Knowledge

ความสุขที่ยืนยาว เมื่อเห็นคุณค่าในตนเอง

ความสุขที่ยืนยาว เมื่อเห็นคุณค่าในตนเอง

 4 years ago 3513

เรียบเรียง: สุรเชษฐ์ ตรรกโชติ Content Developer Cohort 2 Alumni Teach For Thailand
ภาพ: กชกร มั่นคงเจริญกิจ

          เมื่อเราได้มีโอกาสถามนักเรียนว่า เรามองเห็นภาพอนาคตของตัวเองเป็นแบบไหน และอยากใช้ชีวิตอย่างไรในอนาคต บ่อยครั้งที่เราอาจพบว่าเด็กนักเรียนส่วนใหญ่จะตอบไปในทิศทางที่ใกล้เคียงกันว่า อยากมีบ้านหลังใหญ่ หรือคอนโดในย่านการค้า ไปจนถึงการมีสิ่งอำนวยความสะดวกในชีวิตที่นอกจากจะมีประโยชน์แล้ว ยังต้องมีสไตล์ เช่นรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ดีๆ สักคัน ไปจนถึงภาพของอนาคตที่มีฐานะทางการเงินพอที่จะสามารถใช้จ่ายได้ตามที่ตนเองต้องการ
          ซึ่งมุมมองดังกล่าวอาจกล่าวได้ว่ามีส่วนมาจากการปลูกฝังค่านิยมของคนไทย ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่ครอบครัวของนักเรียนแต่ละคน หรืออาจรวมไปถึงครอบครัวของคุณผู้อ่านเอง ไม่ว่าจะเป็น คุณพ่อ คุณแม่ หรือผู้ใหญ่ในครอบครัวที่รับบทบาทของผู้ปกครอง จะบอกกับพวกเขาด้วยความปรารถนาดีว่า “หาเงินให้ได้เยอะๆ จะได้มีชีวิตที่สุขสบาย”
          สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ดีในมุมหนึ่งคือเป็นการสร้างเป้าหมายที่จะผลักดันให้เด็กนักเรียนมีแรงบันดาลใจในการทำสิ่งต่างๆ เพื่อให้ได้มาของเป้าหมายที่แต่ละคนได้ตั้งไว้ ไม่ว่าจะเป็นจำนวนตัวเลขในบัญชีธนาคาร ไปจนถึงการได้มาซึ่งหน้าที่การงานที่มีความมั่นคง แต่การปลูกฝังค่านิยมเหล่านี้โดยปราศจากการรับฟัง หรือชวนให้นักเรียนได้ตั้งคำถาม อาจจะมีราคาของมันที่สุดท้ายแล้วนักเรียนจะต้องเป็นคนจ่าย เมื่อไม่สามารถทำในสิ่งที่ตั้งใจไว้สำเร็จ หรือเมื่อวันหนึ่งที่นักเรียนตื่นมาตอนเช้าแล้วพบว่า เป้าหมายที่ตนมีนั้นเป็นสิ่งที่ตกทอดมาสู่ตัวเขา และไม่ได้รู้สึกเชื่อมต่อ ผูกพันธ์ หรือมองเห็นความสุขของตัวเองในเป้าหมายนั้นอีกต่อไป

          แม้ว่าคงจะเป็นการยากที่จะหาหลักเกณฑ์ใดหลักเกณฑ์หนึ่งมาตัดสินได้ว่าค่านิยมแบบไหนเป็นค่านิยมที่ดีหรือไม่ดีในบริบทของสังคมไทย เพราะแต่ละค่านิยมล้วนเกิดมาเพื่อตอบจุดประสงค์บางอย่างในยุคสมัยของมัน แต่หนึ่งในสิ่งที่เราสามารถทำได้คือการคิด ตั้งคำถาม และพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน ถึงสิ่งที่น่าจะนำมาซึ่งความสุข และความหมายของการมีชีวิตอยู่ เช่นการลองวางคำถามใหม่ที่เปิดกว้าง และชวนให้นักเรียนสะท้อนตัวตนของพวกเขาเองมากขึ้น เช่น
‘ปกติแล้วพวกเขามีความสุขไปกับการทำอะไร และงานอะไรที่ถ้าได้ทำ จะรู้สึกว่ามันมีความหมายกับเรามาก ๆ ’ โดยไอเดียหรือคำตอบที่ผ่านการสะท้อนไปมาจากบทสนทนาดังกล่าว นำมาเขียนเป็นเป้าหมายในอนาคตของนักเรียนแต่ละคนได้ โดยวางไว้ให้เป็นหนึ่งในความเป็นไปได้ของอนาคต ที่ยังคงเปิดกว้างอยู่สำหรับนักเรียนแต่ละคน และเมื่อได้สะท้อนตัวเองมากขึ้นต่อไปแล้ว ก็สามารถกลับมาพิจารณาแผนนี้ใหม่ได้เสมอว่ามันยังคงตอบโจทย์ และพาเราไปในทิศทางที่เรากำลังรู้สึกอยากไปอยู่จริงๆ หรือเปล่า
          สิ่งที่เกิดขึ้นคือนักเรียนจะเริ่มมองเห็นจุดเชื่อมโยงระหว่างสิ่งที่พวกเขารักที่จะทำ และโอกาสในการสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมต่อไปผ่านการทำสิ่งเหล่านั้น และทำสิ่งเหล่านั้นออกมาให้ได้ดี โดยจะนำไปสู่การพัฒนาทักษะ และชุดความคิดของนักเรียนแต่ละคนที่จะสอดคล้องภาพของอนาคตที่พวกเขาอยากเห็น และรู้สึกไปกับมัน ความพยายามในการทำสิ่งเหล่านี้ จะถูกขับเคลื่อนด้วยความสุขมากกว่าความทุกข์ ซึ่งจะนำมาสู่การพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อทำในสิ่งที่ผูกโยงกับคุณค่า และความหมายในชีวิตของพวกเขา ไม่ว่าพวกเขาจะเผชิญกับอุปสรรคหรือความท้าทายใดๆ ที่กำลังรอพวกเขาอยู่ในอนาคต ถ้าเป้าหมายที่นักเรียนกำลังไปถูกกลั่นออกมาจากการสะท้อนตัวเอง และพวกเขารู้สึกอย่างลึกซึ้งว่ามันเป็นเส้นทางที่มีคุณค่า พวกเขาล้วนมีศักยภาพพอที่จะก้าวผ่าน หรือแม้แต่เห็นความสวยงามของการถอดบทเรียนจากแต่ละอุปสรรคได้ ซึ่งความไม่หยุดที่จะเรียนรู้ และก้าวต่อไปนั้นย่อมจะนำมาซึ่งโอกาสที่มากขึ้นในการมีรายได้ที่มั่นคงขึ้น รวมถึงการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นด้วย ในวันหนึ่งที่พวกเขาก้าวออกจากรั้วโรงเรียน เข้าสู่รั้วของมหาวิทยาลัย หรือโลกของตลาดแรงงาน (ซึ่งนับวันโลกทั้งสามใบก็ดูจะเริ่มทับซ้อนกันมากขึ้นด้วย) พวกเขาจะเป็นผู้ใหญ่ที่ก้าวต่อไปในชีวิตด้วยรอยยิ้ม และแววตาของคนที่รู้ว่าตัวเองกำลังใช้ชีวิตอยู่ไปเพื่ออะไร หรือเพื่อใคร ซึ่งเป็นพลังงานบวกที่สามารถส่งต่อให้กับผู้คนรอบข้างของพวกเขา และเป็นเรื่องราวที่มีชีวิตที่สามารถเล่าต่อ หรือใช้เป็นกรณีศึกษาให้กับสังคม และคนรุ่นต่อไปได้

          นักเรียน และทรัพยากรมนุษย์ที่ได้ผ่านการศึกษาที่ชวนให้พวกเขาได้สะท้อนถึงคุณค่าในตัวของพวกเขาเอง โดยไม่เร่งรีบเกินไปที่จะบอกว่าคุณค่าเหล่านั้นคืออะไร จะมีส่วนช่วยในการผูกขาดทางความคิด และนิยามของคำว่าความสำเร็จ รวมถึงค่านิยมที่เร่งรีบตัดสินคุณค่าแต่เพียงเปลือกนอก ซึ่งกระทบถึงการลดค่านิยมในการสร้างหนี้สินเพื่อการรักษาภาพลักษณ์ทางสังคม เช่นการซื้อเครื่องประดับ หรือสิ่งของที่ลึกๆแล้วตนเองอาจจะไม่ได้อยากได้ หรือให้คุณค่ากับมันเท่ากับจำนวนเงินที่กำลังจ่ายไป อย่างไรก็ตาม ความสุขก็ยังคงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในความพึงพอใจอันเป็นส่วนตัวของแต่ละคน และหากเรามองว่าค่านิยมคือแรงขับเคลื่อนของชีวิต ห้องเรียนที่น่าสนใจ และมีความหมายมากขึ้น อาจะเป็นห้องเรียนที่ทุกคนล้วนมองหาแรงขับเคลื่อนของกันและกัน ที่ได้รับเชื้อเพลิงมาจากพลังงานแห่งความสุข ความหวัง ความตั้งใจ ความภาคภูมิใจ เพราะถ้าห้องเรียนเป็นภาพจำลองของสังคม สังคมที่ถูกขับเคลื่อนไปข้างหน้าด้วยพลังงานดังกล่าวคงจะเป็นสังคมที่การลืมตาตื่นขึ้นมาในทุกๆ เช้าของคนทุกคนมีความหมายมากขึ้น และมีความสุขที่เฝ้ารอพวกเขาอยู่มากขึ้น

แหล่งอ้างอิง
(1) 5+ Ways to Develop Growth Mindset Using Grit and Resilience by Kori D. Miller, May 20, 2020, retrieved on August 21, 2020 from https://bit.ly/3j1FNGG

(2) ค่านิยมสังคม ค่านิยมสร้างหนี้, December 16,2020, retrieved on August 21, 2020 from https://moneyhub.in.th/article/how-to-be-poor-8/


TAG: #จิตวิทยาการปรึกษา #จิตวิทยาแนะแนว #สุขภาพจิตและกาย