Knowledge
ป้องกันสื่อร้ายด้วยทักษะ Critical Thinking
3 years ago 3054เรียบเรียงโดย อาทิตยา ไสยพร
ในยุคปัจจุบันข่าวสาร การค้นคว้าที่เข้าถึงง่ายผ่านโลกไร้พรมแดนก่อให้เกิดประโยชน์ และสร้างความสะดวกสบายแก่มนุษย์ แม้กระทั่งในเรื่องของการเรียนรู้เอง เมื่อเราต้องการค้นคว้าหาความรู้ก็เป็นเรื่องง่ายดาย ใช้เวลาเพียงไม่นานก็ได้คำตอบ แต่ทว่าความทันสมัย และรวดเร็วนี้กลับเป็นเหมือนดาบสองคมที่ผู้รับสื่อต้องระวัง เราจะมีวิธีการอย่างไรให้รับสื่อได้ถูกต้อง และมีคุณภาพ ไม่หลงเชื่อข้อมูลผิดๆ ที่มีอยู่มากมายบนโลกออนไลน์
รู้จักกับ Critical Thinking การคิดเชิงวิพากษ์ ตัวช่วยป้องกันสื่อร้าย
กระบวนการที่ช่วยให้วิเคราะห์ และประเมินสถานการณ์ได้ถูกต้องตามความเป็นจริง โดยไม่ใช้อารมณ์ในการตัดสินใจ ทักษะนี้สามารถพัฒนาได้ง่าย ๆ ด้วยการเรียนการสอนภายในชั้นเรียน
1. การฝึกฝนการตั้งคำถาม และแลกเปลี่ยนความคิดเห็น
การตั้งคำถามนอกจากจะช่วยในเรื่องของการหาซึ่งคำตอบแล้ว ยังทำให้เราได้เรียนรู้เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างเหตุและผลของคำถาม และคำตอบนั้น ก่อให้เกิดความคิดใหม่ ๆ และเสริมสร้างประสบการณ์ทางความคิดต่อเรื่องเหล่านั้นได้ดียิ่งขึ้น ยิ่งตั้งคำถามมากเท่าไร จะยิ่งก่อให้เกิดมุมมองที่หลากหลาย และช่วยลดอคติในการตัดสินคำตอบลงอีกด้วย
2. การสอนแยกแยะระหว่างข้อเท็จจริงและข้อคิดเห็น
ในการเลือกรับสารนั้นหากเราไม่สามารถแยกแยะข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น กับข้อคิดเห็นจากคนบางกลุ่ม จะทำให้นักเรียนคล้อยตามสื่อเหล่านั้นได้โดยง่าย ครูจึงต้องฝึกทักษะให้นักเรียนแยกแยะออกว่าสิ่งใดคือข้อเท็จจริง และสิ่งใดคือข้อคิดเห็น เพื่อให้นักเรียนเลือกรับสื่อที่มีความน่าเชื่อถือมากขึ้น โดยข้อเท็จจริงนั้นมีข้อสังเกตง่าย ๆ คือ มีหลักฐานที่สามารถพิสูจน์ได้ทั้งด้วยหลักวิชาการ และประสบการณ์ รวมไปถึงความสมเหตุสมผล และมีเหตุผล ในส่วนข้อคิดเห็นนั้นข้อสังเกตคือจะมีเรื่องของการเปรียบเทียบอุปมาอุปไมย แสดงความรู้สึกหรือแสดงความคาดเดา และความคิดเห็นของผู้เขียน เช่น การบอกว่าสีชมพูเป็นสีที่สวยที่สุด เปรียบเสมือนการแสดงความคิดเห็นของตัวผู้เขียนเองว่าสีชมพูนั้นสวยที่สุด ไม่มีหลักฐานหรือข้อพิสูจน์ใดว่าสีชมพูนั้นสวยที่สุดหรือไม่
Critical Thinking เป็นทักษะที่คุณครูสร้างให้กับนักเรียนได้ผ่านการจัดการเรียนรู้ในชั้นเรียน ผู้ปกครองก็สามารถฝึกฝนให้นักเรียนได้ตั้งแต่ที่บ้าน ด้วยการรับฟังความคิดเห็น และพูดคุยเกี่ยวกับปัญหาร่วมกัน เพียงเท่านี้เราก็สามารถป้องกันสื่อร้ายที่อยู่บนโลกอินเทอร์เน็ตเหล่านี้ได้ นักเรียนเลือกรับสื่อได้อย่างถูกต้อง มีคุณภาพ และเป็นประโยชน์ต่อตัวเขาเองมากขึ้น
แหล่งอ้างอิง
Anand Kulpiyavaja. (2561). Critical Thinking: เพราะการคิดที่ดีสร้างได้. 1 มีนาคม 2564, https://bit.ly/3oSlJec
PITCHAYA T. (2562). 6 วิธีฝึกสอนให้ลูกเป็นเด็กมี Critical Thinking ทักษะที่จำเป็นอย่างยิ่งในอนาคต. 1 มีนาคม 2564, จาก https://aboutmom.co/features/critical-thinking/14849/
6 คุณประโยชน์ ที่เกิดขึ้นจาก “การตั้งคำถาม”. (2564). 6 คุณประโยชน์ ที่เกิดขึ้นจาก “การตั้งคำถาม”. 1 มีนาคม 2564, จาก https://sumrej.com/6-underlying-benefits-of-asking-questions-9-2017/
นงคราญ เจริญพงศ์. (2562). การแยกข้อเท็จจริง ข้อคิดเห็น. 3 มีนาคม 2564, จาก https://bit.ly/3hSTN8I