Knowledge
ห้องเรียนกับสภาพแวลดล้อม และความรู้สึก ที่เราออกแบบได้
4 years ago 34204เรียบเรียง: สุรเชษฐ์ ตรรกโชติ
ภาพ: กชกร มั่นคงเจริญกิจ
ห้องเรียน คือสถานที่หนึ่งที่รวบรวมองค์ประกอบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้มาไว้รวมกัน หากลองย้อนนึกนึกภาพถึงห้องเรียนจากประสบการณ์ของเรา เราอาจเห็นภาพกระดานดำขนาดใหญ่หน้าชั้นเรียน กับชุดโต๊ะเก้าอี้จำนวนมากที่เรียงรายกันเป็นแถวอย่างเป็นระเบียบ รูปแบบของห้องเรียนที่คุ้นเคยเหล่านี้จะเพียงพอต่อกระบวนการเรียนรู้ที่ดีได้หรือไม่ อะไรคือสิ่งที่สามารถส่งเสริมการเรียนรู้ให้เกิดเป็นห้องเรียนที่ดีขึ้นได้อีก เมื่อเราแตกองค์ประกอบของห้องเรียนออกมา สิ่งหลักๆ ที่ส่งผลให้เกิดสภาวะห้องเรียนเพื่อการเรียนรู้ที่ดี เราจะมองเห็นถึงสองแง่มุม ได้แก่สภาพแวดล้อมในห้องเรียน และจิตวิทยาของครูผู้สอน
สภาพแวดล้อมในห้องเรียนที่ดี: การจัดวางสิ่งต่าง ๆ ในห้องเรียนเพื่อความยืดหยุ่นในการเรียน
ตำแหน่งการจัดวางเป็นสิ่งที่ควรคำนึงถึง ทั้งโต๊ะเก้าอี้ อุปกรณ์การสอน สิ่งอำนวยความสะดวกหรือของตกแต่งห้อง ทุกอย่างควรเคลื่อนย้ายและปรับเปลี่ยนได้เพื่อตอบสนองต่อจุดประสงค์ของการเรียนรู้ในคาบนั้นๆ จากหนังสือ “What I Wish I Knew When I Was 20” ของ Tina Seelig ผู้อำนวยการบริหารของหลักสูตรการลงทุนทางเทคโนโลยีของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด บางส่วนในหนังสือแสดงให้เห็นถึงบรรยากาศในชั้นเรียนที่ยืดหยุ่นในมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด สิ่งของทุกอย่างเคลื่อนที่ได้ สามารถปรับเปลี่ยนห้องเรียนได้ง่ายเพื่อให้มีความเหมาะสมต่อกิจกรรมที่เกิดขึ้นในรายวิชาต่างๆ ที่แตกต่างกัน และมีบรรยากาศของความรู้สึกที่ปลอดโปล่ง และผ่อนคลาย รวมถึงการมีระยะห่างระหว่างนักเรียนกับคุณครูที่ใกล้ถึงกันเช่น การจัดตำแหน่งของโต๊ะเรียนเป็นครึ่งวงกลมล้อมรอบครูผู้สอน เพื่อที่จะไม่ให้เกิดคำว่า “เด็กหน้าห้อง-หลังห้อง”
คุณครูผู้เป็นหัวใจของห้องเรียน: จิตวิทยากับการสร้างบรรยากาศ
ครูผู้สอนเป็นส่วนสำคัญในการดำเนินการเรียนรู้ในชั้นเรียน เพื่อให้เกิดสภาพการเรียนรู้ดีที่ดีขึ้น เรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียนคือสิ่งแรกที่จะช่วยให้การดำเนินการสอนเป็นไปได้ด้วยดี
1.สร้างความสัมพันธ์เชิงบวก หนึ่งในสิ่งที่เราสามารถทำได้ คือการให้ความสำคัญกับนักเรียนทุกคนโดยการเรียกชื่อ เช่น เมื่อนักเรียนแต่ละคนเข้ามาในชั้นเรียนเราสามารถเรียกชื่อพวกเขาเพื่อกล่าวคำทักทายได้ รวมถึงการหาเวลาพูดคุยกับนักเรียนรายบุคคล เช่นการเดินเข้าไปสอบถามและให้ความช่วยเหลือเมื่อเราสังเกตุเห็นว่านักเรียนของเรามีปัญหาในการเรียน หาโอกาสในการรับฟังความคิดเห็นต่างๆ จากพวกเขา และใส่ใจในการรับฟังเรื่องราวและประสบการณ์จากมุมมองของนักเรียน จะช่วยให้เราเข้าถึงความรู้สึก เมื่อใจผูกใจ การออกแบบบรรยากาศในห้องเรียนอาจจะไม่ใช่เรื่องที่ยากจนเกินไป
2.กิจกรรม เมื่อห้องเรียนมีความพร้อมของอุปกรณ์ที่เอื้ออำนวยต่อการเรียนรู้แล้ว ให้จินตนาการว่าห้องเรียนเป็นเหมือนสนามเด็กเล่น กิจกรรมอะไรที่เกิดขึ้นล้วนแล้วแต่สามารถนำมาปรับใช้กับเนื้อหาในการเรียนรู้ของนักเรียนได้ กิจกรรมที่เกิดขึ้นโดยการนำของครูผู้สอนจึงเป็นสิ่งที่น่าสนใจเป็นลำดับต่อมา กิจกรรมการเรียนรู้ที่ดีควรช่วยให้ผู้เรียนได้มีส่วนร่วมโดยให้ร่างกายของพวกเขาได้เป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนการเรียนรู้ การสร้างกิจกรรมที่ทำให้พวกเขาได้คิด ได้ลงมือทำและได้เสนอข้อคิดเห็น ใช้การสื่อสารสองฝ่าย โดยการเปิดโอกาสให้ได้มีการโต้ตอบกันระหว่างครูกับนักเรียน และระหว่างนักเรียนด้วยกันเอง เมื่อเกิดความสนุกและมีความเป็นธรรมชาติ การเรียนก็จะไม่ใช่เรื่องที่น่าเบื่อน่าเบื่ออีกต่อไป และความรู้สึกในเชิงบวกที่เกิดขึ้นระหว่างการเรียนรู้เนื้อหาวิชานั้นๆ ก็จะเป็นแรงเสริมที่จะทำให้สิ่งที่พวกเขาเรียนรู้อยู่กับพวกเขานานขึ้น
สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงแนวทางเพื่อให้เกิดการนำไปปรับใช้และประยุกต์ให้เข้ากับบริบท และสไตล์การสอน ของคุณครูแต่ละท่าน โดยในหน้างานจริงนั้นเราอาจพบว่ามีองค์ประกอบหลากหลายที่อยู่นอกเหนือการควบคุมขอเรา และนักเรียนคือหนึ่งองค์ประกอบเหล่านั้น แต่สิ่งที่เรายังคงทำได้เสมอคือการใส่ใจองค์ประกอบในห้องเรียนที่เรายังสามารถออกแบบได้ตามที่ได้กล่าวมา เพื่อให้เกิดสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรต่อผู้เรียน และทำให้นักเรียนรู้สึกอยากเรียนรู้ และยากที่จะมาร่วมทำกิจกรรมในห้องเรียนกับคุณครูและเพื่อนๆ ต่อไป
แหล่งที่มา:
(1) How to Foster a Positive Classroom Environment.LDatSchool ,February 27, 2019 retrieved on July 23, 2020 from https://www.ldatschool.ca/positive-classroom-environment/
(2) Key Factors in Creating a Positive Classroom Climate By Rachel Kamb, August 12, 2012 retrieved on July 23, 2020 from https://www.cfchildren.org/blog/2012/08/key-factors-in-creating-a-positive-classroom-climate/
(3) What I Wish I Knew When I Was 20 by Tina Seelig, retrieved on July 23, 2020