Knowledge

จากครูรุ่นพี่สู่ครูรุ่นน้อง : การเตรียมตัวด้านงานที่ไม่ใช่สอน

จากครูรุ่นพี่สู่ครูรุ่นน้อง : การเตรียมตัวด้านงานที่ไม่ใช่สอน

 2 years ago 2505

สุรศักดิ์ แซ่ลิ้ม

        ภาคเรียนที่ 1 ของปีการศึกษา 2565 ได้เริ่มต้นขึ้นแล้วและเป็นภาคเรียนแรกในรอบ 2 ปีที่ได้กลับมาเรียนออนไซต์ที่โรงเรียนสำหรับหลายโรงเรียน สิ่งที่กลับมาไม่ใช่เพียงภาระงานสอนแต่เพียงเท่านั้น แต่ยังมีงานเอกสารอีกเป็นกองที่ครูต้องจัดสรรเวลามาจัดการเอกสารเหล่านี้ให้ได้ EDUCA ได้สัมภาษณ์ ครูวิมลฉัตร พันธุรักษ์ ครูฐาปณี วงศ์สวัสดิ์ และ ครูธันว์ชนก เติมเกียรติไพบูลย์ ครูผู้ผ่านทั้งสถานการณ์การสอนในรูปแบบทั้งออนไลน์และออนไซต์ เพื่อนำวิธีการจัดการเอกสารต่าง ๆ รวมถึงสิ่งที่ครูอยากบอกกับเพื่อนครูที่เริ่มต้นภาคเรียนนี้เป็นภาคเรียนแรกมาแชร์กัน

ครูมีวิธีจัดการงานเอกสารไม่ให้กระทบกับงานสอนทำอย่างไร?

        ครูวิมลฉัตร พันธุรักษ์ โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ฯ เล่าว่า สิ่งที่แรกที่ครูต้องทำคือการจัดสรรเวลาหาให้ดี และต้องยอมรับว่าประสิทธิภาพของการสอน และประสิทธิภาพของชั้นเรียนนั้นจะน้อยลง ในกรณีของครูอัตราจ้างที่ไม่ได้มีงานเอกสารต้องทำ อาจทำให้มีเวลาเตรียมตัวมาก แต่กลับครูที่เป็นครูบรรจุในระบบราชการ หรือเป็นครูที่ต้องรับผิดชอบในส่วนงานต่าง ๆ ที่เป็นการดำเนินการในโรงเรียน อาจกระทบกับการเตรียมงานสอน ดังนั้นจึงต้องจัดสรรเวลาให้ดี เพื่อให้มีเวลาที่นำไปเตรียมการสอนมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ครูฐาปณี วงศ์สวัสดิ์ โรงเรียนเมืองสุราษฎร์ธานี เสริมว่า กรณีที่ภาระงานเอกสารนั้นเยอะเกินไปจนรับมือไม่ไหว ขอให้คุยอย่างเปิดใจว่าภาระงานเอกสารเหล่านั้นกำลังกระทบกับการสอน แล้วร่วมกันหาทางออก เพราะไม่ว่าครูจะแม่นเนื้อหาหรือมีวิธีการสอนที่พิเศษและมีประสิทธิภาพมากเท่าใด ครูก็ต้องเตรียมการสอนก่อนเข้าคาบเรียนอยู่ดี

คิดว่างานเอกสารจำเป็นหรือไม่ อย่างไร?

        ถึงแม้ว่าครูจะต้องรับผิดชอบงานเอกสารจำนวนมาก แต่มีเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้นที่จำเป็นสำหรับนักเรียนจริง ๆ ภาระงานเอกสารที่เป็นปัญหามากที่สุดชิ้นแรก คือ “ภาระงานประเมินการสอน” เพราะว่าการประเมินการสอนนี้เป็นการประเมินการสอนจากกระดาษ การประเมินการสอนจากกระดาษไม่สามารถวัดประสิทธิภาพการสอนของครูได้อย่างแท้จริง แม้ว่าสิ่งนั้นจะเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ เป็นชิ้นงานที่จับต้องได้ก็ตาม อีกภาระงานหนึ่งคือ “ภาระงานที่เป็นการดำเนินการของโรงเรียน” เช่น งานพัสดุ งานการเงิน ภาระงานต่าง ๆ เหล่านั้นไม่ใช่หน้าที่ของครูเลยแม้แต่น้อย ดังนั้นจึงควรจัดสรรให้มีเจ้าหน้าที่เข้ามารับผิดชอบภาระงานเหล่านี้โดยตรงเลยจะดีกว่า

มีอะไรจะบอกกับครูจบใหม่ไหม?

        ครูวิมลฉัตรยกประเด็นการสะท้อนคิดด้วยการถามตัวเองว่าอยากเป็นครูจริงไหม เราสอนแล้วนักเรียนรู้เรื่องจริงหรือไม่ ควรหมั่นสะท้อนคิดกับตัวเองอยู่เสมอ มุมมองอีกมุมมองหนึ่งคือ การมองว่าอาชีพครูนั้นมั่นคงต่อชีวิตตนเองเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ แต่ก็ควรต้องอุทิศตนให้กับงานสอน และการพัฒนาตัวเองบ้าง เพราะในเมื่ออาชีพครูให้ความมั่นคงแล้วครูเองก็ควรจะให้อะไรกับนักเรียนบ้างเช่นกัน ส่วนครูฐาปณีกล่าวส่งท้ายว่า อาชีพครูเป็นอาชีพที่ค่อนข้างหนักหน่วง ขอให้ทุกคนอดทนและผ่านไปให้ได้ เพราะทุกปี ทุกภาคเรียนจะมีโจทย์ใหม่ และความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ เข้ามาเสมอ ทั้งจากนักเรียน จากผู้ปกครอง และจากนโยบายต่าง ๆ ที่ได้รับมา ขอให้ครูผู้มีใจรักในวิชาชีพยังคงอยู่ในระบบต่อไป เพราะในระบบจะเหลือครูแบบเราเพียงไม่กี่คนเท่านั้น แล้วถ้าสามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้เล็ก ๆ น้อย ๆ ภายในโรงเรียน ขอให้มีกำลังแรงใจที่จะลงมือทำ เพราะการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ล้วนเริ่มต้นมาจากครู

        ภาระงานเอกสารที่ไม่ใช่งานสอนอาจเกินขอบเขตภาระงานที่รับผิดชอบของครูไปบ้าง ดังนั้น ครูจึงควรจะต้องจัดสรรเวลาให้ดี ไม่ให้กระทบกับงานสอน อีกทั้งยังต้องเปิดใจ ปรึกษาหารือเมื่อเราประสบกับปัญหา เพื่อป้องกันไม่ให้ภาระงานอื่นกระทบกับงานสอนและคำนึงถึงผลประโยชน์ของนักเรียนเป็นที่ตั้ง หมั่นเตรียมการสอน หมั่นสะท้อนคิดอยู่เสมอ เพื่อให้ครูในระบบการศึกษานี้ยังคงเป็นครูที่มีไฟ และใจรักในวิชาชีพต่อไป

         ทางทีมงาน EDUCA ขอขอบพระคุณคุณครูทั้ง 3 ท่าน ได้แก่ ครูวิมลฉัตร พันธุรักษ์ ครูฐาปณี วงศ์สวัสดิ์ และ ครูธันว์ชนก เติมเกียรติไพบูลย์ สำหรับคำแนะนำและประสบการณ์เกี่ยวกับวิธีเตรียมการสอนและวิธีการจัดการชั้นเรียนมา ณ ที่นี้ด้วย


TAG: #ภาระงาน #การออกแบบการจัดการเรียนรู้ #การจัดการชั้นเรียน #สุขภาพจิตและกาย