Knowledge

รวม 7 เทคนิคช่วยครูคุมชั้นเรียนให้อยู่หมัด

รวม 7 เทคนิคช่วยครูคุมชั้นเรียนให้อยู่หมัด

 2 years ago 20260

เอกปวีร์ สีฟ้า

         ครูหลายคนคงจะเคยจินตนาการถึงชั้นเรียนในฝัน ที่เด็ก ๆ ตั้งใจเรียน ฟังสิ่งที่ตนเองเตรียมมาสอนเป็นอย่างดี แต่ในความเป็นจริง ห้องเรียนโดยทั่วไปไม่ได้เป็นแบบนั้น สิ่งที่จะช่วยเสกชั้นเรียนให้เป็นห้องเรียนในฝันได้ก็คือ เทคนิคการคุมชั้นเรียน  ที่ดีและเหมาะสมกับนักเรียนในห้องนั้น ซึ่งจะช่วยดึงความสนใจจากนักเรียนให้เปลี่ยนพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เช่น การพูดคุยเสียงดัง เป็นการให้ความสำคัญและสนใจครูที่อยู่หน้าห้องมากขึ้น

1. เรียกและตอบกลับ
วิธีหนึ่งที่จะช่วยให้ครูคุมชั้นเรียนได้ คือ ครูเริ่มต้นด้วยการพูดคำหรือวลีหนึ่ง แล้วให้นักเรียนตอบกลับตามคำสั่ง เช่น ปรบมือ 1 ครั้ง ดีดนิ้ว 1 ที เอามือจับหัว เอานิ้วแตะจมูก ซึ่งสามารถเพิ่มความท้าทายได้โดยให้ครูตกลงกับนักเรียนก่อนว่าถ้าได้ยินคำนี้ ให้ตอบกลับในลักษณะใด เช่น ครูใช้เพลง “หากพวกเรากำลังสบาย” แล้วระบุสิ่งที่ต้องการให้นักเรียนทำลงไปในเนื้อเพลง “หากพวกเรากำลังสบาย จง…พลัน” หรือหากเด็กที่โตขึ้นหน่อยอาจใช้คำผวน ครูพูดว่าสวีดัด แล้วนักเรียนตอบกลับมาว่าสวัสดี เพื่อเพิ่มความสนุกสนานได้

2. ยกมือขึ้นแล้วชูห้านิ้ว
ครูเริ่มต้นด้วยการยกมือสูงขึ้นเพื่อให้นักเรียนสังเกตเห็น จากนั้นแบมือ เมื่อนักเรียนสังเกตเห็นครูแบมือ นักเรียนก็ต้องทำอย่างนั้นด้วย รอจนกว่านักเรียนทุกคนจะยกมือขึ้นและแบมือ เทคนิคนี้สามารถเพิ่มความตื่นเต้นได้โดยให้นักเรียนช่วยกันดูว่ากว่าจะยกมือครบทุกคนนั้นใช้เวลานานเท่าไร และท้าทายให้พวกเด็ก ๆ เอาชนะเวลาเดิมที่เคยทำได้ในครั้งถัดไป ซึ่งหากทำครั้งแรก นักเรียนก็อาจมีอาการงุนงงไปบ้าง ดังนั้นครูจึงต้องมีการตกลงร่วมกันกับนักเรียนให้ชัดเจนเสียก่อน

3. นับถอยหลังทั้งชั้นเรียน
ครูเริ่มต้นด้วยการนับถอยหลัง อาจจะเริ่มต้นจาก 10 เมื่อนักเรียนได้ยินครูนับถอยหลัง พวกเขาก็ต้องช่วยนับถอยหลังจนกว่าจะถึง 0 ด้วย เมื่อนับถึง 0 นักเรียนทุกคนก็จะเงียบและกลับมาสนใจครูอีกครั้ง โดยระยะเวลาสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความเหมาะสมของชั้นเรียน แต่อย่าให้นานจนเกินไปเพราะอาจทำให้เด็กที่กลับมาโฟกัสไวรู้สึกเบื่อ

4. ไฟจราจรกำหนดระดับเสียงของชั้นเรียน
ครูสามารถพูดถึงสัญลักษณ์ของไฟจราจรคู่กับระดับการใช้เสียงในชั้นเรียนได้ และทำป้ายเพื่อชูบอกให้นักเรียนทราบ ยกตัวอย่างเช่น เมื่อครูชูป้ายสีเขียว แสดงว่านักเรียนสามารถพูดคุยและปรึกษากันในห้องได้ตามปกติ เมื่อครูชูป้ายสีเหลือง แสดงว่านักเรียนต้องลดระดับเสียงลง อาจจะยังกระซิบกันได้ แต่เมื่อครูชูป้ายสีแดง แสดงว่านักเรียนต้องหยุดคุยกันและตั้งใจฟังสิ่งที่ครูหรือเพื่อนกำลังพูด

5. ใช้ตัวจับเวลาหรือเพลงมาช่วย
เทคนิคการจัดการชั้นเรียนนี้สามารถใช้ได้ดีเมื่อนักเรียนทำกิจกรรมคู่หรือกลุ่ม เมื่อเด็ก ๆ เริ่มทำกิจกรรม ให้จับเวลาโดยให้นักเรียนเห็นเวลาที่เหลือได้ อาจจะแสดงผ่านจอโปรเจ็กเตอร์ หรือเริ่มเปิดเพลงขึ้น เมื่อเวลาหมดลงหรือเพลงจบลง ให้นักเรียนเข้าใจตรงกันว่าหมดเวลาในการทำกิจกรรมแล้ว ทุกคนต้องวางมือจากสิ่งที่ทำอยู่แล้วหันมาสนใจครูเพื่อเตรียมฟังกิจกรรมต่อไป

6. แน่จริง ทำตามครูสิ!
ครูสามารถทำให้นักเรียนกลับมาโฟกัสโดยเริ่มจากการสอนรูปแบบท่าทางต่าง ๆ ที่จะให้นักเรียนทำตาม เช่น เอามือจับหัว เอานิ้วแตะจมูก หรือครูอาจร่วมกันคิดกับนักเรียนเพื่อเพิ่มความสนุกสนานได้ วิธีการใช้เทคนิคนี้ คือ เมื่อบรรยากาศในชั้นเรียนเริ่มหลุดโฟกัสและนักเรียนส่งเสียงดังกว่าปกติ ครูจะเริ่มทำท่าเหล่านั้น นักเรียนก็จะต้องทำตาม รอจนกว่านักเรียนทุกคนจะอยู่ในท่านั้น ณ เวลานั้นห้องเรียนก็จะอยู่ในบรรยากาศที่เอื้อต่อการสอนบทเรียนต่อไปแล้ว

7. คุยกับกระดานให้เด็กดู
เทคนิคการคุมชั้นเรียนนี้ ครูต้องกล้าทำในสิ่งที่เหนือความคาดหมายหรือแสดงอารมณ์ขันกับเด็ก ๆ เช่น หันไปพูดคุยกับกระดานที่ตนเองกำลังเขียนอยู่ด้วยความสนุกสนาน ให้เด็ก ๆ ได้ยิน เมื่อมีนักเรียนคนหนึ่งสังเกตเห็นและถามว่าทำไมครูถึงพูดกับกระดานล่ะ ครูก็สามารถตอบไปว่า “เพราะกระดานเป็นสิ่งเดียวที่ฟังครูพูด” หลังจากนั้นบรรยากาศในชั้นเรียนก็คงจะเต็มไปด้วยเสียงหัวเราะ และเด็ก ๆ ก็จะกลับมาสนใจครูอีกครั้ง

         ครูสามารถนำเทคนิคที่ได้นำเสนอไปในบทความไปประยุกต์ใช้กับห้องเรียนของตนได้ แต่ละชั้นเรียนอาจจะได้ผลต่างกัน ถึงแม้จะเป็นวิธีเดียวกัน เช่น เทคนิคนับถอยหลังทั้งชั้นเรียนอาจจะใช้ได้ผลกับห้อง 1 แต่ใช้ไม่ได้ผลกับห้อง 2 ฉะนั้นการนำไปใช้และสังเกตพฤติกรรมของเด็ก ๆ จะทำให้ครูสามารถเลือกใช้เทคนิคต่าง ๆ  ได้อย่างเหมาะสมกับธรรมชาติของนักเรียนของตน

การจัดการชั้นเรียน

แหล่งอ้างอิง
นะโมโต๋เต๋. (2563, 21 มกราคม). ครูพร้อม เทคนิคการจัดการชั้นเรียน ไม่ต้องพูดเงียบ. Inskru. https://inskru.com/idea/-Lz5AVN8oTIhnzLM2lmG

Fuhrman, R. (2022, January 27). 7 attention-getters to use instead of raising your voice. Edutopia. https://www.edutopia.org/article/7-attention-getters-use-instead-raising-your-voice

Heick, T. (n.d.). How to get a noisy classroom’s attention. Teach Thought. https://www.teachthought.com/pedagogy/noisy-classroom/

Rabadi, S. (2014, March 13). 25 attention-grabbing tips for the classroom. Edutopia. https://www.edutopia.org/groups/classroom-management/737576


TAG: #การคุมชั้นเรียน #เทคนิคการสอน #การจัดการชั้นเรียน #บรรยากาศการเรียนรู้ #สิ่งแวดล้อมการเรียนรู้ #การดึงความสนใจ #เทคนิคจัดการชั้นเรียน #เคล็ดลับดึงความสนใจเด็กนักเรียน