Knowledge
แตกต่างกันก็จับกลุ่มกันได้
3 years ago 3798เรียบเรียงโดย อาทิตยา ไสยพร
ทุกครั้งที่ครูต้องการให้นักเรียนได้ฝึกฝนการทำงานเป็นทีมร่วมกับผู้อื่น ปัญหาที่อาจพบอยู่บ่อย ๆ คือ นักเรียนมักใช้เวลาหากลุ่มค่อนข้างนาน ความสามารถของนักเรียนแต่ละกลุ่มไม่เท่ากัน นักเรียนบางคนไม่มีเพื่อนชวนเข้ากลุ่ม และอีกมากมาย วันนี้ EDUCA ขอนำเสนอวิธีการที่จะช่วยให้ครูสามารถจับกลุ่มนักเรียนได้ง่ายและเร็วขึ้น ไม่ว่านักเรียนจะมีความสามารถและความชอบที่แตกต่างกัน หรือปัญหาอื่นใด ก็สามารถจับกลุ่มรวมทีมกันทำงานได้อย่างแน่นอน ซึ่งจะแยกเป็นกรณี โดยใช้ประสบการณ์จากการสังเกตของครูเป็นเกณฑ์เลือกรูปแบบ ดังนี้
กรณีที่ 1
หากคุณครูสั่งงานนักเรียนครั้งแรก ยังไม่เคยเห็นศักยภาพของนักเรียนแต่ละคน และอยากให้การจับกลุ่มมีความรวดเร็ว สิ่งที่สามารถช่วยครูได้ คือการใช้โปรแกรมสุ่มจับกลุ่มให้นักเรียน ซึ่งเป็นวิธีการที่สะดวก รวดเร็ว ลดระยะเวลาได้มาก และมีให้เลือกใช้หลายโปรแกรม ยกตัวอย่างเช่น โปรแกรม Flipquiz ไม่เพียงเป็นตัวช่วยจับกลุ่มนักเรียนเท่านั้น แต่ยังสามารถสร้างบอร์ดคำถามประกอบการเรียนการสอนได้ด้วย ตัวโปรแกรมสามารถใช้งานได้ง่าย ๆ เพื่อสมัครสมาชิกก็เข้าใช้งานได้ทันที เมื่อครูเลือกใช้การสุ่มจับกลุ่ม ควรให้นักเรียนได้นำเสนอผลการทำงานกลุ่มเป็นรายบุคคลหลังทำงานเสร็จสิ้นด้วย เพื่อให้นักเรียนบอกเล่าปัญหาที่พบจากการทำงานกลุ่ม ข้อดี ข้อเสียของเพื่อนแต่ละคน เพื่อให้ครูเก็บเป็นข้อมูลในการจับกลุ่มนักเรียนครั้งถัดไป นอกจากนี้ ยังเป็นการสะท้อนความคิดของนักเรียนให้ครูได้รับทราบอีกด้วย
กรณีที่ 2
เมื่อคุณครูได้เห็นศักยภาพการทำงานของนักเรียนแล้ว ครูอาจมีคำแนะนำในการเลือกจับกลุ่มแก่นักเรียน หรือเปิดโอกาสให้นักเรียนเลือกกลุ่มทำงานด้วยตนเองก่อน จากนั้นคุณครูจึงช่วยให้คำแนะนำทีหลัง ดังนี้
1. ให้นักเรียนเลือกคนเข้ากลุ่มกันเองอย่างอิสระ ข้อดีคือ นักเรียนสามารถเลือกคนที่อยากทำงานร่วมด้วยตัวเอง ช่วยลดปัญหาในการทำงานและลดความขัดแย้งภายในกลุ่ม ข้อเสียคือ เกิดความหลากหลายภายในกลุ่มน้อยมาก บางกลุ่มอาจมีศักยภาพไม่เท่ากับกลุ่มอื่น ๆ หรือเกิดการรวมกลุ่มของนักเรียนที่มีเพื่อนน้อย สิ่งที่จะช่วยให้นักเรียนเหล่านี้ทำงานกลุ่มได้อย่างลุล่วง คือครูต้องคอยติดตามสอบถามความคืบหน้าในแต่ละวัน ว่าติดขัดตรงไหนบ้าง แบ่งงานกันทำอย่างไร พร้อมทั้งสังเกตว่ามีกลุ่มไหนที่งานไม่คืบหน้าหรือเริ่มช้ากว่ากลุ่มอื่น ๆ และคอยให้คำแนะนำเพิ่มขึ้น เพื่อให้นักเรียนรู้สึกกังวลใจน้อยลง
2. คุณครูเห็นว่าควรจัดกลุ่มให้นักเรียนด้วยตัวเอง ข้อดีคือ ครูสามารถคละนักเรียนในกลุ่มให้มีความหลากหลายได้ จัดการได้รวดเร็วมากขึ้นเพราะตระเตรียมล่วงหน้าได้ ข้อเสียคือ นักเรียนอาจได้ทำงานกับคนที่มีความแตกต่างจากตน ทั้งเรื่องความสามารถ ความชอบ รสนิยม หรือลักษณะนิสัย ซึ่งหากมองในแง่ดี การจับกลุ่มรูปแบบนี้จะเป็นการกระตุ้นให้เด็กทุกคนต้องพยายามปรับตัวอย่างเท่าเทียมกัน ไม่เพียงเพื่อให้งานกลุ่มสำเร็จลุล่วง แต่อาจนำไปสู่การสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างนักเรียนแต่ละคนให้เกิดขึ้นได้ เช่น นักเรียนสองคนที่มีความแตกต่างกัน และไม่เคยคิดจะจับกลุ่มกันเลย แต่พอได้ทำงานด้วยกันกลับพบว่าเข้ากันได้ดี คอยสนับสนุนซึ่งกันและกัน เกิดเป็นความสัมพันธ์ที่ดีตามมา เป็นต้น
วิธีการจับกลุ่มทำงานของนักเรียนที่แนะนำไปข้างต้น เป็นหนึ่งในตัวเลือกให้ครูลองนำไปใช้ในห้องเรียนของตนเอง เพื่อฝึกนักเรียนให้เกิดทักษะการทำงานกับผู้คนที่หลากหลาย เพิ่มทักษะการทำงานเป็นทีม ซึ่งต้องอาศัยการวางแผนที่ดีและร่วมด้วยช่วยกันเพื่อให้งานสำเร็จ ถ้าหากครูเลือกใช้ได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม งานกลุ่มของนักเรียนจะต้องออกมาดีและมีประสิทธิภาพอย่างแน่นอน
แหล่งอ้างอิง
Plook Teacher. (2562). วิธีในการจัดเรียงนักเรียนเพื่อทำงานกลุ่ม. 5 มิถุนายน 2564,จาก https://www.trueplookpanya.com/education/content/72362/-teaartedu-teaart-teamet-
มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช. (2560). คู่มือการฝึกอบรมเทคนิคการสอนในศตวรรษที่ 21 โดยใช้เครื่องมือในกลุ่ม Education Applications. 5 มิถุนายน 2564,จาก คู่มือการฝึกอบรม เทคนิคการสอนในศตวรรษที่ 21 โดยใช้เครื่องมือในกลุ่ม Education Applications