Knowledge
หากอยากแก้ไข ต้องเข้าใจสาเหตุที่มาของ “การรังแก”
4 years ago 8444ผู้เขียน: กนกวรรณ สุภาราญ ครูจากโครงการ Teach for Thailand
ภาพ: กชกร มั่นคงเจริญกิจ
ปัจจุบันปัญหาการรังแกกันในวัยเรียนถือเป็นสาเหตุที่ส่งผลต่อพฤติกรรมการเรียนของเด็กโดยตรง นอกเหนือจากคุณภาพของการศึกษา และความตั้งใจเรียน เมื่อเด็กประสบกับการรังแกรูปแบบใดก็ตาม สมาธิ และความรู้สึกในการเรียนของเด็กถูกเบี่ยงเบนความสนใจ ทำให้ประสิทธิภาพในการเรียนปรับลดลง ยิ่งเด็กถูกรังแกหรือถูกกระทำรุนแรงมากขึ้นเป็นระยะเวลาที่ต่อเนื่องยาวนาน ก็ยิ่งมีผลต่อระดับผลการเรียนของเด็กมากขึ้นเช่นเดียวกัน ส่งผลกระทบทั้งการเรียน และสุขภาพจิตของเด็กในการอยู่ร่วมกันในสังคม
“สาเหตุปัจจัยที่นำไปสู่พฤติกรรมการรังแก”
1. “จิตลักษณะของบุคคล” คือ ลักษณะสภาพจิตใจที่อยู่ภายในตัวบุคคลมีส่วนสำคัญในการหล่อหลอมทัศนคติเกี่ยวข้องกับการข่มเหงรังแกของเด็กและเยาวชน เช่น บุคลิกภาพ การแสดงออกทางอารมณ์ ปมด้อย ความภาคภูมิใจในตนเองต่ำ เป็นต้น รวมทั้งส่งผลต่อพฤติกรรมการรังแกทั้งสิ้น ได้แก่ ความภาคภูมิในในตนเอง ความเชื่อในอำนาจภายในตน ความตระหนักในตนเอง หมายความว่า บุคคลมองตนเองในด้านบวก รู้สึกถึงการมีคุณค่าในตนเอง เข้าใจ และยอมรับตนเอง รวมทั้งยอมรับความเห็นของผู้อื่นอย่างตรงไปตรงมา เชื่อว่าความสำเร็จจะเกิดขึ้นได้จากการกระทำหรือเกิดขึ้นได้ด้วยความสามารถของตนเอง มีความกระตือรือร้น พยายามปรับปรุง ปรับตัวได้ดี โดยที่มีความตระหนักในตนเอง เข้าใจตนเอง และสามารถประเมินสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับตนเองได้
ในทางกลับกันลักษณะทางจิตที่ว่าด้วย ความเชื่อภายนอกตน ซึ่งหมายถึง ความเชื่อเรื่องโชคชะตา ความสำเร็จอันเกิดจากผู้อื่นช่วยเหลือ มักเฉื่อยชา และไร้ความกระตือรือร้นในการพัฒนาตนเอง อีกทั้งความคับข้องใจ ที่ต้องเผชิญอุปสรรคที่คอยขัดขวางแต่หาทางเอาชนะอุปสรรคไม่ได้ จึงเกิดความขุ่นเคืองภายในใจ กลายเป็นพื้นฐานของการรังแก ความคับข้องใจจะพัฒนาเป็นการรังแกได้ ก็ต่อเมื่อสถานการณ์กระตุ้นหรือเอื้ออำนวยให้เกิดขึ้น ดังนั้นลักษณะทางจิตจึงเป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งต่อการเลือกกระทำพฤติกรรมการรังแกของบุคคล
2. “การอบรมเลี้ยงดูของครอบครัว” เนื่องจากครอบครัวคือส่วนสำคัญในการพัฒนาของช่วงวัยเด็ก การอบรมเลี้ยงดูที่ปล่อยปละละเลยจนเกินไป ส่งผลให้เด็กที่ถูกทอดทิ้ง หรือไม่ได้รับการเอาใจใส่เท่าที่ควร มีพฤติกรรมเรียกร้องความสนใจต่อสังคมในลักษณะต่างๆ ในทางกลับกัน เด็กถูกตามใจจนเกินไป ได้รับความรัก และการเอาใจใส่มากเกินไปก็กลายเป็นปัญหา ไม่ต่างจากเด็กที่ถูกทอดทิ้งที่กล่าวในข้างต้น ทั้งยังส่งผลต่อความต้องการตำแหน่งทางสังคมตามมา เพื่อให้ได้มาซึ่งความสนใจและความสำคัญของตน เช่น การวางอำนาจเหนือเพื่อน เป็นหัวหน้ากลุ่มคอยก่อกวนความสงบของผู้อื่น เป็นต้น รวมทั้งอิทธิพลของครอบครัว การแสดงพฤติกรรมระหว่างคนในครอบครัว โดยเฉพาะพ่อและแม่ หากครอบครัวขาดความอบอุ่น พ่อแม่ใช้ความรุนแรงต่อกัน กระบวนการคิด และการแสดงออกพฤติกรรมล้วนส่งผลต่อการแสดงออกของเด็กทั้งสิ้น เด็กเรียนรู้ และซึมซับความรุนแรง มีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม มีปัญหาด้านความประพฤติหรืออาจมีทัศนคติทางบวกต่อความรุนแรงตามมา
3. “เพศ” จากการศึกษาพบว่าพฤติกรรมการรังแกเกิดขึ้นกับทุกเพศ ซึ่งแตกต่างกันตามลักษณะรูปแบบของการรังแก โดยเพศชายมีอัตราการกระทำการรังแกสูงกว่าเพศหญิง เพศชายมีการกลั่นแกล้งรังแกกันทางร่างกายสูงกว่าการกลั่นแกล้งรังแกประเภทอื่นๆ ในขณะที่เพศหญิงมีการกลั่นแกล้งรังแกทางวาจาสูงที่สุดจากบรรดาลักษณะการกลั่นแกล้งรังแกทุกประเภท อีกทั้งยังพบว่า นักเรียนกลุ่มเพศทางเลือก 9 ใน 10 คนเคยประสบกับพฤติกรรมการรังแก ซึ่งส่วนใหญ่ที่พบจะเป็นการรังแกทางวาจา และมากกว่าครึ่งถูกรังแกทางร่างกาย
ส่วนในประเทศไทยพบว่า เด็กที่บอกว่าตัวเองเป็นเพศทางเลือก เคยถูกรังแก ทั้งทางร่างกาย และทางวาจา ทั้งต่อหน้า และทางโลกออนไลน์ประมาณร้อยละ 30.0 และมีเพียง 1 ใน 3 ที่จะโต้ตอบกลับ และเลือกที่จะไม่รายงานเหตุการณ์ที่ถูกรังแกให้ผู้อื่นทราบ เพราะมีความรู้สึกว่าไม่มีใครจะช่วยเหลือได้ อาจนำไปสู่ปัญหาการเรียน และสุขภาพจิตได้
4. “กลุ่มเพื่อน” กลุ่มเพื่อนเป็นกลุ่มที่มีความใกล้ชิด และมีอิทธิพลต่อตัวบุคคลอย่างมาก โดยเฉพาะช่วงวัยรุ่น ก่อให้เกิดการเรียนรู้ในการปรับตัวที่จะอยู่ร่วมกันในสังคมได้ภายใต้กฎเกณฑ์ที่กลุ่มได้สร้างขึ้น กลุ่มเพื่อนเปรียบเสมือนกลุ่มวัฒนธรรมย่อยของสังคมที่เปิดให้บุคคลได้เรียนรู้จะอยู่ร่วมกับผู้อื่นที่แตกต่างไปจากการอยู่ร่วมกันแบบครอบครัว และการคบเพื่อนจึงมีความสำคัญต่อตัวบุคคลในการพัฒนาบุคลิกภาพรวมทั้งพฤติกรรมต่างๆ นอกเหนือจากที่บุคคลได้เคยเรียนรู้จากครอบครัว หรือพ่อแม่ ก่อให้เกิดเปรียบเทียบ และค้นพบความต้องการของตนเองในบริบทที่เป็นอิสระมากขึ้นในกลุ่มเพื่อน
5. “สื่อ” ซึ่งนับว่ามีอิทธิพลต่อเด็ก และเยาวชนเป็นอย่างยิ่งในปัจจุบันที่ทุกคนสามารถเข้าถึงสื่อได้อย่างทั่วถึงรวดเร็ว และทุกเวลา ดังนั้นการเรียนรู้พฤติกรรมของเด็กจากสื่อไม่ว่าจะเป็นละคร ภาพยนตร์ และคลิปวิดีโอ จึงเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลาจากการได้รับและซึมซับข้อมูล ทัศนคติ แบบแผนของพฤติกรรมที่หลากหลายทั้งเป็นประโยชน์ และสุ่มเสียงเป็นอันตรายซึ่งส่งผ่านสู่เด็ก และเยาวชนด้วยช่องทางที่ใกล้ตัว และควบคุมได้ยาก ไม่ว่าจะมาจากสื่อช่องทางใดก็ตามล้วนส่งผลต่อการหล่อหลอมสร้างพฤติกรรมของเด็กทั้งทางตรงและทางอ้อม สื่อจึงจัดว่าเป็นปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่งที่กระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมการรังแกในกลุ่มเด็ก และเยาวชน
6. “สภาพแวดล้อมชุมชนที่อยู่อาศัย” สิ่งแวดล้อมที่เด็กใกล้ชิดล้วนมีอิทธิพลต่อการเรียนรู้ และเลียนแบบพฤติกรรมของผู้คนที่รายล้อมโดยไม่รู้ตัว เนื่องจากเป็นประสบการณ์ทางตรง และส่งผลต่อพัฒนาการของเด็กอย่างยิ่ง เช่น หากสิ่งแวดล้อมชุมชนที่รายรอบตัวเองเป็นชุมชนแออัด มีการเล่นพนัน พัวพันยาเสพติด และพบความรุนแรงของครอบครัวเป็นเรื่องปกติ เด็กก็จะมีพฤติกรรม และทัศนคติต่อการแสดงออกที่สอดคล้องกับแนวทางปฏิบัติที่พบเห็นจากชุมชนที่ตนเองอาศัยอยู่
สรุปได้ว่า จิตลักษณะของบุคคล การอบรมเลี้ยงดู เพศ กลุ่มเพื่อน สื่อ และชุมชนที่อยู่อาศัย ล้วนเป็นสาเหตุที่สัมพันธ์กับการเกิดพฤติกรรมรังแกของเด็กและเยาวชน ส่งผลต่ออารมณ์ ความเชื่อ ทัศนคติ และพฤติกรรม ซึ่งสามารถอธิบายสาเหตุพฤติกรรมได้จากทฤษฎีการปลูกฝัง ทฤษฎีแรงเสริม และทฤษฎีการเรียนรู้โดยสังเกต ลักษณะพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรงที่นำเสนอผ่านสื่อ ประสบการณ์ และสิ่งแวดล้อมกระตุ้นให้เด็กเกิดแรงจูงใจใช้ความรุนแรง ในขณะที่เยาวชนมีโอกาสเข้าถึงสื่อออนไลน์ต่างๆ ได้ง่าย และสะดวกกว่าเมื่อก่อน เด็กก็มีโอกาสที่สัมผัสกับพฤติกรรมความรุนแรงที่สูงขึ้น เนื่องจากข้อมูลบนอินเทอร์เน็ตควบคุมได้ยาก เยาวชนอาจจะได้รับข้อมูล และเลียนแบบจากวิดีโอ เกม ละครหรือหนังที่ใช้ความรุนแรงโดยไม่รู้ตัว นอกจากนี้ เยาวชนก็อาจเลียนแบบความรุนแรงจากพ่อแม่ บุคคลใกล้ตัวในครอบครัว ครู ดาราที่เยาวชนชื่นชอบได้ จนเกิดเป็นพฤติกรรมการรังแกผู้อื่น
ที่มา
เกษตรชัย และหีม และ อุทิศ สังขรัตน์. (2557). ปัจจัยในการพยากรณ์พฤติกรรมรังแกของนักเรียนโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามในจังหวัดสงขลา. วารสารพัฒนบริหารศาสตร์. 54(1). 229-237.
จุไรรัตน์ พงษ์ดัด. (2553). รูปแบบการรังแกกันและการจัดการปัญหาการรังแกกันของนักเรียนประถมศึกษาปีที่ 4-6 โรงเรียนเขตปริมณฑล. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (ประชาการศึกษา) บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล.
ศิวพร ปกป้อง, และ วิมลทิพย์ มุสิกพันธ์. (2553). ปัจจัยที่มีผลต่อทัศนคติและพฤติกรรมการกระทำความรุนแรงทั้งทางกายภาพ และการข่มเหงรังแกผ่านโลกไซเบอร์ของเยาวชนไทย. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยมหิดล.
Ttofi MM, Farrington DP. Risk and protective factors, longitudinal research, and bullying prevention. New directions for youth development. 2012; 133: 85-98.
Photo by Mitch Lensink on Unsplash