Knowledge

จุดประกายให้ห้องเรียนเป็นห้องที่ ‘ใช่’ กับทุกคน ผ่านการเปิดใจรับฟังเสียงของนักเรียน

จุดประกายให้ห้องเรียนเป็นห้องที่ ‘ใช่’ กับทุกคน ผ่านการเปิดใจรับฟังเสียงของนักเรียน

 3 years ago 3616

ผู้เขียน: ครูฐาปนีย์ ดวงฉายจรัสไชย ครูจากโครงการ Teach for Thailand
ภาพ: กชกร มั่นคงเจริญกิจ

          เคยมั้ย ที่คุณครูรู้สึกว่าอยากให้ผู้บริหารรู้ถึงความคิดเห็นของตนเองต่อกิจกรรม หรือการดำเนินงานต่างๆ ภายในโรงเรียน แต่ว่ามันก็เป็นเรื่องที่ท้าทายจริงๆ ที่คุณครูจะพูดสื่อสารความคิดเห็นเหล่านั้นอย่างตรงไปตรงมา ทั้งที่จริงๆ แล้ว ทุกความเห็นของคุณครูล้วนมาจากความต้องการเห็นนักเรียน และโรงเรียนพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น และความคิดเห็นเหล่านั้นล้วนมาจากผู้ที่อยู่ในระบบ และประสบพบเจอกับเหตุการณ์ต่างๆ ในห้องเรียน และโรงเรียนจริงๆ
          ซึ่งหากคุณครูทุกคนสามารถสื่อสารความคิดเห็น หรือความต้องการต่างๆ ไปถึงผู้บริหารได้นั้น และผู้บริหารรับฟังทุกความคิดเห็น และความต้องการอย่างตั้งใจ และนำไปปรับใช้ นักเรียน และโรงเรียนน่าจะสามารถพัฒนาไปได้มากยิ่งขึ้น ในทิศทางที่เหมาะสมกับบริบทของโรงเรียนแห่งนั้น

          ทั้งหมดนี้ที่เกิดขึ้นกับคุณครู ก็คงกำลังเกิดขึ้นกับนักเรียนในห้องเรียนที่คุณครูกำลังสอนอยู่เช่นเดียวกัน นักเรียนทุกคนมีเสียงอยู่ในใจของพวกเขาอย่างแน่นอน ที่สะท้อนถึงสิ่งที่คุณครูสอน วิธีการสอนของคุณครู กิจกรรมในห้องเรียน การปฏิบัติของคุณครูต่อนักเรียน และสิ่งอื่นๆ ที่เกิดขึ้นในห้องเรียน ซึ่งถ้าเสียงสะท้อนเหล่านี้ที่อยู่ในใจของนักเรียน ได้ถูกรับฟังโดยคุณครู มันจะส่งผลกระทบเชิงบวกต่อห้องเรียนได้มากขนาดไหนกันเชียว เหมือนกับที่คุณครูรู้สึกว่า ถ้าเสียงของเราส่งไปถึงผู้บริหาร นักเรียนและโรงเรียนจะเดินหน้าไปได้ดียิ่งขึ้นขนาดไหนเชียว

โดยหลักการสำคัญในการฟังเสียงของนักเรียน เริ่มต้นจาก
(1) ประเด็นหรือปัญหาที่เกิดขึ้นในห้องเรียนคืออะไร แล้วให้คุณครูตั้งคำถามจากประเด็นหรือปัญหานั้นๆ เพื่อให้นักเรียนตอบคำถาม
(2) นำคำตอบของนักเรียนมาอ่าน ทำความเข้าใจอย่างตั้งใจ และเปิดใจรับฟังจริงๆ
(3) คุณครูต้องพูดถึงสิ่งที่ได้จากคำตอบของนักเรียนอยู่เสมอ เพื่อให้นักเรียนรู้สึกว่าเสียงของพวกเขานั้นมีความหมายจริงๆ คุณครูรับฟังพวกเขาอยู่จริงๆ
(4) ลงมือทำ และปรับตามสิ่งที่ได้จากนักเรียนมา และคอยฟังเสียงของนักเรียนที่สะท้อนกลับมาอยู่เสมอ

          เมื่อคุณครูทำอย่างสม่ำสมอ และทำให้นักเรียนเห็นอย่างชัดเจนเป็นรูปธรรม จะทำให้ผลลัพธ์ที่คุณครูเห็นได้จากนักเรียนและสิ่งที่เกิดขึ้นในห้องเรียน ดีขึ้นเรื่อยๆ และเป็นห้องเรียนที่ ‘ใช่’ ขึ้นเป็นอย่างมากสำหรับนักเรียนทุกคนในห้องเรียนนั้นๆ

          ยิ่งไปกว่านั้น หากคุณครูอยากทำให้ผลลัพธ์มีความยั่งยืนมากขึ้น แม้ว่าคุณครูจะไม่ใช่คนที่สอนหรือดูแลนักเรียนห้องนั้นๆ แล้วก็ตาม คุณครูสามารถที่จะชักชวน และร่วมมือกันกับคุณครูที่สอนหรือดูแลนักเรียนกลุ่มเดียวกับคุณอยู่แม้ในปีการศึกษาต่อๆ ไป ในการเก็บข้อมูล และส่งต่อข้อมูลดังกล่าวไปให้คุณครูท่านอื่น หรือ ท่านถัดไป การทำแบบนี้ อาจจะเปลี่ยนแปลงนักเรียนของคุณครูไปในทางที่คุณไม่เคยคาดคิดมาก่อนก็เป็นได้

อ้างอิง:
Making Student Feedback Work. (n.d.). Retrieved March 3, 2020, from https://www.gse.harvard.edu/news/uk/17/11/making-student-feedback-work

Person. (2016, June 14). Improving Teaching With Expert Feedback-From Students. Retrieved March 3, 2020, from https://www.edutopia.org/practice/student-surveys-using-student-voice-improve-teaching-and-learning

5 Reasons You Should Seek Your OWN Student Feedback. (2019, November 10). Retrieved March 3, 2020, from https://www.cultofpedagogy.com/student-feedback


TAG: #ทักษะการฟัง #จิตวิทยาแนะแนว #จิตวิทยาการเรียนรู้ #สุขภาพจิตและกาย #การจัดการชั้นเรียน