็นอื่น ๆ ให้เด็กได้
NSM ให้ความน่าสนใจของการเล่นต่อการจัดการศึกษาคือการที่การเล่นสามารถส่งเสริมสติปัญญาได้ด้วย เพราะว่าการเล่นจะช่วยให้เด็กสามารถแยกแยะสิ่งต่าง ๆ จากสิ่งเร้าได้ และรับรู้สิ่งต่าง ๆ เข้ามาในสมอง รวมถึงยังสามารถเสริมสร้างทักษะการคิดเชิงบริหารจัดการ (Executive Function : EF)
ดังนั้นเองในการจัดการศึกษาสำหรับเด็ก โดยเฉพาะการเรียนรู้ในสาระวิชาวิทยาศาสตร์ เราสามารถจัดประสบการณ์การเรียนรู้ผ่านการเล่นได้โดยใช้ “ของเล่น” ด้วยการยกระดับของเล่นธรรมดาให้เป็นของเล่นวิทยาศาสตร์ เพื่อให้เด็กเกิดแรงจูงใจในการเรียนวิทยาศาสตร์ได้อย่างสนุกสนานผ่านกระบวนการออกแบบของเล่น โดยคำนึงถึงวัตถุประสงค์ วิเคราะห์กลุ่มเป้าหมาย และวิธีการเล่น นอกจากนี้ยังมีกลยุทธ์สำคัญในการพัฒนาของเล่นที่สามารถสรุปเป็นโมเดลได้ในชื่อว่า ARCS Model ดังอธิบายต่อไปนี้
A : Attention คือ การพิจารณาว่าของเล่นที่ออกแบบจะตรงกับความสนใจแห่งวัยหรือไม่ จะสามารถดึงดูดความสนใจเด็กได้ดีหรือไม่
R : Relevance คือ การออกแบบของเล่นให้มีความเชื่อมโยงกับเนื้อหาสาระความรู้ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันได้
C : Confidence คือ การออกแบบของเล่นให้ผู้เล่นสามารถเล่นได้ทุกคน เพื่อสร้างความมั่นใจในการเล่น และความภาคภูมิใจในตนเอง ซึ่งจะส่งผลดีต่อแรงจูงใจในการเรียนรู้
S : Satisfaction คือ การออกแบบของเล่นเพื่อตอบสนองความชอบ ความพึงพอใจ
เมื่อเราได้แนวคิดในการออกแบบของเล่นแล้ว ขั้นตอนต่อมาคือการนำแนวคิดมาสู่การสร้างสรรค์ของเล่น โดยจะมีกรอบแนวคิดในการพัฒนานวัตกรรมของเล่นประกอบไปด้วย
1. รวบรวมแนวคิดในการประดิษฐ์ เช่น ความสนใจของนักเรียน สิ่งที่นักเรียนชอบ
2. วิเคราะห์แนวคิดหรือไอเดีย โดยการวิเคราะห์เหมาะสมของแนวคิดกับผู้เรียน ความเป็นไปได้ ความยากง่ายในการรับรู้และเข้าใจ โอกาสในการพัฒนาต่อไป เป็นต้น
3.คัดเลือกแนวคิด/วิธีการที่เหมาะสมที่สุด ที่น่าจะสามารถดึงดูดและส่งเสริมการเรียนรู้ได้ดีที่สุด มีข้อบกพร่องน้อยที่สุด และเป็นไปได้ในการผลิต
4.เริ่มต้นผลิตชิ้นงาน คำนวณต้นทุนในการผลิต การวางแผน การต่อยอดแนวคิด
5.นำของเล่นที่ผลิตเสร็จแล้วมาทดลองใช้งาน หรือ ทดลองเล่น เพื่อตรวจสอบว่าในการเล่นจริงมีความเหมาะสมหรือไม่ หากยังมีข้อผิดพลาด สามารถแก้ไขได้
วิทยาศาสตร์ เป็นรายวิชาที่ผู้เรียนได้เรียนรู้หลักการและความรู้ของสิ่งต่าง ๆ รอบตัว ซึ่งมีความเหมาะสมเป็นอย่างยิ่งที่จะใช้ “ของเล่น” เป็นสื่อกลางทางการเรียนรู้ มีตัวอย่างแนวคิดในการผลิตของเล่นที่น่าสนใจมาแบ่งปัน เช่น หากครูต้องการสอนเรื่อง “การเคลื่อนที่” โจทย์ดังกล่าวสามารถนำมาเชื่อมโยงกับ “รถ” ซึ่งเป็นพาหนะที่ใช้ในการเคลื่อนที่ เมื่อกำหนดคำว่ารถแล้ว จะเห็นได้ว่าสามารถแบ่งได้หลายชนิด เช่น รถจักรยานยนต์ รถยนต์ รถไฟ ฯลฯ ต่อมาเป็นการวิเคราะห์กลุ่มเป้าหมาย คือ กลุ่มนักเรียนชั้นประถมศึกษา จึงนำมาสู่การคัดเลือกไอเดียที่น่าจะเหมาะสมที่สุด คือการเลือกรถยนต์ เพราะรถยนต์เป็นสิ่งที่ผู้เรียนรู้จัก เข้าใจได้ง่าย ไม่ยากจนเกินไป จากนั้นเริ่มออกแบบรถด้วยวัสดุประเภทกระดาษเพื่อความเบา และง่าย นักเรียนสามารถเล่นด้วยการเข็นหรือออกแรง ครูสามารถใช้แนวคิดการเรียนรู้นี้เพื่อเชื่อมโยงของเล่นกับสาระความรู้ในเรื่องของ “แรงและการเคลื่อนที่” หรือ “กฎของนิวตัน” ได้ นอกจากนี้แล้วหากจะสามารถพัฒนาต่อยอดให้ของเล่นมีความเหมาะสมกับผู้เรียนระดับชั้นที่สูงขึ้น อาจจะสามารถติดตั้งมอเตอร์ไฟฟ้าที่ใช้ในการเคลื่อนที่ เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้เรื่อง “วงจรไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์อย่างง่าย” เป็นต้น
จากตัวอย่างเห็นได้ว่า ของเล่นชิ้นดังกล่าวมีความน่าสนใจ ใช้งานง่าย พัฒนาได้ง่าย มีต้นทุนการใช้จ่ายที่เหมาะสม สามารถเชื่อมโยงกับสาระวิทยาศาสตร์ได้เป็นอย่างดี เมื่อผู้เรียนเล่นแล้วสามารถเข้าใจได้โดยทันที เหมาะสมกับการนำมาเป็นประเด็นหรือตัวอย่างที่ดีในการเรียนรู้ เพราะกระบวนการผลิตของเล่น จะประกอบด้วยกระบวนการรวบรวม วิเคราะห์ และคัดเลือกแนวคิดหรือไอเดียที่น่าสนใจ รวมถึงคำนวณต้นทุนการผลิต ความเป็นไปได้ของการนำไปพัฒนาต่อยอด แล้วจึงสร้างและแก้ไขปรับปรุง และที่สำคัญคือสามารถตอบสนองความสนใจ ความสนุกสนาน อันจะก่อให้เกิดความภาคภูมิใจในตนเองและแรงจูงใจในการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ได้
สนับสนุนโดย NSM Thailand
EDUCA 2022 การพัฒนาของเล่นเพื่อการเรียนรู้วิทยาศาสตร์อย่างสร้างสรรค์ https://event.educathai.com/educa2022/online-workshop/2934