Knowledge

ปรับวิธีสื่อสาร สู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมวัยรุ่น

ปรับวิธีสื่อสาร สู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมวัยรุ่น

 4 years ago 12907

ผู้เขียน: นางสาวกนกวรรณ สุภาราญ ครูจากโครงการ Teach for Thailand
ภาพ: กชกร มั่นคงเจริญกิจ

           วัยรุ่นถือเป็นช่วงวัยเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นความเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย อารมณ์และความรู้สึก รวมทั้งความสัมพันธ์กับคนรอบตัวก็ต่างออกไปจากวัยเด็กเป็นอย่างมาก วัยรุ่นบางส่วนมีแนวโน้มที่จะมีพฤติกรรมสุ่มเสี่ยงอันเกิดจากการสะสมประสบการณ์ และเลียนแบบจากตัวอย่างที่ไม่เหมาะสม ส่งผลให้เกิดปัญหาต่อตนเองทั้งทางด้านการเรียน ความสัมพันธ์กับครอบครัวและคนรอบข้างตามมามากมาย

           การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่สุ่มเสี่ยงของวัยรุ่นนั้น ต้องอาศัยความเข้าใจถึงความเปราะบางทางจิตใจ และอารมณ์ซึ่งเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายและฮอร์โมน รวมทั้งมุมมองของวัยรุ่นที่มีต่อปัญหาซึ่งอาจส่งผลต่ออนาคตของตนเองในเบื้องต้นก่อน การใช้วิธีการรุนแรงหรือการลงโทษไม่อาจแก้ไขปัญหาพฤติกรรมสุ่มเสี่ยงของวัยรุ่นที่ต้นเหตุได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากวิธีการที่รุนแรงจะทำให้วัยรุ่นหยุดหรือลดการกระทำสุ่มเสี่ยงเพียงชั่วคราวเท่านั้น แต่ภายในจิตใจอาจเกิดความรู้สึกต่อต้าน และพยายามหลีกเลี่ยงวิธีการรุนแรงมากกว่าจะแก้ไขปัญหาทางพฤติกรรมที่แท้จริง

“การสื่อสารกับปรับพฤติกรรมสุ่มเสี่ยงในวัยรุ่น”
           หากจะกล่าวถึงการสื่อสารเพื่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของวัยรุ่น การใช้ภาษา ท่าทาง รวมทั้งสิ่งแวดล้อมบรรยากาศของการสื่อสารประเด็นปัญหาของวัยรุ่นกับวัยรุ่นนั้นล้วนคำนึงถึงความละเอียดอ่อน และความเข้าอกเข้าใจ วิธีการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพและได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในการปรับพฤติกรรม คือ การสื่อสารเชิงบวก การสื่อสารด้วยคำพูด ข้อความ การแสดงออกและกิจกรรมที่สร้างสรรค์ รูปแบบการสื่อสารจะดำเนินการด้วยความรู้สึกผ่อนคลาย เพื่อร่วมค้นสาเหตุของปัญหาที่ต้องเผชิญอย่างเป็นกลาง ผ่านการรับฟัง การตั้งคำถามสะท้อนความคิดความรู้สึกให้เกิดการวิเคราะห์ไตร่ตรองด้วยตนเอง และพยายามหลีกเลี่ยงการใช้ภาษาในเชิงตำหนิรวมทั้งไม่นำความคิดเห็นหรือมุมมองของตนเองไปตีกรอบคำตอบหรือตัดสินพฤติกรรมก่อนที่จะได้รับคำตอบจากตัววัยรุ่นเอง

“เทคนิคการสื่อสารเชิงบวกเพื่อการปรับพฤติกรรม”
           ประการแรก การทักทาย ด้วยท่าทีและการแสดงออกที่เป็นมิตรใช้ภาษากาย สีหน้า แววตา ท่าทาง สื่อให้วัยรุ่นรู้สึกได้ดีกว่าคำพูด ทำให้เกิดความเป็นกันเอง อยากเข้าใจ อยากช่วยเหลือ ไม่ตัดสินความผิด การสร้างบรรยากาศที่เป็นกันเองอาจเริ่มด้วยการถามเรื่องง่ายๆ โดยพยายามเรียกชื่อของวัยรุ่นมากกว่าการใช้สรรพนาม โดยก่อนการสื่อสารหรือการสนทนา ครู ผู้ปกครองควรตระหนักถึงข้อดีจุดเด่นด้านบวกของวัยรุ่น เนื่องจากสามารถหยิบยกมาใช้เป็นจุดเริ่มต้นได้
           ประการที่สอง การสำรวจลงไปในปัญหา โดยใช้เทคนิคการถามเพื่อสำรวจลงลึกถึงความรู้ความเข้าใจในประเด็นปัญหาที่วัยรุ่นกำลังเผชิญ สร้างทัศนคติให้วัยรุ่นรู้สึกว่า “ผู้ใหญ่สนใจและฟัง” ในขณะเดียวกันจะต้องให้ความเชื่อมั่นเรื่องการรักษาความลับเป็นสำคัญ โดยระหว่างนั้นควรสังเกตท่าที ระดับความร่วมมือและการเปิดเผยข้อมูลเพื่อประเมินความไว้วางใจที่วัยรุ่นมีให้มากน้อยเพียงไร รวมทั้งมีเรื่องใดที่ยังกังวลหรือลังเลที่จะเปิดเผย
           ประการที่สาม กระตุ้นให้บอกเล่าและถามสะท้อนความคิด ความรู้สึก ความต้องการ ผู้ใหญ่ควรฝึกให้วัยรุ่นมีทักษะการสื่อสาร กล้าพูด กล้าบอกความคิด ความรู้สึกและความต้องการ โดยเข้าใจและยอมรับว่าการบอกเรื่องเหล่านี้กับเพื่อนและคนอื่นๆ ได้เป็นเรื่องปกติ การกระตุ้นให้เล่าเรื่องราว ทำได้โดยใช้ชุดคำถามที่จูงใจ ตามปัญหาหรือเรื่องราวที่เกิดขึ้น ลองสำรวจในเรื่องอื่นๆ เช่นเรื่องความสัมพันธ์ของพ่อแม่ ความสัมพันธ์กับน้อง หรือญาติคนอื่นๆ
           ประการที่สี่ การฟังอย่างตั้งใจและคิดวิเคราะห์ไปด้วย ครูและผู้ปกครองสนใจฟังอย่างให้เกียรติความคิดวัยรุ่นโดยไม่ตีกรอบหรือตัดสิน ระวังทัศนคติของตนเองที่อาจไม่ชอบพฤติกรรมนั้น จนทำให้รีบตักเตือนสั่งสอนเร็วเกินไปเพราะอาจทำให้วัยรุ่นหยุดการสนทนาหรือเปิดเผยเรื่องราวได้ การพยายามเข้าใจ จดจำรายละเอียดข้อมูลต่างๆ ได้ ทำให้วัยรุ่นรู้สึกว่าผู้ใหญ่สนใจและพยายามเข้าใจความคิดความรู้สึกของเขาจริงๆ ก่อให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดี มีความรู้สึกเป็นพวกเดียวกันมากขึ้น ซึ่งช่วยจูงใจให้วัยรุ่นเปิดเผยและเปลี่ยนพฤติกรรมได้ง่ายขึ้นอีกด้วย เมื่อใดที่เกิดข้อสงสัยให้สอบถาม ถามความคิดหรือความรู้สึกเกี่ยวกับเรื่องที่คุยกันเป็นระยะๆ อย่างเป็นมิตรเพื่อให้วัยรุ่นขยายความต่อ ซึ่งจะช่วยให้เข้าใจสาเหตุของพฤติกรรมวัยรุ่นว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร ข้อควรระวังของการตั้งคำถาม คือ ควรหลีกเลี่ยงการใช้คำถามที่ขึ้นต้นว่า “ทำไม” เวลาวัยรุ่นกล่าวถึงพฤติกรรมบางอย่างไม่ดี เพราะทำให้วัยรุ่นรู้สึกถูกตำหนิ และอาจพยายามหาเหตุผลเข้าข้างตนเองมากขึ้น ซึ่งอาจนำมาซึ่งการสูญเสียความสัมพันธ์ได้ง่าย
           ประการที่ห้า เทคนิคของการชมเชย การตำหนิวัยรุ่นอย่างรุนแรงก่อให้เกิดการต่อต้าน ซึ่งเกิดขึ้นโดยกลไกปกป้องตนเองทางจิตใจ และเมื่อความสัมพันธ์เริ่มต้นด้วยการไม่ยอมรับ ไม่สนใจฟัง ไม่เชื่อ ไม่เห็นด้วย แม้ว่าเรื่องที่ครู ผู้ปกครองพูดจะเป็นเรื่องจริงก็ตาม วิธีการที่ทำให้วัยรุ่นยอมรับ และไม่เสียความรู้สึกด้านดีของตนเอง ทำได้ด้วยการตำหนิที่ พฤติกรรม แทนการตำหนิที่ตัววัยรุ่น เมื่อเกิดพฤติกรรมไม่ดี ครูควรมีเทคนิคในการตักเตือนให้นักเรียนค่อยๆ คิด และยอมรับด้วยตัวเองเป็นการส่วนตัว โดยไม่สร้างความรู้สึกอับอายเสียหน้า เพื่อเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ในทางกลับกัน เมื่อเกิดพฤติกรรมดี ถ้ามีโอกาสควรชมต่อหน้าผู้อื่นหรือให้ผู้อื่นร่วมชื่นชมด้วย เพื่อสร้างความภาคภูมิใจและเสริมให้เด็กรู้สึกดีและชื่นชมตัวเอง เทคนิคการประคับประคองอารมณ์และจิตใจ วัยรุ่นจะรู้สึกดีขึ้นเมื่อเกิดความหวังด้านบวก ความเข้าใจที่ดีขึ้น การได้ระบายความรู้สึก ได้รับการช่วยเหลือและมองเห็นความหวังในการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น ก่อนจะจบการพูดคุย ครู ผู้ปกครองควรแสดงความคาดหวังด้านบวกที่มีต่อวัยรุ่น มองเขาในแง่ดี และให้โอกาสเขาได้ใช้เวลาคิด ไตร่ตรองพฤติกรรมด้วยตัวเอง
           ในระยะสุดท้าย สรุปและยุติการสนทนา ในช่วงท้ายของการสื่อสารนั้น ควรมีการสรุปสิ่งที่ได้คุยกัน โดยให้วัยรุ่นสรุปด้วยตนเองก่อน อีกทั้งตอบคำถามที่วัยรุ่นอาจจะมีข้อสงสัย วางแผนอนาคต หรือทำการนัดหมายครั้งต่อไป การยุติการสนทนาที่ดีจะช่วยให้วัยรุ่นเกิดความหวังในการเปลี่ยนแปลงตนเองให้ดียิ่งขึ้น

           เมื่อความสัมพันธ์ระหว่างครู ผู้ปกครองกับวัยรุ่นดีขึ้น โดยสังเกตจากท่าทีที่เริ่มยอมรับ และยอมฟังมากขึ้นนั้น การสื่อสารสิ่งที่คิด รู้สึก และต้องการอย่างนุ่มนวลแต่ชัดเจน ใช้วิธีการสื่อสารทางบวกซึ่งเป็นเทคนิคที่สร้างสรรค์ และมีประสิทธิภาพสำหรับการให้คำแนะนำ และสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับวัยรุ่น ให้เกิดกำลังใจ ให้เกิดความหวังในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้เหมาะสมและดียิ่งขึ้น

ที่มา:
นายแพทย์พนม เกตุมาน. กระบวนทัศน์ใหม่เพื่อพัฒนาศักยภาพเด็กไทยในทศวรรษหน้า: การสื่อสารทางบวกกับวัยรุ่น . อ้างอิงจาก http://www.smpkhos.go.th/news/P64041990.pdf


TAG: #จิตวิทยาแนะแนว #จิตวิทยาการเรียนรู้ #สุขภาพจิตและกาย #การสื่อสาร #การสื่อสารเชิงบวก