Knowledge
สร้างระบบนิเวศการเรียนรู้…สู่การพัฒนาผู้เรียนเป็น Lifelong Learner
2 years ago 19755อาทิตยา ไสยพร เรียบเรียง
การเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพในปัจจุบันคือการสร้างผู้เรียนให้เป็น Lifelong Learner คือเป็นผู้เรียนรู้ตลอดชีวิต ซึ่งเป็นเป้าหมายปลายทางของการศึกษาที่สำคัญที่สุด สิ่งที่จะสร้างผู้เรียนให้เป็นผู้รักในการเรียนรู้ได้ คือการสร้างระบบนิเวศการเรียนรู้เพื่อก่อให้เกิดสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต สร้างนักเรียนให้พร้อมรับมือโลกแห่งการเปลี่ยนแปลง
สร้างระบบนิเวศการเรียนรู้ได้อย่างไร?
ระบบนิเวศจะเกิดขึ้นได้ต้องเริ่มจาก 3 ขั้นตอนหลักที่จะทำให้เรามีทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิต ได้แก่
Learn: การเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ
Unlearn: การไม่ยึดติดกับสิ่งที่เคยเรียนรู้มาก่อน
Relearn: การเรียนรู้ในสิ่งที่เคยเรียนรู้มาแล้วด้วยมุมมองใหม่ ๆ
การสร้างระบบนิเวศการเรียนรู้โดยนำแนวคิดการเรียนรู้ตลอดชีวิตมาใช้ในแต่ละองค์ประกอบได้ดังนี้
1. People (คน) นักเรียนต้องค้นหาแนวทางการเรียนรู้ที่เหมาะกับตนเอง คุณครูสามารถช่วยเหลือนักเรียนได้ โดยการทำแบบประเมินตนเอง ระบุความต้องการการเรียนรู้ และช่วยเหลือในการสรรหาทรัพยากรการเรียนรู้ที่เกี่ยวข้อง เช่น วิทยากรในการให้คำแนะนำ อุปกรณ์ช่วยเหลือนักเรียนได้ฝึกปฏิบัติ สุดท้ายคือการประเมิน และวัดผลการเรียนรู้ของนักเรียน โดยอาจให้นักเรียนเป็นผู้ประเมินตนเองผ่านความช่วยเหลือของครูก็ได้
2. Content (เนื้อหา) เนื้อหาในระบบนิเวศการเรียนรู้นั้นมีตั้งแต่การเรียนรู้เนื้อหาสำคัญจำเป็นที่นักเรียนต้องเรียนรู้ในโรงเรียน แต่สิ่งสำคัญที่จะสร้างผู้เรียนให้เป็น Lifelong Learner ได้คือการเรียนรู้นอกห้องเรียนตามความสนใจที่ไม่จำกัดรูปแบบการเรียนรู้ ไม่ว่าจะเป็นการเรียนรู้จากสื่อดูวิดีโอ อ่านบทความ หรือฟังพอดคาสต์ โดยให้นักเรียนระบุเป้าหมายสิ่งที่ต้องการเรียนรู้ให้ชัดเจน
3. Technology (เทคโนโลยี) ในที่นี้หมายถึงแพลตฟอร์มในการเรียนรู้รูปแบบต่าง ๆ เช่น ระบบสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ (Learning Experience Platform;LXP) คือ การสร้างการเรียนรู้เฉพาะบุคคล ผ่านระบบ Cloud ที่สนับสนุนให้นักเรียนพัฒนาทักษะของตนนอกเหนือไปจากการเรียนในวิชาบังคับ ซึ่งแพลตฟอร์มนี้จะอนุญาตให้ผู้เรียนจัดการเนื้อหาและสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ และยังมีช่องทางการให้คำแนะนำส่วนตัวด้วย ทั้งหมดนี้ผู้เรียนสามารถกำหนดและติดตามเนื้อหาได้เอง ตัวอย่างเช่น LinkedIn Learning แนวคิดของแพลตฟอร์มนี้พัฒนามาจากระบบที่เราใช้ในปัจจุบัน คือ ระบบการจัดการเรียนรู้ (Learning Management System; LMS) ที่อยู่ในรูประบบปิดที่อนุญาตให้ผู้เรียนที่ได้รับสิทธิ์เท่านั้นถึงจะเข้าเรียนได้
4. Data (ข้อมูล) ข้อมูลมีความสำคัญต่อการสร้างระบบนิเวศการเรียนรู้ ข้อมูลที่สำคัญคือข้อมูลความต้องการในการเรียนรู้ของนักเรียนไม่ว่าจะเป็นต้องการเรียนรู้เรื่องใด เนื้อหาอะไร ถนัดในการเรียนรู้แพลตฟอร์มไหน หรือคุณครูอาจวิเคราะห์จากพฤติกรรมการเรียนรู้ของผู้เรียนบนแพลตฟอร์มที่สร้างขึ้น เช่น จำนวนครั้งการเข้าใช้ระบบ จำนวนหัวข้อที่เลือกศึกษา ฯลฯ เมื่อคุณครูมีข้อมูลเหล่านี้จะช่วยให้เห็นภาพกว้างและภาพเชิงลึกของการเรียนรู้ของนักเรียนแต่ละคนที่ชัดขึ้น นำมาสู่การพัฒนาและออกแบบการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับนักเรียนในที่สุด
5. Governance (การกำกับดูแล) การกำกับดูแล คือ การร่วมกันปรับปรุงองค์ประกอบต่างๆ ของระบบนิเวศการเรียนรู้ โดยคุณครูและนักเรียนต้องหมั่นให้ผลป้อนกลับ (Feedback) เกี่ยวกับประเด็นต่าง ๆ ทั้งเรื่อง คน เนื้อหา เทคโนโลยี และข้อมูล ใน 4 ข้อข้างต้น เช่น นักเรียนมีปัญหาในเรื่องขาดอุปกรณ์ในการเรียนรู้ ยังไม่มีเนื้อหาการเรียนรู้ที่สนใจ เทคโนโลยีมีปัญหาในการเลือกแพลตฟอร์มในการเรียนรู้ นอกห้องเรียนมากมายให้นักเรียนได้เรียนรู้ มีทั้งแบบมีค่าใช้จ่ายและใช้ได้ฟรี คอร์สระยะสั้นและคอร์สระยะยาว คุณครูสามารถให้คำแนะนำในการเลือกแพลตฟอร์มที่เหมาะสมให้กับนักเรียน และกระบวนการเรียนรู้ของนักเรียนวิเคราะห์ออกมาแล้วว่ายังไม่บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ ในส่วนนี้คุณครูสามารถให้ความช่วยเหลือ แก้ไข และปรับปรุงตามความเหมาะสม
นอกจากองค์ประกอบทั้ง 5 ประการที่กล่าวถึงไปแล้ว ส่วนสำคัญที่ขาดไม่ได้คือคุณครูจะต้องเป็น Lifelong Learner ด้วย คือเป็นคนที่พร้อมและรักที่จะเรียนรู้ เมื่อคุณครูเข้าใจองค์ประกอบของการเป็น Lifelong Learner รู้จักการกำกับการเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง เชื่อว่าคุณครูจะสามารถสร้างและออกแบบระบบนิเวศการเรียนรู้ที่ดีให้แก่นักเรียนจนสามารถเป็น ผู้รักการเรียนรู้ตลอดชีวิตได้
อ้างอิง
ภานุวัฒน์ สัจจะวิริยะกุล. (2564, 15 พฤศจิกายน). ปรับนิด สะกิดหน่อย เสริมสร้างการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning). Nudge Thailand. https://www.eef.or.th/article-lifelong-learning-151121/
Brightside People Team. (2563, 7 กรกฎาคม). อะไรคือ Learning Experience Platform? แล้วจะมาแทน LMS ได้จริงหรือ??. Brightside. https://www.brightsidepeople.com/อะไรคือ-learning-experience-platform-แล้วจะมาแทน-lms/
Sprout Labs. (n.d.). A learning ecosystem model. http://www.sproutlabs.com.au/blog/a-learning-ecosystem-model
Theodotou, M. (2020, December 14). Learning ecosystem: Why you need one, how to build it. Association for Talent Development. https://www.td.org/insights/learning-ecosystem-why-you-need-one-now-and-how-to-build-it