Knowledge

ดาบสองคมของรักในวัยเรียน

ดาบสองคมของรักในวัยเรียน

 3 years ago 6082

แปลและเรียบเรียง: สุรศักดิ์ แซ่ลิ้ม

          ใกล้จะถึงเทศกาลวันวาเลนไทน์แล้ว บรรยากาศแห่งความรักคงหอมตลบอบอวลไปหมด เชื่อว่าเมื่อย้อนไปในสมัยวัยเรียนแล้ว บางท่านอาจมีประสบการณ์ความรักกุ๊กกิ๊กกันในโรงเรียนบ้าง วันนี้เรามาดูกันว่าความรักในวัยเรียนส่งผลกระทบอะไรกับนักเรียนบ้างผ่านงานวิจัยที่น่าสนใจ
          เริ่มกันด้วยงานวิจัยของประเทศเพื่อนบ้านอย่างประเทศกัมพูชา The University of Cambodia ได้ศึกษาเกี่ยวกับมุมมองของนักศึกษากัมพูชาเกี่ยวกับผลกระทบของความรักในวัยเรียนต่อประสิทธิภาพทางวิชาการ พบว่า 35% ของผู้เข้าสำรวจบอกว่านักเรียน “ไม่ควรมีความรัก” ในวัยเรียนแต่ 30% ของผู้เข้าสำรวจบอกว่านักเรียน “ควรมีความรัก” ซึ่งแสดงให้เห็นว่าความคิดของการมีความรักในวัยเรียนไม่ได้เป็นไปในทางเดียวกันเสียทีเดียว ส่วนผลกระทบของความรักในวัยเรียนก็ส่งผลกระทบทั้งเชิงลบ และเชิงบวก ผู้เข้าสำรวจได้ให้ผลว่าการมีความรักในวัยเรียนช่วยลดระดับความเครียด แต่ในขณะเดียวกัน เมื่อผู้เข้าสำรวจเกิดมีปากเสียงกับแฟนของตนเอง ก็ทำให้ผู้เข้าสำรวจไม่อยากอ่านหนังสือ เป็นต้น
          ต่อมาเรามาดูงานวิจัยชิ้นต่อไปที่จัดทำโดย Islamic University in Uganda กัน งานวิจัยชิ้นนี้ศึกษาเกี่ยวกับผลกระทบของความรักในวัยเรียนต่อประสิทธิภาพในการเรียนของนักศึกษาระดับปริญญาตรี ผู้เข้าสำรวจคือนักศึกษาระดับปริญญาตรีจำนวน 65 คน พบว่า 43% ของผู้เข้าสำรวจมองว่าการมีความรักในวัยเรียนไม่ได้ช่วยให้ตั้งใจเรียนมากขึ้น แต่ 29.2% มองว่าช่วยให้มีความมั่นใจมากขึ้น และ 32.3% มองว่าช่วยให้ตัวเองพัฒนามากขึ้นในด้านต่าง ๆ
          งานวิจัยสุดท้ายมาจาก Sikkim Manipal University ของประเทศอินเดีย งานวิจัยชิ้นนี้ศึกษาเกี่ยวกับผลกระทบของสถานะความสัมพันธ์ต่อประสิทธิภาพทางการเรียนของนักเรียน 300 คนใน College of Gangtok โดยผู้เข้าสำรวจแบ่งเป็น 50% มีแฟนแล้วกับ 50% ยังไม่มีแฟน ผลสำรวจพบว่า 54.6% ของนักเรียนที่กำลังมีความสัมพันธ์มีแรงกระตุ้นในการเรียนระดับกลาง และมีถึง 78% ที่สามารถจัดการเวลาระหว่างเรื่องรักกับเรื่องเรียนได้อย่างเหมาะสม แต่นักเรียนที่กำลังมีความสัมพันธ์ถึง 39.3% ได้ผลการเรียนเพียง 50 - 60% ของคะแนนเต็มจากการสอบ ข้อมูลแสดงให้เห็นว่าความสัมพันธ์ในวัยเรียนช่วยให้เกิดแรงกระตุ้นในการเรียน แต่แทบจะไม่ได้ส่งผลให้ผลการเรียนดีขึ้นเลย
          จากงานวิจัยทั้งสามชิ้นที่ยกมาข้างต้น แสดงให้เห็นว่าความรักในวัยเรียนส่งทั้งผลดี และผลเสียต่อประสิทธิภาพในการเรียน ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับนักเรียนจะจัดการเวลาให้เหมาะสมระหว่างเรื่องรัก และเรื่องเรียน สิ่งสำคัญที่สุดคือความรับผิดชอบต่อตนเองในเรื่องการเรียนเพื่อไม่ให้ความรักดึงให้การเรียนเสีย ถ้ามีแฟนที่ช่วยกันเรียน ช่วยกันติว ช่วยกันศึกษาหาความรู้ ความรักในวัยเรียนก็คงเปรียบเสมือนดาบคู่อันแหลมคมที่จะช่วยฝ่าฝันอุปสรรคในการเรียนให้พ้นไปจงได้ แต่อย่างไรก็ดี ถ้าจัดการชีวิตของตัวเองได้ไม่ดีพอ ความรักในวัยเรียนก็อาจเป็นดาบชั้นดีที่คอยขัดขวางไม่ให้เราประสบความสำเร็จ แถมแทงอกให้เจ็บช้ำระกำทรวงเสียเอง

อ้างอิง
1 University of Cambodia. (2018). Cambodia University Students’ Perspectives on the Effects of Having a Romantic Relationship on Academic Performance, สืบค้นเมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2564. จาก https://uc.edu.kh/userfiles/image/2018/Cambodian_University_Students%E2%80%99_Perspectives.pdf

2 Islamic University in Uganda. (2020). Effect of Romantic Relationship on Undergraduate Students’ Academic Performance: A Case Study of Islamic University in Uganda, สืบค้นเมื่อ 9 กุมภาพันธ์ 2564 จาก https://www.iuiu.ac.ug/journaladmin/iumj/ArticleFiles/8797.pdf

3 International Journal of Current Research. (2018). Influence of Relationship Status on the Academic Performance of Students from Selected College of Gangtok, Sikkim, สืบค้นเมื่อ 9 กุมภาพันธ์ 2564 จาก http://journalcra.com/sites/default/files/issue-pdf/32868.pdf


TAG: #สุขภาพจิตและกาย #จิตวิทยาแนะแนว #รักในวัยเรียน #งานวิจัย